จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) ในตลาดกลางเพื่อเกษตรกร ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 18 เมษายน ตรวจหาเชื้อ 742 คน พบผู้ติดเชื้อ 6 คน และวันที่ 19 เมษายน ตรวจหาเชื้อ 610 ราย พบผู้ติดเชื้อ 5 ราย ใน 2 รายเป็นลูกค้าที่มาใช้บริการ ที่ประชุมจึงมีมติให้ปิดตลาดฯ 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย. - 27 เม.ย. 64 นั้น
นายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากข่าวดังกล่าว ทุกสำนักข่าวได้นำเสนอข่าวการปิดตลาดกลางกุ้ง อยุธยา ซึ่งข้อเท็จจริงตลาดกลางแห่งนี้ชื่อว่า “ตลาดกลางเพื่อเกษตรกร”มีการซื้อขายสินค้าเกษตร และสินค้าสัตว์น้ำ สินค้าพื้นบ้าน หลากหลาย ไม่ได้มีเฉพาะสินค้ากุ้งอย่างเดียว และยังมีร้านอาหารอยู่บริเวณนั้นอีกมากมาย ไม่ใช่ตลาดกุ้ง
“จากวันนี้มาจนถึงวันนี้เลวร้ายมากต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ พ่อค้าฉวยจังหวะกดราคาซ้ำ 10-20 บาท/กิโลกรัม และขายยาก เกษตรกรในหลายพื้นที่เริ่มแจ้งเข้ามาแล้ว ยอมรับว่าข่าวก็น่าจะมีส่วนหนึ่งในเชิงจิตวิทยา ซึ่งผมได้ท้วงติงไปหลายสำนักข่าว กำลังประเมินสถานการณ์อีก 2-3 วัน หากย่ำแย่แล้วทิศทางไม่ดีก็จะต้องคุยกับกรมประมง หากปล่อยไปเป็นเช่นนี้ราคาต่ำมาก”
นายครรชิต กล่าวว่า ไม่รู้เลยว่าสถานการณ์ส่งออกเป็นเช่นไร ถึงแม้ว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็น “กุ้งกร้ามกราม” แต่กุ้งที่เกษตรกรเลี้ยงมากที่สุด เป็น "กุ้งขาวแวนนาไม" ก็ได้รับผลกระทบลามกันไปหมด ซึ่งผมก็ไม่ได้โทษสื่อ แต่ว่าการเขียนพาดหัวทำให้ส่งผลกระทบ ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดคิดว่ากุ้งเป็นพาหะการแพร่ระบาด ซึ่งในความเป็นจริงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากุ้งไม่ได้เป็นพาหะของโรคโควิด-19เลย
จากข่าวนี้เองทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โดนกดราคา 10-20 บาทต่อกิโลกรัม ผู้ประกอบการซื้อขายกุ้งได้รับผลกระทบ ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น “กุ้ง” เป็นจำเลยสังคม ครั้งแรกที่ตลาดมหาชัย ทุกคนก็รับทราบว่า “โควิด-19” เป็นโรคคนสู่คน ดังนั้นขอให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าสามารถรับประทานกุ้งได้ตามปกติและมีความปลอดภัย
โดยนำมาปรุงให้สุก เพราะความร้อนสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ด้วยความร้อน 70 องศาเซลเซียส นาน 5 นาทีขึ้นไป และถ้าความร้อนสูงขึ้น ก็จะใช้ระยะเวลาน้อยลง หากเป็นอาหารแช่แข็ง ควรล้างทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์ สวมถุงมือเวลาประกอบอาหาร และที่สำคัญต้องล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสกุ้ง หรืออาหารทะเล ย้ำกินได้ปลอดภัย