วันคุ้มครองโลก (Earth Day) ถือเป็นวันสำคัญของเหล่านักอนุรักษ์ธรรมชาติทั่วโลกตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี คำว่า โลก ทางกายภาพ หมายถึง พื้นที่ที่มีภูเขา แม่น้ำ พื้นดิน แผ่นฟ้า มหาสมุทร และหมายถึง ชาวโลก ที่เป็นสรรพชีวิตทั้งปวงที่อาศัยอยู่บนโลก การคุ้มครองโลกจึงหมายถึงการคุ้มครองทั้งสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองชาวโลกด้วย
ประวัติ-ความเป็นมา วันคุ้มครองโลก
วันคุ้มครองโลก ถือกำเนิดในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 27 ปีก่อน ในวันที่ 22 เมษายน 2513 เมื่อนักอนุรักษ์ธรรมชาติกลุ่มหนึ่งได้แสดงพลังครั้งใหญ่ เพื่อปลุกจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงเนื่องจากถูกมนุษย์ทำลาย ในการแสดงพลังครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 20 ล้านคน ปรากฏขึ้นตามเมืองใหญ่ ๆ เกือบทั้งสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นความห่วงใยเรื่องปัญหาของสภาพแวดล้อมของสหรัฐที่มากขึ้น ส่งผลให้มีการออกกฎหมายควบคุมการกระทำที่จะสร้างความเสียหายกับธรรมชาติ
ภายหลังสถาปนาวันคุ้มครองโลกในปีแรก รัฐบาลกลางได้ประกาศใช้กฎหมายฉบับสำคัญ สำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (U.S. Environmental Protection Agency) ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2513 ตามด้วยการประกาศใช้กฎหมายอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Act) กฎหมายน้ำสะอาดปี พ.ศ. 2515 (Clean Water Act of 1972) และกฎหมายว่าด้วยสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ พ.ศ. 2516 (Endangered Species Act of 1973) โดยบทบัญญัติข้อหนึ่งในจำนวนหลายข้อที่มีผลเป็นวงกว้างไกล คือ บทบัญญัติที่บังคับให้รถยนต์ต้องใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว และวิ่งได้ระยะทางอย่างน้อยเท่าที่กฎหมายกำหนดต่อน้ำ มันหนึ่งแกลลอน ตลอดจนมีเครื่องฟอกไอเสียที่ช่วยลดปริมาณควันพิษที่ปล่อยออกจากท่อไอเสียรถยนต์ ขณะที่ชาวอเมริกันเริ่มมีการคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล
กระทั่งปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ชุมชนหลายแห่งจัดโครงการรีไซเคิลขึ้น ส่งผลให้กลางคริสต์ทศวรรษ 1990 จำนวนขยะที่เทศบาลต้องนำไปทิ้งลดลงอย่างเห็นได้ชัด กว่าร้อยละ 20 ของขยะในเขตเทศบาลของอเมริกาถูกนำไปแปรรูปให้กลาย เป็นผลผลิตที่มีประโยชน์ ส่วนบริษัทห้างร้านต่างๆก็เริ่มตระหนักถึงความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น นำไปสู่การกล่าวอ้างว่า ผลิตภัณฑ์ของตน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมใช้วิธีการผลิตที่เพิ่มประสิทธิภาพและลดจำนวนกากของเสียจากอุตสาหกรรมลง
ในวันที่ 22 เมษายน 2513 ชาวอเมริกันกว่า 20 ล้านคนได้พร้อมใจออกมาชุมนุมเพื่อประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของโลก ส่งผลให้มีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา และจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น และกำหนดให้วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day
มีเป้าหมายที่สำคัญ อาทิ ลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในบรรยากาศ, กำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอนซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซนและก่อให้เกิดการสะสมความร้อนให้หมดสิ้นไป, อนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่ทั้งที่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ, ห้ามการซื้อ-ขายสิ่งมีชีวิตที่อาจทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงหรือหมดสิ้นไป, คงสภาพระดับประชากรให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่, สร้างพลังอำนาจขององค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องบรรยากาศ น้ำ และสภาพอื่น ๆ ให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์ และสร้างจิตสำนึกให้กับ บุคคล ชุมชน และระดับประเทศ ในการที่จะรักษาโลกไว้
แนวคิดดังกล่าวส่งต่อมาถึงประเทศไทย โดยเริ่มพูดถึง วันคุ้มครองโลกครั้งแรก เมื่อปี 2533 หลังจากสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกระทำอัตวินิบาตกรรม และเมื่ออาจารย์และนักศึกษาร่วมกัน 16 สถาบันจัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของป่าอนุรักษ์ และตระหนักถึงวิกฤตการทำลายสัตว์ป่าและป่าไม้ประเทศไทย ทั้งยังมีการจัดงานเพื่อหาทุนเข้ามูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อใช้ปกป้องรักษาผืนป่า ที่เป็นมรดกของโลกด้วย
กิจกรรมวันคุ้มครองโลกปี 2564
เมื่อวันที่ 20 เมษายน ได้จัดการประชุมสุดยอดเยาวชนระดับโลก ว่าด้วยเรื่องสภาพภูมิอากาศ ในการประชุมครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ และการอภิปรายกับนักเคลื่อนไหวด้านภูมิอากาศในปัจจุบัน และในวันนี้ (22 เมษายน 2564) เวลาประมาณ 12.00 น.ตามเวลามาตรฐานตะวันออก ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะร่วมประชุมด้านสภาพอากาศโลกผ่านเว็บไซต์ earthday.org พร้อมกับประเทศสมาชิกทั่วโลกในรูปแบบการพูดคุยออนไลน์