ผบ.ทบ.ตรวจ"ระนอง"เตรียมรับ"คลื่นผู้ลี้ภัย"วิกฤตเมียนมา

17 มี.ค. 2564 | 10:30 น.

    ผบ.ทบ.ลงพื้นที่ระนอง เตรียมความพร้อม-พื้นที่"แรกรับชั่วคราว" รองรับสถานการณ์ผู้อพยพหนีภัยความรุนแรงในเมียนมา ตามหลักมนุษยธรรม พร้อมผลักดันกลับทันทีที่สงบ ย้ำชัดไม่ใช่"ศูนย์ผู้อพยพ" 

ผบ.ทบ.ลงพื้นที่ระนอง เตรียมความพร้อม-พื้นที่"แรกรับชั่วคราว" รองรับสถานการณ์ผู้อพยพหนีภัยความรุนแรงในเมียนมา ตามหลักมนุษยธรรม ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองภายในของเพื่อนบ้าน พร้อมผลักดันกลับทันทีที่สงบ ย้ำชัดไม่ใช่"ศูนย์ผู้อพยพ

วันที่ 17 มี.ค25.64 เมื่อเวลา 09.00 น.  พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้เดินทางลงพื้นที่ถึงท่าอากาศยาน จ.ระนอง  จากนั้นเดินทางต่อไปยัง ห้องประชุม กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก 1 ซึ่งตั้งอยู่ในค่ายรัตนรังสรรค์ ร.25 พัน 2  เพื่อตรวจความพร้อมในการเตรียมพื้นที่รองรับผู้อพยพที่อาจลี้ภัยเข้ามา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ผบ.ทบ.เคยลงพื้นที่ จ.ตาก มาครั้งหนึ่งแล้ว รวมทั้งการติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนด้าน จ.ระนอง 
    

พล.ต.ศานติ ศกุนตนาค ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ผู้บัญชาการกองกำลังเทพสตรี และผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจสงขลา เปิดเผย ว่า จากสถานการณ์ตึงเครียดในประเทศเมียนมา ทำให้พื้นที่ตามชายแดนที่มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมา ต้องเตรียมพร้อมสถานที่เพื่อรองรับการอพยพเข้า โดยพื้นที่ล่อแหลมที่จะมีการอพยพผ่านเข้ามา เป็นพื้นที่ติดพรมแดนประเทศเมียนมา จำนวน 4 อำเภอ ใน  2 จังหวัด ประกอบด้วย 1.จังหวัดชุมพร มี 1 อำเภอ คือ อ.ท่าแซะ  2.จังหวัดระนอง มี 3 อำเภอ คือ อ.กระบุรี, อ.ละอุ่น และอ.เมืองระนอง  
    

ทั้ง 4 อำเภอ ใน 2 จังหวัดนี้ ได้มีการประสานงานกับหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด หากมีการทะลักเข้ามาของคนเมียนมาเราจะมีขั้นตอนดำเนินการ โดยจะมีการแยกกลุ่มคนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกก็คือกลุ่มคนไทย กลุ่มที่สองคือ กลุ่มประชาชนเมียนมา และกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มนำ หรือนักการเมืองต่าง ๆ  
    "เราใช้พื้นที่ตามแนวชายแดนเป็นพื้นที่แรกรับและคัดแยก  ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะแยกออกจากกันเมื่อเข้ามา กลุ่มคนไทยก็จะแยกเข้าอีกที่หนึ่ง กลุ่มประชาชนเมียนมาก็แยกอีกประเภทหนึ่ง กลุ่มของนักการเมือง กลุ่มผู้ก่อเหตุและหลบหนีเข้ามาก็อีกส่วนหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะดำเนินการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม โดยจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง คอยดูแลจนกว่าประเทศเขาจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์ปกติ เราก็จะดำเนินการผลักดันกลับทันที ตามช่องทางที่ถูกต้อง"
    

วันที่ 17 มีนาคม 2564 นี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.เดินทางมาตรวจพื้นที่ในพื้นที่ของจังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร เพื่อดูการเตรียมความพร้อมของพื้นที่ และสถานที่เพื่อรองรับการเดินทางเข้ามาของประชาชนชาวเมียนมา เพราะฉะนั้นประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องกังวล ถ้าเกิดมีการทะลักเข้ามาไม่ว่าจะเป็นไทย หรือคนเมียนมา หรือกลุ่มใดก็ตาม เรามีแผนพร้อมรับมืออยู่แล้ว โดยจะไม่มีการหลุดรอดจากแนวชายแดนไปได้ เรามีขั้นตอนและกระบวนการดำเนินการอยู่


 

สำนักงานสภาความมั่นแห่งชาติ (สมช.) ได้ประชุมประเมินสถานการณ์ในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง หลังกองทัพเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง โดยอ้างเหตุเกี่ยวกับการโกงการเลือกตั้ง และอ้างว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเปิดทางให้ดำเนินการได้ แต่สถานการณ์กลับตึงเครียด เมื่อประชาชนชาวเมียนมาไม่ยินยอม และออกมาประท้วงต่อต้านกองทัพ จนมีการใช้กำลังและกระสุนจริงในการปราบปราม มีผู้เสียชีวิตไปแล้วนับร้อยศพ 
    

หน่วยงานความมั่นคงบางหน่วย ประเมินว่า มีโอกาสที่สถานการณ์ในเมียนมาจะบานปลาย จนถูกมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐและยุโรปกดดันคว่ำบาตร ถึงขั้นอาจต้องปิดประเทศ หรือกลายเป็น "รัฐล้มเหลว" (Failed State) เพราะมีสถานการณ์แทรกซ้อนภายใน จากการแข็งข้อของกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ  
    

หากเหตุการณ์มีแนวโน้มไปในทิศทางนี้ จะทำให้มีประชาชนชาวเมียนมา และชนกลุ่มน้อยหนีภัยสู้รบและการปราบปราม เข้าสู่ประเทศไทยจำนวนมาก ทำให้ไทยต้องเตรียมการ 2 เรื่อง คือ 1. พื้นที่รองรับผู้อยพ และ 2. มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 
    
 

พล.ต.ศานติ ศกุนตนาค ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 (ผบ.พล.ร.5) และผู้บัญชาการกองกำลังเทพสตรี ซึ่งรับผิดชอบชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน จ.ระนองและชุมพร กล่าว ว่า ได้มีการเตรียมความพร้อมในพื้นทึ่ตามนโยบายของกองทัพบกแล้ว แต่สถานการณ์ตามแนวชายแดนด้านนี้ยังไม่ถึงขนาดที่จะมีการอพยพเข้ามาจำนวนมาก แต่ถ้ามีเหตุการณ์สู้รบ หรือมีการประท้วงกัน และมีการใช้กำลัง ก็น่าจะมีทั้งคนไทยและชาวเมียนมาอพยพเข้ามา จึงต้องเตรียมการดูแลตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งกองทัพบกก็เตรียมการมาตลอดแนวชายแดนด้าน นี้ตั้งแต่อ.แม่สาย จ.เชียงราย อ.แม่สอด จ.ตาก เรื่อยลงมาถึง จ.ระนอง และชุมพร 
    

พล.ต.ศานติ ยืนยันว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมการ เตรียมความพร้อม เพราะหากไม่เตรียมการแล้วอยู่ ๆ มีคนทะลักเข้ามา ก็จะไม่รู้ว่าใครต้องทำอะไร ที่สำคัญต้องมีมาตรการคัดกรองโควิด-19 ด้วย โดยพื้นที่ "ระนอง-ชุมพร" แบ่งคนออกเป็น 5 กลุ่ม คือ คนไทย, ชาวเมียนมา, ชนกลุ่มน้อย, นักการเมืองเมียนมา และชาวต่างชาติ ที่ไม่ใช่ทั้งเมียนมาและไทย ขณะนี้ได้เตรียมแผนรองรับคนทั้ง 5 กลุ่ม พร้อมย้ำว่าจะไม่มีการตั้งเป็นศูนย์อพยพ เพราะเมื่อสถานการณ์สงบลงก็จะผลักดันกลับโดยเร็วที่สุด 
    

สำหรับความเคลื่อนไหวในพื้นที่พบว่า กองกำลังเทพสตรี เตรียมพื้นที่ อ.กระบุรี จ.ระนอง และ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เพื่อรองรับชาวเมียนมาลี้ภัยความรุนแรงทางการเมืองจากการต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา โดยนโยบายของรัฐบาล คือ การเตรียมพื้นที่รองรับผู้หนีภัยการสู้รบเข้ามาพักพิงชั่วคราว ดูแลตามหลักมนุษยธรรม เมื่อเหตุการณ์สงบก็จะส่งกลับ ไม่ได้ตั้งศูนย์อพยพ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นศูนย์อพยพอยู่เหมือนกัน เพราะอาจอยู่ยาวนาน หากชาวเมียนมาข้ามมาแล้วไม่กลับ หรือสถานการณ์ภายในยังไม่สงบง่าย ๆ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

300 คนหนีพม่า ธุรกิจไทยอพยพกลับ

นานาชาติเร่งอพยพประชาชนออกจากเมียนมา รัฐบาลไทยจัดเที่ยวบินอพยพคนไทย 16 มี.ค. นี้

ตำรวจเมียนมาหลายสิบนายหนีเข้าอินเดีย หลังฝ่าฝืนคำสั่งเบื้องบนที่ให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม