วันนี้(3 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวในรายการ “PM PODCAST นายกรัฐมนตรีเล่าเรื่อง ตอนหนึ่งว่า ความคืบหน้าการฉีดและกระจายวัคซีนโควิด-19 โดยวัคซีนซิโนแวคลอตแรก 200,000 โด๊ส แอสตราเซเนกา ประมาณ 110,000 โด๊ส โดยเริ่มฉีดเข็มแรกตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา
ข้อมูลวันที่ 31 มี.ค. มีผู้ได้รับฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 158,497 ราย ได้รับเข็มที่สองแล้ว 33,248 ราย ในจำนวนนี้มีผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ เช่น วิงเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก มีผื่น เพียง 4 ราย ทุกคนได้รับการรักษาและกลับบ้านได้แล้ว ส่วนผู้เสียชีวิตเนื่องจากมีโรคอื่น โรคประจำตัวหลายโรคด้วยกัน
ทั้งนี้ ในการฉีดวัคซีนจะครอบคลุมพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค หรือพื้นที่ที่มีการแพร่เชื้อสูง 13 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ตาก นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม สมุทรปราการ ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ
สำหรับเดือน เม.ย.นี้ จะทำการกระจายวัคซีนซิโนแวค 800,000 โด๊ส ไปยังกลุ่มเป้าหมาย 77 จังหวัด โดยมีการจัดสรร 300,000 โด๊ส เพื่อควบคุมการระบาดในพื้นที่ 6 จังหวัด 300,000 โด๊ส เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในจังหวัดท่องเที่ยว และจังหวัดชายแดน และอีก 200,000 โด๊ส กระจายไป 55 จังหวัด
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลมีแผนจัดหาวัคซีนให้คนไทยอย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยรัฐจะดูแลค่าใช้จ่าย ค่าวัคซีนที่จำเป็นต้องใช้ ส่วนภาคประชาชน ก็ได้เร่งรัดการใช้แอพพลิเคชั่น เพื่อให้มีการเปิดการลงทะเบียน แจ้งความประสงค์ฉีดวัคซีน นัดคิวฉีด นัดสถานที่ฉีด เพื่อให้เกิดความสะดวกในการจัดความเร่งด่วน ส่วนผู้ที่มีสมาร์ทโฟนก็สามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โรงพยาบาลตำบล และ อสม.
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันวัคซีนทุกเจ้าทั่วโลกเป็นการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกอบกับไม่มีบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใดสามารถรับประกันผลข้างเคียงในระยะยาวได้ แต่จะรับรองประสิทธิภาพของวัคซีนจากผลวิจัยในห้องทอดลองเท่านั้น ซึ่งก็เป็นการรับประกันระยะสั้น
ดังนั้น รัฐบาลทุกประเทศจำเป็นต้องมากำกับดูแลการนำเข้า ผ่านหน่วยงานวัคซีนของประเทศ เป็นเหตุผลว่ายังไม่เปิดให้เอกชนจัดซื้อได้โดยตรง จะต้องผ่านหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ล่าสุดเรามีวัคซีนที่ อย.อนุมัติขึ้นทะเบียนให้ใช้อย่างถูกกฎหมาย 3 ราย คือ แอสตราเซเนกา ซิโนแวค และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ปิดกั้นการขึ้นทะเบียนและการใช้วัคซีนในประเทศ และถ้าหากที่วัคซีนบริษัทไหนปลดล็อกให้ภาคเอกชนสั่งซื้อได้ รัฐบาลก็พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนสั่งซื้อและนำเข้าเองได้
นอกจากนั้น ยังมีวัคซีนที่อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารและยื่นคำขออีกหลายแห่ง เช่น วัคซีน ของ บริษัท บารัค ไบโอเทค ประเทศอินเดีย วัคซีนโมเดอร์นา ของสหรัฐอเมริกา วัคซีนสปุตนิกไฟว์ ของ รัสเซีย และ วัคซีนซิโนฟาร์ม ของประเทศจีน เป็นต้น
จะเห็นว่าเมื่อทั่วโลกมีวัคซีนแล้ว สถานการณ์ก็จะเริ่มคลี่คลาย รัฐบาลต้องมองไปถึงการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน เราจึงมีนโยบายจัดทำแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 4 ระยะ เพื่อดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ และสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น โดยระยะแรก เม.ย.-มิ.ย. เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาที่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา พัทยา เชียงใหม่ และเกาะสมุยได้ แต่มีเงื่อนไขว่าทุกคนต้องมีใบรับรองในการฉีดวัคซีน และต้องกักตัว 7 วันที่โรงแรมก่อน
ระยะที่สอง ก.ค.-ก.ย. ในส่วนของภูเก็ตนักท่องเที่ยวที่มีใบรับรองฉีดวัคซีน ไม่ต้องกักตัว ส่วนพื้นที่นำร่องอื่นยังต้องกักตัว 7 วัน ระยะที่สาม ต.ค.-ธ.ค.เฉพาะในพื้นที่นำร่องนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนและมีใบรับรองแล้ว ไม่ต้องกักตัว และระยะที่สี่ ตั้งแต่ ม.ค.2565 เป็นต้นไป นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนและมีใบรับรอง สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว
"นักท่องเที่ยวทุกคนยังต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิดเพื่อให้เกิดความมั่นใจอีกครั้งหนึ่ง และออกท่องเที่ยวตามจุดที่กำหนด ไม่ใช่เดินทางไปได้ทุกที่ และต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค และการใช้แอพพลิเคชั่นติดตามตัว"นายกรัฐมนตรี ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :