ซีอีโอ โชว์วิชั่น ฝ่าโควิด

05 มี.ค. 2564 | 20:00 น.

ในงานสัมมนา”จับสัญญาณการลงทุนยุค “New Normal” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ในเวทีเสวนาหัวข้อ “ BIG Corp : Vision ฝ่าวิกฤตโควิด” มีวิทยากรระดับซีอีโอของบริษัทต่างๆ ร่วมให้เกียรติมมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ชี้แนวทาง และทิศทางการดำเนินงานที่จะร่วมฝ่ายวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกัน

“ไทยแอร์เอเชียยัน”รอดแน่

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจการบินทุกสายต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารที่เคยบินอยู่ดีๆก็หายไปเลย ต้องหยุดบินไป เครื่องบิน 63 ลำต้องจอดทั้งหมด

สถานการณ์เริ่มดีขึ้น บริษัทเริ่มกลับมาบินในประเทศได้อย่างเดียว จากใช้เครื่องบินได้ 5 ลำขยับขึ้นมาเรื่อยๆจากจำนวนที่นั่งบนเครื่องบิน 1.4 ล้านที่นั่ง จนถึงเดือนธันวาคมปี 2563 บินได้ 42 ลำแล้ว มีจำนวนที่นั่งบนเครื่องบิน 3.9 ล้านที่นั่ง ใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิดแล้ว ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี2564 เส้นทางบินในประเทศจะถึงจุดคุ้มทุนไม่ขาดทุน

ต้นปี 2564 โควิดรอบใหม่ ทำให้การเดินทางกลับมาหายไปอีกครั้งได้หารือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ว่าถ้าปล่อยไปแบบนี้แย่แน่ต้องรีบกระตุ้นการเดินทางกลับเพื่อให้เกิดโมเมนตั้มต่อไปยังช่วงสงกรานต์ ประกอบกับการควบคุมการแพร่ระบาดดีขึ้น ผู้โดยสารเริ่มกลับมา และเมื่อวันที่1มีนาคม 2564 ไทยแอร์เอเชีย เปิดขายตั๋วบินบุฟเฟ่ต์ได้48ชั่วโมงก็เต็ม 8 หมื่นสิทธิ์แล้ว

การฟื้นตัวของผู้โดยสารโดยรวม น่าจะขยับขึ้นมาได้ราว 30% ช่วงไตรมาส4 ปี2564 ซึ่งปีนี้จะยังขาดทุนอยู่ แต่จะน้อยกว่าปี2563 และน่าจะเริ่มกลับมามีกำไรในช่วงไตรมาส 2 ปี2565 โดยคาดว่าการพื้นตัวของผู้โดยสารจะขยับขึ้นต่อเนื่องราว 50% ช่วงไตรมาส1 เพิ่มเป็น 75% ในไตรมาส2 และจะกลับมาเป็น100% ในไตรมาส 3 และ 4 ปี 2565 ส่วนรายได้ของสายการบินในปี2565 น่าจะกลับมาได้ราว 80% ของปี 2562

นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะเสนอรัฐบาล คือไม่เอาเงินไปแจกคนละ1-2 พันบาทแบบนี้ แต่ควรจะระดมเงินใช้สำหรับการเร่งฉีดวัคซีนให้คนไทย 66 ล้านคนก่อน ภายใน 8 เดือน เป็นการเร่งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ใช่ต้องใช้เวลา 2 ปีตามแผนการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน เพราะสิ่งที่น่ากลัวคือ ถ้าเวียดนาม ฉีดวัคซีนเสร็จก่อน คนที่อยากเที่ยวอยู่แล้วก็จะเข้าไปเที่ยวเวียดนามแทน

ขณะนี้สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) อยู่ระหว่างหารือกับรัฐบาลของประเทศต่างๆรวมถึงไทย ในการจัดทำวัคซีน พาสปอร์ต ที่จะเป็นอี-พาสปอร์ต บันทึกข้อมูลการฉีดโควิด-19 ของโรงพยาบาลในประเทศต่างๆที่ได้รับการรับรอง ผู้โดยสารที่ฉีดวัคซีนแล้ว ต้องได้รับการยื่นยันก่อนจึงจะสามารถจองตั๋วและเดินทางได้


ซีอีโอ โชว์วิชั่น ฝ่าโควิด

PRINC สยายปีกตลาดเฮลท์แคร์

ดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC กล่าวว่า ปัจจุบันพริ้นซิเพิลฯ เป็นผู้บริหารโรงพยาบาลรวม 11 แห่ง กระจายอยู่ตามหัวเมืองรอง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ขณะเดียวกันบางพื้นที่ยังไม่มีโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการเต็มรูปแบบ แม้ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดี แต่ยังมีความต้องการ ทำให้โรงพยาบาลต้องเตรียมความพร้อมและขยายการลงทุนต่อเนื่อง

