นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด และอดีตประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุกส่วนตัว หัวข้อ : รถไฟฟ้าสายสีส้ม : เอกชนซื้อซอง TOR แล้ว ภาครัฐเปลี่ยนเงื่อนไขใน TOR ได้ด้วยหรือ ? โดยมีใจความสำคัญดังนี้ ....
1. TOR คืออะไร
TOR (Term of Reference) คือข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง ที่บอกขอบเขตของงานให้ชัดเจน บอกระยะเวลาที่ต้องการ คุณสมบัติของผู้เสนอราคา ซึ่งผู้ซื้อหรือผู้ว่าจ้างต้องการให้ทำงานตามขอบเขตดังกล่าว ... ปฎิบัติงานตามสัญญาแล้วผู้รับจ้างจะได้อะไร ทำผิดสัญญาจะถูกปรับอย่างไร
และที่สำคัญคือผู้ว่าจ้างจะเปิดซองที่ผู้รับจ้างต่างๆ เสนอเงื่อนไขมาตาม TOR อย่างไร เมื่อใด รวมไปถึงกติกาสำคัญได้แก่การกำหนดลำดับการพิจารณาว่าจะคัดเลือกผู้ชนะอย่างไร
นอกจากนี้ เมื่อได้ตัวผู้ชนะแล้ว TOR ก็จะเป็นเป็นเอกสารอ้างอิงที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างด้วย
กรณีรถไฟสายสีส้มนี้ เอกชนที่อยากจะได้งานก็ต้องไปซื้อ TOR เพื่อนำมาพิจารณาดูว่าตัวเขานั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนไหม ทำตาม TOR ได้ไหม รวมถึงพิจารณาว่าเงื่อนไขต่างๆ ใน TOR มันคุ้มค่าแก่การเสนอตัวเข้าประกวดหรือไม่ ดังนั้น TOR จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ผู้รับจ้างได้ศึกษาดูก่อนว่างานตามประกาศสามารถทำได้
2. รถไฟฟ้าสายสีส้ม คือเส้นทางไหน
สายสีส้มคือเส้นทางเดินรถไฟฟ้าเชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี กับฝั่งพระนคร เข้าด้วยกัน จากย่านบางขุนนนท์ ฝั่งธนบุรี ผ่าน รพ.ศิริราช ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ข้ามเข้าสู่ฝั่งพระนครโดยผ่านเขตเมืองเก่าเกาะรัตนโกสินทร์ จากนั้นไปทางตะวันออกผ่านย่านประตูน้ำ เข้าย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง (หัวหมาก-บางกะปิ) จนไปสุดสายที่ ถ.สุวินทวงศ์ย่านมีนบุรี รวมระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นเส้นทางอุโมงค์ลอดใต้ดิน 27 กิโลเมตร และยกระดับลอยฟ้าอีก 8.9 กิโลเมตร
3. แล้วมันมีปัญหาอะไร
เมื่อ 3 กค 2563 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกประกาศให้บริษัทเอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายนี้ สามารถซื้อเอกสารเพื่อร่วมประมูล (TOR) ตั้งแต่วันที่ 10-24 ก.ค. 2563
แต่เมื่อเอกชนจำนวนหนึ่งไปซื้อ TOR แล้วทำโครงการเสนอตัวเข้าประกวด ปรากฏว่า รฟม.เปลี่ยนใจกลางอากาศ ด้วยการมีมติเมื่อ 21 สค 2563 เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารประกวดราคาใหม่ (TOR) ทั้งที่มีการซื้อขายซองประกวดราคาเสร็จสิ้นไปแล้ว 10 บริษัท เนื่องจากมีบริษัทเอกชนรายหนึ่งซึ่งยื่นซองประมูลได้ขอให้ รฟม. เปลี่ยนแปลง TOR
และคณะกรรมการฯ ทั้งชุด ที่ดูแลเรื่องการแข่งขันนี้ก็ใจดี ไปยอมรับข้อเสนอ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข (ยกเว้นกรรมการที่เป็นสุภาพสตรีรายหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง TOR กลางอากาศ)
ต้องทราบกันก่อนว่าเงื่อนไขใน TOR นั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเองได้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าอาจมีการทุจริตเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายหนึ่ง (หากจะล็อคสเปคก็ควรทำก่อนขาย TOR ให้เอกชนสิ !)
อะไรทำให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับหลังหัน 180 องศา โดยไม่ใช้หลักเกณฑ์ TOR ที่กำหนด แต่จะใช้หลักเกณฑ์ใหม่ที่มาแก้ไขหลังปิดขายซองประกวดราคาไปแล้ว
กรณีนี้ พี่ศรีสุวรรณท่านได้ร้องเรียนไปยัง DSI แล้ว และระบุว่าน่าจะเข้าข่ายความผิดกฎหมายหลายฉบับและหลายมาตรา
ทั้งนี้ เมื่อ 14 ตค 2563 ศาลปกครองกลางได้นัดไต่สวนในคดีที่ BTSC ยื่นฟ้อง คกก.คัดเลือกและพวกรวม 2 คน โดยขอให้เพิกถอนมติ คกก.คัดเลือกฯ ที่ไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข TOR หลังจากที่มีการปิดการขายซองประมูลไปแล้ว เนื่องจากเห็นว่าก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับเอกชนบางราย พร้อมกับขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยสั่งระงับการเปิดรับข้อเสนอของเอกชนในวันที่ 9 พ.ย. 2563 ไว้ก่อน
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้ว จึงมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อ 21 ตค 2563 ให้ รฟม. กลับไปใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเดิมคือ เปิดซองคุณสมบัติ ซองเทคนิค ซองข้อเสนอการเงิน และซองข้อเสนออื่นๆ เพิ่มเติม จนกว่าจะมีคำตัดสินจากศาลออกมา
ที่ประหลาดคือแม้จะมีคำสั่งศาลปกครองกลาง มีเสียงทักท้วงจาก องค์การต่อต้านการคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และพี่ศรีสุวรรณ ให้ คกก.คัดเลือกฯ กลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม แต่ รฟม.ก็ยังคงเดินหน้าอุทธรณ์ต่อโดยหวังว่าจะสามารถใช้หลักเกณฑ์ใหม่ได้
จึงน่าสงสัยว่ามีความพยายามเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางรายหรือไม่ การเดินหน้าไปในหนทางที่ไม่น่าจะชอบธรรมโดยไม่สนใจกฏ กติกา มารยาท และความถูกต้องชอบธรรมแบบนี้ มันจะไหวไหม
กรณีเปลี่ยน TOR แบบนี้ ไม่ว่า รฟม. จะออกมาประชาสัมพันธ์ไปในประเด็นอื่นอย่างไร ก็ไม่พ้นเป็นที่สงสัยแก่สาธารณชนว่าท่านน่าจะเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางราย
4. ใครจะรับผิดชอบ
เรื่องอย่างนี้ ไม่เฉพาะ รฟม. กับ คกก.คัดเลือก ที่จะต้องรับผิดชอบ เอกชนที่ขอให้เปลี่ยนเงื่อนไขโดยส่งหนังสือไปถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้พิจารณาปรับปรุงการประเมินข้อเสนอเพื่อหาผู้ชนะการคัดเลือกของโครงการ ก็ต้องรับผิดชอบด้วย
ข้าพเจ้าไม่อยากให้มีบริษัทที่ได้ชื่อว่าไร้ความสามารถจนต้องเอาเปรียบคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม หรือใช้กลโกง ไร้ธรรมาภิบาล เพราะจะทำให้บริษัทนั้นๆ เข้าเกณฑ์ปฏิบัติ "ระงับลงทุน" (Negative List Guideline) สำหรับผู้ลงทุนสถาบันอย่าง กบข. กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ ที่กำหนดไว้เพื่อยกระดับการลงทุนของประเทศไทยสู่การลงทุนอย่างรับผิดชอบ
การที่ใครจะชนะไม่ใช่เรื่องใหญ่หากทุกคนทำตามกติกา แข่งขันกันอย่างเป็นธรรม
แต่ถ้าชัยชนะได้มาด้วยกลโกง หรือด้วยการซื้อตัว มันก็เป็นเรื่องอัปยศ
และมันคงจะอัปยศอย่างยิ่ง หากเรื่องแก้ไข TOR กลางอากาศแบบนี้ เกิดขึ้นในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่ซื่อตรงและไม่คอร์รัปชั่น
งานนี้ไม่ต้องถามหาใบเสร็จ เพราะการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข TOR หลังจากที่มีการปิดการขายซองประมูลไปแล้ว ก็คือใบเสร็จนั่นเอง
หากเรื่องนี้ไม่ได้รับการพิจารณาและปฏิบัติอย่างถูกต้อง และเป็นธรรม เราจะอยู่ในประเทศนี้อย่างสงบสุขได้อย่างไร … มันคงยากที่คนดีๆ ที่ให้ความร่วมมือแก่ส่วนรวม และหวังจะได้รับความยุติธรรม จะทำใจได้
ทั้งนี้ BTS ฟัองศาลทุจริตฯ กล่าวหาว่าผู้ว่า รฟมฺกับพวก ผิดกฏหมาย ม.157-165 แล้ว ซึ่งศาลทุจริตฯ จะตัดสินว่ารับหรือไม่รับฟ้องในวันที่ 15 มีค นี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :