และนั่นคือแนวทางที่ทำให้ “มหาศาล ธีรวรุตม์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด กลุ่มธุรกิจในเครือเอสซีจีแพคเกจจิ้ง (SCGP) ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ สร้างรูปแบบของระบบการจัดการสวนไม้อย่างยั่งยืน ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) ควบคู่ไปกับนวัตกรรมยูคาลิปตัสสายพันธุ์ใหม่ และการวางแผนการปลูกไม้เชิงพาณิชย์อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกร
“มหาศาล” เล่าว่า สยามฟอเรสทรี เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นผู้ให้บริการครบวงจรเกี่ยวกับไม้ยูคาลิปตัส ก่อนหน้านี้ ดำเนินการรับซื้อไม้ยูคาลิปตัสจากเกษตรกรรายย่อย เพื่อนำมาผลิตเยื่อไม้สำหรับการทำแพ็คเกจจิ้ง แต่ 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้พัฒนารูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ลูกค้ามีความต้องการไม้ที่มาจากป่าปลูกอย่างยั่งยืน ได้รับการรับรองจาก FSC สยามฟอเรสทรี จึงปรับเปลี่ยนธุรกิจ พร้อมทำโครงการเพิ่มมูลค่าพื้นที่ว่าง ร่วมกันสร้างป่ายั่งยืน โดยบริษัทเข้าไปเช่าพื้นที่จากเกษตรกร ทำเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ปลูกยูคาลิปตัสด้วยการบริหารจัดการแบบสวนป่าอย่างยั่งยืน โดยมี FSC เข้ามาตรวจสอบรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน
“การเริ่มธุรกิจนี้ ในเอสซีจีแพ็คเกจจิ้ง เราทำตั้งแต่ต้นนํ้า ผลิตกล้าป่า ส่งเสริมเกษตรกรปลูกป่า และรับซื้อคืน และเป็นการสับไม้ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื้อ ซัพพอร์ตโรงงานของเอสซีจีพีเอง และส่งให้ญี่ปุ่นและจีน ตั้งแต่ทำมาประมาณ 2 ปี เราสร้างสวนป่าขนาดใหญ่ได้ 5.1 หมื่นไร่ และเราตั้งเป้าขยายให้ได้ปีละ 5 หมื่นไร่ เพื่อให้ได้ไม้ 1 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 60% ของไม้ในกระบวนการผลิตของเรา”
เป้าหมายของสยามฟอเรสทรี หลังปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ คือ “สร้างมูลค่าพื้นที่ว่าง สร้างทรัพยากรใหม่” ปลูกแล้วตัดไปใช้ หลังจากนั้นก็ปลูกทดแทนได้เรื่อยๆ ไม่ใช่ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน...สองปีที่ผ่านมา เราเลยทำจริงจัง เพื่อสนองลูกค้าที่ต้องการไปทำแพ็คเกจจิ้งลูกค้าปลายทาง
การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ มาเน้นเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ พัฒนาเป็นสวนป่ายั่งยืนตามมาตรฐาน FSC ไม่ได้มีอุปสรรคแต่อย่างใด จากโจทย์ที่ตั้งไว้ คือ พื้นที่ใกล้โรงงาน ได้แก่ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสาน และภาคตะวันตก เป็นพื้นที่ที่ลักษณะดินเหมาะสมกับการปลูกต้นไม้อยู่แล้ว และมีพื้นที่ว่างเปล่าที่เจ้าของต้องการเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ มีลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 25 จังหวัด รวมประมาณ 130 แปลง โดยประมาณ 20-30% เป็นที่แปลงใหญ่ขนาด
“มหาศาล” บอกว่า สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่บริษัทรับซื้อ ก็ได้มาตรฐาน FSC เช่นกัน แต่เป็นระดับต้น ซึ่งบริษัทมีทีมงานเข้าไปให้ความรู้ ในการปลูกไม้ให้ได้ตามมาตรฐาน FSC อยู่แล้ว แม้ต้นทุนในการปลูกตามมาตรฐาน FSC จะสูงขึ้นบ้าง แต่ไม่ถึง 5% และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทางบริษัทก็ซัพพอร์ตให้ทั้งหมด โดยต่อไร่ จะปลูกยูคาลิปตัสได้ไร่ละ 14-15 ตัน สร้างรายได้ประมาณ 1.2 หมื่นบาท ต่อ 4-5 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการด้วยว่าดีหรือเปล่า
“ยูคาลิปตัส เป็นไม้ต้นนํ้าของการผลิตแพคเกจจิ้ง เราต้องรักษาให้ยั่งยืน ไทยมีการส่งออกไม้ไปจีน ญี่ปุ่น 4-5 ล้านตันต่อปี และอีก 2 ปี ญี่ปุ่นจะรับซื้อ ไบโอแมส เพื่อใช้ทดแทนพลังงานนิวเคลียร์ และลดกรีนเฮ้าแก๊สของโลก ก็จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอีกเยอะมาก ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดี และสามารถสร้างรายได้ที่ไม่ผันผวน ซึ่งปีนี้บริษัทมีแผนเสริมตัวแทน นายหน้า เพื่อให้ได้พื้นที่มากขึ้น รวมไปถึงการขยายตลาดใหม่ๆ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“มหาศาล” บอกว่า ตลอดระยะเวลาที่ร่วมงานกับสยามฟอเรสทรี ระยะเวลากว่า 6 ปี ความท้าทายของการดำเนินธุรกิจ คือการหาพื้นที่ และการพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้ได้ไม้ที่มีประสิทธิภาพดี ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ไฟไหม้ หรือแมลงต่างๆ ทำให้มีการพัฒนายูคาลิปตัสให้มีสายพันธุ์ที่หลากหลาย...ทุกปีไม่เคยนิ่ง จะมีโปรเจคใหม่ๆ การพัฒนาปรับปรุง เรื่องการเช่าพื้นที่ปลูก เราก็อยากพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เรามีองค์ความรู้ที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่ดีขึ้น
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 24 ฉบับที่ 3,662 วันที่ 18 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2564