6 วันอันตรายสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุ เสียชีวิตแล้ว 238 ราย

16 เม.ย. 2564 | 04:27 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2564 | 11:31 น.

ศปถ. สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2564 พบเกิดอุบัติเหตุแล้ว 2,113 ครั้ง เสียชีวิต 238 ราย ขณะเร่งประสานจังหวัดเพิ่มความเข้มดูแลเส้นทางขากลับกทม.

16 เมษายน 2564 - นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2564 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด” เกิดอุบัติเหตุ 313 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 29 ราย ผู้บาดเจ็บ 310 คน

ขณะสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 31.31  ขับรถเร็ว ร้อยละ 30.35 

ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 88.79 

ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 61.66 ถนนใน อบต./ หมู่บ้าน  ร้อยละ 43.13 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 30.67 

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 25.56 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 40 – 49 ปี ร้อยละ 15.63” 
 

ทั้งนี้ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช(15 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ระยอง หนองคาย (จังหวัดละ 2 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ปราจีนบุรี (15 คน) 

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (10 – 15 เม.ย. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,113 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 238 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,116 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) 8 จังหวัด

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ นครศรีธรรมราช (91 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด เชียงใหม่ (9 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (96 คน)

ด้าน นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ปภ.) กล่าวว่า วันนี้ประชาชนยังอยู่ระหว่างเดินทางกลับจากภูมิลำเนา ทำให้ถนนหลายสายมีปริมาณรถจำนวนมาก ประกอบกับความอ่อนล้าจากการขับรถทางไกล อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ศปถ.จึงประสานจังหวัดปรับแผนการดำเนินงานสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเพิ่มความเข้มข้นดูแลเส้นทางขาเข้ากรุงเทพฯ และเส้นทางที่มุ่งสู่จังหวัดใหญ่

" เน้นจัดตั้งจุดตรวจและเพิ่มความถี่เรียกตรวจในเส้นทางเสี่ยง โดยเฉพาะทางตรงที่มีระยะทางไกล และจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็ว ดื่มแล้ว ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย และประเมินความพร้อมของผู้ขับรถ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก และจัดระบบการจราจรให้สอดคล้องกับปริมาณรถในแต่ละเส้นทาง "