เมื่อวันที่ 17 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดกาญจนบุรี ได้ออกประกาศ คำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 1790/2564 เรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี
ระบุว่า ด้วยปัจจุบันสถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทวีคูณและกระจายไปทุกจังหวัดอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงสัมพันธ์กับสถานบันเทิง กิจกรรมรวมกลุ่ม งานเลี้ยงสังสรรค์ และแพร่กระจายไปในผู้สัมผัสในครอบครัว กลุ่มเพื่อน และที่ทำงาน โดยเชื้อที่พบส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ (Virus B1.1.7) ที่แพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าเดิมเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และข้อ 3 (2) ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 18 เมษายน 2564
กำหนดให้จังหวัดกาญจนบุรีเป็นพื้นที่ควบคุม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 และ 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และข้อ 7 (1) ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดกาญจนบุรี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี จึงมีคำสั่ง ดังนี้
1.ให้ปิดสถานที่ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นการชั่วคราว ดังนี้ (1) โรงภาพยนตร์ทุกแห่ง (2) สถานออกกำลังกายฟิตเนสทุกแห่ง (3) โต๊ะสนุกเกอร์ รวมถึงสถานที่ที่มีลักษณะคล้ายกันทุกแห่ง
2.ให้ตลาด ตลาดนัด และตลาดน้ำ ทุกแห่ง ถือปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T และข้อปฏิบัติด้านสุขอนามัยในเรื่องการคัดกรองผู้ติดเชื้อ การล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย หลักการของ Social Distancing และการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นไทยชนะ/หมอชนะ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มงวด
โดยให้นายอำเภอทุกแห่งมอบหมายเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ หากพบว่าที่ใดๆ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด ให้ทำความเห็นรายงานเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวโดยทันที
3.เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นนานเข้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรค 2 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ทั้งนี้ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้โดยไม่มีเหตุอันสมควรจะมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตั้งแต่ 18 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โฆษก บชน.เตือนประกาศชักชวนชุมนุมห้วงโควิดมีความผิด
“เชียงใหม่” ประกาศสถานที่เสี่ยงโควิดเพิ่มอีก 11 แห่ง
อว. เร่งตั้งรพ.สนามได้แล้ว 12,882 เตียง กระจายทุกภาคทั่วประเทศ