นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการดูแลประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่นี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีการจัดเตรียมความพร้อมแผนงบประมาณเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบ “ร่างข้อเสนอแนวทาง หลักเกณฑ์ การดำเนินงานและการบริหารจัดการงบที่ได้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน รอบที่ 2” วงเงิน 3,752.7050 ล้านบาท
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สปสช. ได้ขอรับงบประมาณจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.กู้เงินฯ) จำนวน 3,752.7050 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 เงินจำนวนดังกล่าวจะใช้สำหรับเป็นค่าบริการสาธารณสุขสำหรับโรคติดเชื้อโควิด-19 วงเงิน 3,652.385 ล้านบาท และค่าบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก 100.3200 ล้านบาท โดย ครม. ขอให้ สปสช. ใช้จ่ายเงินใน 2 ส่วนนี้แยกกัน และไม่ให้ถัวจ่ายกับรายการอื่น
สำหรับข้อเสนอขอรับงบจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติมจากรัฐบาลนั้น เป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2563 และปีงบประมาณ 2564 ก่อนหน้านี้ เพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขกรณีโควิด-19 โดยแยกจากงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตามปกติ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ
อนึ่ง ภายหลังที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 กองทุนบัตรทองได้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีโควิด-19 เป็นการเฉพาะ ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขกรณีโควิด-19 ถือเป็นบทบาทของกองทุนบัตรทอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อัพเดท สปสช. เปิดรายชื่อ "รพ.รัฐ-เอกชน" ทั่วประเทศตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ฟรี