“มาริษา เจียรวนนท์” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเชฟแคร์ส เปิดเผยว่า มูลนิธิเชฟแคร์สซึ่งดำเนินกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ต้องการให้โอกาสกับเยาววชนผู้ด้อยโอกาส โดยเริ่มจากน้องๆ 12 คนที่ได้รับคัดเลือก ได้มีอาชีพที่ดี ซึ่งในโครงการนี้ ได้สมาชิกเชฟแคร์ส อาทิ ชุมพล แจ้งไพร (เชฟชุมพล) และณัฏฐพล ภวไพบูลย์ (เชฟนิค) เชฟระดับแนวหน้าของประเทศ มาให้ความรู้และสอนเทคนิคการปรุงอาหารทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และยังได้ฝึกงานจริงกับเชฟมืออาชีพ ควบคู่การพัฒนาศักยภาพภายใต้การดูแลของนักจิตวิทยา เพื่อประกอบอาชีพเชฟตามความฝัน
โครงการนี้จะให้ทั้งความรู้และการบ่มเพาะแนวคิดด้านบวก พร้อมได้รับแรงบันดาลใจจากเหล่าเชฟมืออาชีพ ที่จะหมุนเวียนกันเข้ามาเป็นอาจารย์พิเศษให้กับน้องๆ เพื่อที่จะทำให้น้องๆ ได้พัฒนาตัวเองไปตามเส้นทางที่ฝัน และยังได้มีอาชีพ กลายเป็นคนคุณภาพ เมื่อกลับสู่สังคมอีกครั้ง ซึ่งมูลนิธิฯ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.พงษ์รพี บูรณสมภพ Co-Founder Robb Report Thailand นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ เข้ามาเป็นจิตอาสาร่วมพัฒนาและสานฝันให้เยาวชนทุกคน ได้บ่มเพาะทัศนคติเชิงบวก และเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม และ ศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารเพื่อการพัฒนา (CCDKM) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้คัดเลือกเยาวชนหน่วยงานละ 6 คน โดยน้องๆ ที่ถูกคัดเลือก จะเป็นคนที่มีความรักในการปรุงอาหารเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีความประพฤติดี ใกล้พ้นโทษ สำหรับเยาวชนจากกรมพินิจฯ เข้าอบรมหลักสูตรโครงการสานฝันปั้นเชฟ ซึ่ง PIM FOOD ACADEMY สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้ออกแบบหลักสูตรเป็นพิเศษ ระยะเวลา 5 เดือน แบ่งเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ 2 เดือน ที่สถาบันสอนอาหารและการจัดการธุรกิจอาหาร และอีก 3 เดือน จะฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ณ ร้านอาหารของเชฟระดับแถวหน้าของเมืองไทย (Top Chef) โดยที่เยาวชนทุกคนมีโอกาสได้รับการจ้างงาน ทั้งจากร้านอาหารของ Top Chef และ/หรือ ธุรกิจอาหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือน้องๆ จะออกไปเปิดร้านอาหารเอง ก็สามารถทำได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
น้องๆ เยาวชนที่ได้ร่วมหลักสูตร ต่างมีความคิดเห็นตรงกันว่า โครงการนี้ มีประโยชน์ และสามารถพัฒนาพวกเขา ซึ่งมีความรักในการทำอาหารอยู่แล้ว สมหญิง (นามสมมุติ) กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการเรียนหลักสูตรต่างๆ ด้านการทำอาหารค่อนข้างสูง หากไม่ได้รับโอกาสครั้งนี้ ก็ยากที่จะได้เรียนและได้ใกล้ชิดกับ เชฟนิค ณัฏฐพล ภวไพบูลย์ และ เชฟชุมพล แจ้งไพร ซึ่งเป็นเชฟระดับแนวหน้า ความรู้ที่ได้จากโอกาสในครั้งนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปต่อยอด เพื่อเปิดร้านอาหารของตนเอง และจะนำความรู้ไปส่งต่อน้องๆ ในชุมชนที่สนใจ และมีความฝันเหมือนกับตน
เช่นเดียวกับ “สมพงษ์” (นามสมมุติ) ที่สนใจเรียนรู้การทำอาหารจริงจัง โดยมีความหวังว่าเมื่อเรียนจบหลักสูตร จะกลับไปทำอาหารที่มีรสชาติดีให้กับครอบครัวได้ทานพร้อมหน้ากัน ขณะที่สมชาย (นามสมมุติ) จากสถานพินิจฯ เล่าว่า ภายหลังได้รับการปล่อยตัว ก็อยากมีอาชีพที่ดี และมั่นใจว่าจะไม่หวนไปทำผิดซํ้าอีก การได้รับโอกาสครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนการได้โอกาสในการสร้างอาชีพ และได้กลับตัวเป็นคนดีของสังคม
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 23 ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,660 วันที่ 11 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2564