นางสาวภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม.เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ความเดือดร้อนจากการเวนคืนที่ดินของชาววิภาวดีฯ ซอย 5 ที่ยาวนานกว่า 12 ปีต้องได้รับการแก้ไข!
วันนี้พวกเราขอขอบคุณคุณยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ที่รับฟังเสียงความเดือดร้อนของประชาชน หลังจากที่พวกเราได้ประสานขอเข้าพบเพื่อชี้แจงข้อมูลความไม่เหมาะสมในการนำหมอชิตใหม่กลับมายังที่เก่า ที่นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนจากปัญหาการจราจร และไม่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะบางซื่อ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาอาชญากรรมทางมลพิษต่อไปในอนาคต
ด้าน นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้แทนประชาชนที่อาศัยในชุมชนหลังสถานีขนส่งหมอชิต (เดิม) โดยรับปากว่า จะไม่มีการเวนคืนที่ดินในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร ตามที่มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินเวนคืนจากการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 กลับมาใช้พื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต (เดิม) ซึ่งทำให้ประชาชนคลายกังวล
สำหรับพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งครม.มีมติให้กรมการขนส่งทางบกส่งคืนให้กรมธนารักษ์มาพัฒนาจัดหาประโยชน์เนื้อที่ 63-2-65 ไร่ ซึ่งได้ทำสัญญากับบางกอกเทอร์มินอล จำกัด (BKT) ก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในปี 2539 หลังจากที่ BKT ชนะการประมูล เสนอค่าธรรมเนียมการจัดประโยชน์ 550 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารสถานีขนส่ง พื้นที่พาณิชย์ และ ที่จอดรถ
สัญญาดังกล่าวหยุดชะงักชั่วคราว เมื่อปี 2544 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต (เดิม) ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลผูกพันในแง่สัญญาต่อกัน โดยกรมธนารักษ์ ต้องดำเนินโครงการดังกล่าวใหม่ตามขั้นตอนของพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ
ต่อมาในปี 2556 ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยสถานะของสัญญาว่า เมื่อยังไม่บอกเลิกสัญญา BKT และกรมธนารักษ์ยังคงต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อไป
จากการประชุมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระหว่างกรมธนารักษ์กับกรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กรุงเทพมหานคร(กทม.) พร้อมร่วมแก้ปัญหา โดยบริษัท BKT ยินดีลดพื้นที่ก่อสร้างลงจากสัญญาเดิมเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน จึงจะเร่งทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากนั้นจะลงนามในสัญญากับกรมธนารักษ์ใหม่ แล้วกรมธนารักษ์จะทำหนังสือถึง กทม.ให้ยกเลิกการเวนคืน