นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัล ได้ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมมากมายภายใต้แคมเปญ Central Group Love the Earth ด้วยการผนึกกำลังทุกภาคส่วนในการร่วมกันลงมือ “ทำ” แก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมุ่งเน้น การลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use plastic reduction) การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ (Recycling and up cycling) การจัดการคัดแยกขยะ (Waste segregation) ลดการสร้างขยะอาหาร (Food waste reduction) การฟื้นคืนพื้นที่ป่า (Forest restoration) การลดสภาวะโลกร้อน ด้วยการใช้พลังงานทดแทน (Climate Change & Energy Management)
วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ อาทิ ปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาการจัดการขยะ และสภาพอากาศที่ผันแปร กลุ่มเซ็นทรัล โดยโครงการเพื่อสังคม “เซ็นทรัล ทำ” ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ จึงมีเจตนารมย์ที่จะดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างคุณค่าร่วมกันกับสังคม ชุมชน ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม โดยการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นแกนหลักในการดำเนินงาน
จากโครงการต่างๆ ในปี 2563 ที่ผ่านมา สามารถลดขยะประเภทถุงพลาสติกได้ถึง 236 ล้านใบ และบริจาคอาหารส่วนที่เกินจากการจำหน่าย(Food Surplus) มอบให้กับกลุ่มเปราะบาง 203,778 กก. คิดรวมเป็นจำนวน 855,869 มื้อ และตั้งแต่ปี 2561-2563 สามารถฟื้นฟูป่าต้นน้ำไปแล้ว 1,033 ไร่
ส่วนการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ในเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา FeedUp@UN โดยองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็นร่วมกับ สมาคมการตลาดเกษตรและอาหาร แห่งภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค (AFMA - อัฟมา) ได้มอบรางวัล ‘Climate Action Awards’ จำนวน 2 รางวัล ให้กับกลุ่มเซ็นทรัล ในฐานะเป็นองค์กรขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แบ่งเป็น
ด้านการจัดการขยะอาหาร (Food Waste/ Food Surplus) โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือปริมาณคาร์บอนฟุตพรินท์ ในปี 2563 ได้ทั้งสิ้น 862,109 KgCo2e (กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) จากการคัดแยกขยะอินทรีย์ และบริจาคอาหารส่วนเกินในธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล เช่น แฟมิลี่มาร์ท, ท็อปส์, เซ็นทารา, ร้านอาหารในเครือ ซีอาร์จี (มิสเตอร์ โดนัท), ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เป็นต้น
ด้านการปลูกป่าฟื้นฟูป่า (Forest Restoration) โดยร่วมมือกับ โครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและอาหารยั่งยืน “FLR349” ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมป่าต้นน้ำ ให้เป็นแหล่งอาหารปลอดภัย และอาชีพที่ยั่งยืนแก่เกษตรกร รวมทั้งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชน โดยสามารถกักเก็บคาร์บอน (carbon sequestration) ได้รวม 39,353,527 KgCo2e (กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) จากพื้นที่ฟื้นป่า 1,033 ไร่
เซ็นทรัล ทำ โดยกลุ่มเซ็นทรัล มุ่งสร้างแพลตฟอร์มการดำเนินงานในลักษณะเครือข่ายที่เชื่อมโยงและสร้างประโยชน์ตั้งแต่ระดับต้นน้ำคือเกษตรกรสู่ปลายน้ำได้แก่ผู้บริโภค จนเป็นโมเดลต้นแบบด้านซีเอสวี ที่นำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหากับพื้นที่ชุมชนอื่นๆทั่วประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มเซ็นทรัลด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง