วันที่ 7 เม.ย. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก กรมควบคุมโรคและ กทม.นำเสนอตัวเลขกรณีการติดเชื้อในสถานบันเทิง โดยตัวเลขสรุปวันที่ 22 มี.ค. – 6 เม.ย. พบผู้ติดเชื้อตัวเลข 291 ราย ได้แก่ กทม. 200 ราย ชลบุรี 12 ราย สมุทรปราการ 18 ราย สุพรรณบุรี 14 ราย นนทบุรี 13 ราย นครปฐม 7 ราย ปทุมธานี 5 ราย เชียงใหม่ 2 ราย ชุมพร 2 ราย สมุทรสาคร 2 ราย เลย ตาก กาญจนบุรี ตาก ลพบุรี และสระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย จะเห็นว่าจาก กทม.และปริมณฑล เริ่มกระจายไปทางเหนือ ใต้ และบางส่วนของภาคอีสาน
นอกจากนี้ ที่ประชุมรายงานเพิ่มเติมว่า ยโสธร เพชรบูรณ์ และเชียงราย ทีมสอบสวนโรคพบว่ายังเชื่อมโยงสถานบันเทิง กทม.ด้วยเช่นกัน ขอให้ติดตามการรายงานของ กทม.และ สธ.ในช่วงบ่าย
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอปรับระดับสีพื้นที่ของสธ.นั้น ศบค.ชุดเล็กพิจารณาแล้วยังไม่ให้มีการปรับมาตรการระดับพื้นที่สี แต่ขอให้ใช้มาตรการที่มีอยู่เดิม คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 ที่ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 กระทรวงมหาดไทย (มท.) มีอำนาจร่วมกันพิจารณาประเมินกำหนดพื้นที่สถานการณ์เพิ่มเติมคือ ให้สธ. และมท.หารือกัน เพื่อสามารถปรับพื้นที่ปรับสีปรับมาตรการใดๆ ได้อย่างอิสระ และฉบับที่ 18 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าตรวจสอบการใช้อาคารสถานที่การดำเนินการของเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ให้เป็นไปตามแนวทางมาตรการป้องกันโรค
หากพบการกระทำที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม มีอำนาจกำหนดช่วงเวลาให้แก้ไขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรค หรือเสนอให้ปิดชั่วคราว และผู้ว่าฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สามารถพิจารณาปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในระดับพื้นที่เขตรับผิดชอบ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานกาณ์การระบาดโควิด 19 ในห้วงเวลาต่างๆ
“ศบค.ชุดเล็กให้กลับไปที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีอยู่แล้ว มอบอำนาจสธ.และมท. หารือร่วมกันทำงานร่วมกับพื้นที่ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าฯ กทม. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. พิจารณาการจัดการแต่ละพื้นที่ลงรายละเอียดไปถึงขั้นแต่ละอำเภอ พื้นที่เห็นอย่างไร ดำเนินการอย่างไร ขณะที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ระบุว่า ผู้ว่าฯ โดยความเห็นชอบคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีอำนาจในการสั่งปิดสถานที่จำหน่ายอาหารเครื่องดื่มต่างๆ ชั่วคราว มีอำนาจสั่งเปิดกรณีสถานบริการนั้นๆ ทำได้ตามมาตรการที่พื้นที่กำหนด” พญ.อภิสมัยกล่าว
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า พื้นที่ทำหน้าที่นี้เป็นกลไกหลักแต่ละพื้นที่ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น เชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อในสถานบันเทิง 2 ราย คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่มีการประชุมทบทวนมาตรการ ออกมติคำสั่งปิดสถานบริการ 2 แห่ง ถนนนิมมานฯ 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 6-19 เม.ย. เช่นเดียวกับที่ชลบุรี หลังจากพบผู้ติดเชื้อ 23 ราย ซึ่ง 17 รายมีการรายงานมาจากสถานบันเทิงทองหล่อ สสจ.ชลบุรีออกประกาศขอความร่วมมือชาวชลบุรีไปสถานบันเทิง กทม.และปริมณฑล ให้ตรวจหาเชื้อโดยด่วน พนักงานสถานบันเทิงศรีราชา และบางละมุงไปตรวจหาเชื้อทุกราย หรือกทม. มีการออกคำสั่งปิดสถานบันเทิงชั่วคราว 3 เขต คือ วัฒนา คลองเตย และบางแค ช่วงวันที่ 6-19 เม.ย. และจะเพิ่มความเข้มข้นการกำกับดูแล ความถี่การตรวจตราดูในโซนที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นเรื่องของพื้นที่เข้าไปดูปัญหา สอบสวนโรค จะรู้ปัญหาและมีความเข้าใจพื้นที่ได้ดีที่สุด ออกมาตรการกำหนดที่มาจากพื้นที่ มีประสิทธิภาพสูงสุด
“ศบค.มีมาตรการออกเป็นกว้างๆ หากพบผู้ติดเชื้อในสถานบันเทิงแห่งเดียว เสนอให้ปิดสถานประกอบการนั้นๆ ถ้าพบติดเชื้อหลายแห่งในพื้นที่ใกล้เคียงกันเป็นโซน พื้นที่จะพิจารณาปิดพื้นที่ทั้งโซน สถานประกอบการบริเวณเดียวกันก็ปิดทั้งบริเวณ หากพบแพร่หลายพื้นที่ หลายโซน ผู้ว่าฯ ร่วมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ อาจพิจารณาให้ปิดชั่วคราวในส่วนสถานบริการทั้งจังหวัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เป็นต้น ขอให้ติดตามการรายงานของจังหวัดพื้นที่ การที่เราเรียกว่าจะใช้ยาแรงปิดหมดทั้งประเทศ อาจไม่ถือว่ามีประสิทธิภาพ พื้นที่ที่เข้าใจพื้นที่และปัญหา ตรวจสอบด้วยตัวเองจะกำหนดมาตรการได้ดีที่สุด” พญ.อภิสมัยกล่าว