ในปีนี้บริษัทมีแผนขยายการลงทุนใน 4 กลุ่ม ได้แก่ โรงพยาบาล ซึ่งล่าสุดมีแผนเปิดให้บริการรพ.พริ้นซ์ ศรีสะเกษ ในเดือนเมษายน และพริ้นซ์ ลำพูนในเดือนมีนาคมนี้ รวมทั้งอยู่ระหว่างหารือร่วมทุนอีก 3 โรงพยาบาล นอกจากนี้จะลงทุนคลินิกชุมชนอีก 100 แห่ง ธุรกิจความงามและศูนย์ดูแลฟื้นฟูผู้สูงวัย ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มทุนจากประเทศญี่ปุ่น

วันนี้พริ้นซิเพิลฯ มีแผนเดินหน้าภายใต้แนวคิด “New Era” โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร ซึ่งต้องยอมรับว่า การเข้ามาของโควิด ทำให้อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ทั่วโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เห็นได้จากประเทศจีน ที่วางยุทธศาสตร์เดินหน้าสู่ ดิจิทัล เฮลท์แคร์ เต็มรูปแบบใน 3 ปี ดังนั้นประเทศไทยเองต้องขยับและเตรียมความพร้อม หากไม่ปรับตัวเราก็จะถูกกินรวบใน 5 ปี”

อย่างไรก็ดี หลังการเข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จึงเกิดเป็นความร่วมมือกัน
โดยพริ้นซิเพิลฯ จะนำเทคโนโลยี ทีมแพทย์และบุคคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทางของโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ ไปให้บริการตามโรงพยาบาลในเครือทั้ง 11 แห่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยในชุมชนเข้าถึงการรักษาพยาบาล

ในปี 2563 มีรายได้รวมกว่า 2,300 ล้านบาท มาจาก 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ โรงพยาบาล 90% เติบโตลดลง 1% และธุรกิจโรงแรม 10% ซึ่งที่ผ่านมาโควิดทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไป รายได้จึงหายไป

GPSCทุ่ม8พันล.รุกแบตเตอรี่

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ผู้นำด้านธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้บริษัทต้องปรับตัว และต้องเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินงาน ซึ่งในปีนี้ ทิศทางการดำเนินงานของบริษัท จะมุ่งเน้นไปที่ 3 เสาหลัก ได้แก่ 1.การบริหารจัดการต้นทุนและการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงสุด หลังจากที่รวมกิจการกับบริษัท โกลว์พลังงาน (GLOW) 2.การขับเคลื่อนบริษัทไปพร้อมกับการขยายการลงทุนในกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ทั้งในและต่างประเทศ และ 3.การต่อยอดเทคโนโลยีและเป็นฐานการสร้างรายได้จากธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่เป็น New S-Curve รองรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจพลังงานและธุรกิจไฟฟ้าในอนาคต

ทั้งนี้ กระแสการใช้พลังงานของโลกเป็นพลังงานสีเขียวมากขึ้น ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสที่จะตอบสนองความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียน ดังนั้น แบตเตอรี่หรือระบบกักเก็บพลังงาน จะเป็นธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์สนองความต้องการของโลกได้ และจะเป็นธุรกิจหลักที่สำคัญของบริษัทในอนาคตต่อไป ซึ่งปัจจุบันได้นำเอาบเทคโนโลยี Semi Solid ของ บริษัท 24M Technologies จากสหรัฐอเมริกา พัฒนาต่อยอดธุรกิจ

ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบนำร่อง ระยะแรกจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) จะเริ่มผลิตได้ไม่เกินไตรมาส 2 ปีนี้ และมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะใช้เงินลงทุนอีกราว 7-8 พันล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังซื้อหุ้นในบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co.,Ltd. (AXXIVA) สาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ กำลังผลิต 1GWh ต่อปี เป็นเงินลงทุน 500 ล้านบาท ซึ่งมองว่าจีนเป็นตลาดใหญ่ ด้านรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี และมีแหล่งวัตถุดิบผลิตแบตเตอรี่ทั้งหมดอยู่ในจีน ซึ่งจะทำให้ราคาแบตเตอรี่ถูกลงได้

รวมทั้งจะรุกสู่ธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้า ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ร่วมกับบริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโอออาร์ ซึ่งเปิดตัวโครงการ G-Box ระบบกักเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่ ซึ่ง GPSC ได้พัฒนาขึ้น มีขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ไปแล้วในสถานีบริการนํ้ามัน 1 แห่ง หากทดลองใช้ได้ผลดี ในปีหน้าจะมีแผนขยายผลในถานีบริการนํ้ามันอื่นๆ อีกราว 100-200 แห่ง

ส่วนผลการดำเนินในปีนี้ มองว่า จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน และการขับเคลื่อนจาก 3 เสาหลัก จะส่งผลให้รายได้ของบริษัทเติบโตดีอย่างแน่นอน จากปีก่อนมีรายได้ราว 7.5-8 พันล้านบาท 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,659 วันที่ 7 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564