วันที่ 15 เม.ย.64 ทวิตเตอร์กรมควบคุมโรค @ddc_riskcom เผยแพร่กราฟ ที่แสดงถึงการเทียบสถิติ จำนวนผู้ป่วยติดเชืื้อโควิด19 - ผู้เสียชีวิต และผู้ที่เข้ารับการรักษา ในประเทศไทย ในการระบาดทั้ง 3 ระลอก จากต้นปี 63 ถึงเม.ย. 64 โดยมีสถิติดังนี้
ระลอก มกราคม 63
- ช่วงเวลา 11 เดือนครึ่ง (ม.ค. – 14 ธ.ค. 63)
- จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 4,237 ราย
- รักษาหาย 98.58%
- เสียชีวิต 60 ราย (คิดเป็น 1.42% ของจำนวนผู้ป่วย)
ระลอก ธันวาคม 63
- ช่วงเวลา 3 เดือนครึ่ง (15ธ.ค. 63 – 31 มี.ค. 64)
- จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 24,626 ราย
- รักษาหาย 99.86%
- เสียชีวิต 34 ราย (คิดเป็น 0.14% ของจำนวนผู้ป่วย)
ระลอก เมษายน 64
- ช่วงเวลา 14 วัน (1-14 เม.ย.64)
- จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 7,074 ราย
- กำลังรักษาและรักษาหาย 98.58%
- เสียชีวิต 3 ราย (คิดเป็น 0.03% ของจำนวนผู้ป่วย)
วันนี้ (15 เมษายน 2564) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงถึงมาตรการ Hospitel รองรับผู้ป่วยโควิด 19 ว่า ขณะนี้ ได้นำโรงแรมมาเป็นสถานพยาบาลชั่วคราว (Hospitel) ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่มีอาการ หรือรักษาในโรงพยาบาลหลัก 3-5 วันแล้วอาการดี โดยมีการตรวจและบันทึกอาการผู้ป่วยทุกวันผ่านเทเลเมดิซีนหรือไลน์กลุ่ม หากอาการเปลี่ยนแปลงจะย้ายกลับโรงพยาบาลหลักทันที มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐาน
ขณะนี้ มี Hospitel ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 23 แห่ง จำนวน 4,900 เตียง ดูแลผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 2 พันเตียง เตรียมเพิ่มให้ได้ 5-7 พันเตียง ซึ่งจะช่วยลดแออัดในโรงพยาบาล รวมทั้งขณะนี้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้เตรียมเตียงจากโรงพยาบาลทุกสังกัด ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กองทัพ ตำรวจ มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชน รวม 6,525 เตียง ใช้แล้ว 3,700 กว่าเตียง ส่วนหนึ่งสำรองไว้สำหรับผู้ที่มีอาการมาก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
นายแพทย์ธเรศกล่าวต่อว่า ในการขึ้นทะเบียน Hospitel กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะตรวจประเมินมาตรฐาน ทั้งด้านโครงสร้าง สิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ น้ำเสีย ไม่มีผลกระทบต่อชุมชน มีการจัดบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐาน โดยมีแพทย์ประจำ 1 คน พยาบาล 1 คนต่อ 20 เตียง เครื่องวัดอุณหภูมิแบบดิจิทัล เครื่องวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด และเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ ทั้งนี้ ได้เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการสมัครร่วม Hospitel ทางออนไลน์ได้ โดย สบส.จะอนุมัติทางออนไลน์ด้วย เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ส่วนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาจะใช้ประกันสุขภาพส่วนบุคคล และกองทุนสุขภาพตามสิทธิต่างๆ
ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ยืนยันว่าทุกรายต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel เพราะมีประสิทธิภาพในการรักษาและการควบคุมโรค แม้ขณะนี้ทั่วประเทศจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 1 พันรายต่อวัน แต่คิดว่ายังเพียงพอ จึงยังคงแนวทางนี้ โดยกรรมการวิชาการจะประเมินสถานการณ์เป็นระยะ
นายแพทย์ธเรศกล่าวว่า ขณะนี้ได้รับการแจ้งมีคลินิกหลายแห่งที่ตรวจผู้ป่วยโควิด 19 มีผลเป็นบวก ไม่ดำเนินการให้การดูแลผู้ป่วย ทำให้เป็นผู้ป่วยต้องเดินทางไปหาเตียงเอง ทำให้ยากต่อการควบคุมโรค สบส.จึงออกประกาศกำหนดให้สถานพยาบาลทุกแห่ง ทั้ง รพ.เอกชนและคลินิก โดยเฉพาะคลินิกตรวจทางห้องปฏิบัติการ ให้ดำเนินการดังนี้ 1.จะต้องมีระบบให้คำปรึกษาก่อนตรวจ 2.คลินิกต้องได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ3.เมื่อตรวจผลเป็นบวก จะต้องแจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้องการควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดหาเตียงผู้ป่วย โดยประสานและส่งต่อ หากไม่ดำเนินการจะมีโทษ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองประชาชน
"โรคโควิด 19 เป็นโรคฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ดังนั้น สถานพยาบาลทุกแห่งรวมถึงภาคเอกชนต้องให้การดูแลรักษาให้ผู้ป่วยปลอดภัยและสถานพยาบาลทุกแห่งต้องดูแลผู้ป่วยตามแนวทางที่กำหนด รวมถึงต้องแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อภายใน 3 ชั่วโมง หากไม่ดำเนินการมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล มีโทษทั้งจำและปรับ ขณะนี้กำลังมีการตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชน 2-3 แห่งที่ไม่ปฏิบัติตาม และคลินิกแล็บที่ทำการตรวจแล้วปล่อยให้ผู้ติดเชื้อเดินทางไปพื้นที่ต่างๆ หากพบว่าไม่ดำเนินการตามกฎหมายจะมีการเอาผิดด้วย" นายแพทย์ธเรศกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :