กรมการแพทย์แจงยิบ 4 ขั้นตอนงานสายด่วน 1668 แจงเฉพาะทีมรับสายด่วนและเตรียมข้อมูลที่มีระบบคอมพิวเตอร์ช่วยงาน หลังจากนั้นทีมแพทย์จิตอาสาตามซักข้อมูล-ประเมินอาการ ที่ต้องใช้เวลาซักถาม ก่อนมอบประสานทีมตอบสนองและประสานหาเตียงหากจำเป็น 2 สัปดาห์ให้บริการแล้ว 3,477 ราย ยืนยันทุกชีวิตมีค่า ขอให้เชื่อมั่น มีสติ สามัคคี เพื่อฝ่าวิกฤต
วันที่ 23 เมษายน 2564, กรมการแพทย์ ยืนยันสายด่วนเฉพาะกิจ 1668 ทำด้วยใจ ใช้จิตอาสาจากบุคลากรทางการแพทย์หลายร้อยชีวิต หวังช่วยบรรเทาทุกข์ประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้ได้รับการเข้ารักษาในโรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานอย่างทันท่วงที วอนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ แม้มีข้อจำกัดในการทำงานบ้าง แต่ไม่ย่อท้อ เผยเปิดให้บริการมากว่า 2 สัปดาห์ ภูมิใจสามารถช่วยเหลือผู้ติดเชื้อให้ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว 1,584 ราย รับสายประชาชนไปแล้วกว่า 3,477 สาย ปลื้มใจมีบุคลากรจิตอาสา ทั้งที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และจากหลากหลายสาขาอาชีพ อาสาช่วยงานโดยไม่หวังผลตอบแทน เชื่อมั่นหากทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน มีสติ สื่อสาร และสามัคคี จะสามารถผ่านวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกัน
สำหรับกรณีมีผู้วิจารณ์ในโลกโซเชียลถึงศักยภาพในการดำเนินงานสายด่วนเฉพาะกิจ 1668 นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาพที่ปรากฏออกมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำงานเฉพาะกิจของกลุ่มจิตอาสาของพวกเรา เป็นเพียงภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ทีมตอบสนอง และประสานงาน ซึ่งจะทำงานในส่วนของการโทรศัพท์กลับหาประชาชนที่ให้ข้อมูลไว้ ทั้งทางโทรศัพท์ และทางไลน์ @sabaideebot (สบายดีบอต) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเร่งโทรฯกลับเพื่อซักประวัติ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ต้องมีพื้นที่ในการจดข้อมูล และต้องทำอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถโทรฯติดตามประชาชนที่ให้ข้อมูลไว้ และประสานงานได้อย่างทั่วถึง ไม่ใช่ส่วนทีมรับสาย Hotline และทีมข้อมูล ซึ่งมีคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การสื่อสารใช้งานอย่างแน่นอน จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจถึงการทำงาน และความตั้งใจของเจ้าหน้าที่จิตอาสาที่ต่างทำงานกันอย่างทุ่มเท พร้อมยืนยันจะทุ่มเททำงานต่อไป
“ผมยืนยันว่าเรามีคอมพิวเตอร์ เครื่องไม้เครื่องมือในการบันทึก ตลอดจนจัดเก็บข้อมูลเพียงพอกับปริมาณงานที่เราทำอยู่ตอนนี้ ซึ่งการทำงานเราแบ่งออกเป็น 4 ทีม คือทีมรับสาย ทีมข้อมูล ทีมแพทย์ และทีมตอบสนอง ทำงานสอดประสานกันอย่างลงตัว แต่อย่างที่ผมเรียนย้ำเสมอว่า 1668 คือสายด่วนเฉพาะกิจ ทุกท่านคือจิตอาสาที่เป็นแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ ที่สามารถให้คำแนะนำเบื้องต้น โดยใช้ทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางการแพทย์ จิตวิทยาในการสื่อสารกับผู้ป่วยและการให้กำลังใจ เปรียบเสมือนผู้ป่วยคือคนในครอบครัว เพื่อคลายความกังวลใจแก่ผู้ติดเชื้อได้ แม้ทุกท่านมีงานประจำที่ต้องปฏิบัติเป็นจำนวนมาก แต่ก็อาสาเข้ามาทำงานสายด่วนดังกล่าว โดยไม่มีวันหยุดอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งยังยินดีให้โอนสายเรียกเข้าต่าง ๆ เข้าหมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัวของตนเอง ผมจึงอยากจะขอกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ด้วย”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการวิพากวิจารณ์ถึงเครื่องมือและอุปกรณ์การทำงาน ว่าไม่มีความพร้อมนั้น นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบายว่า แม้ว่า 1668 เป็นสายด่วนเฉพาะกิจ ที่เปิดให้บริการทุกวันระหว่างเวลา 08.00 -22.00 น. แต่มีการทำงานอย่างละเอียดโดยแบ่งเป็น 4 ทีมหลัก คือ
1. ทีมรับสาย Hotline 1668 จากผู้ป่วยโควิด 19 สอบถามข้อมูลรายละเอียดของผู้ป่วย
2. ทีมข้อมูล มีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลจากทีมงานสายด่วนและทีมประสานงาน วิเคราะห์ข้อมูล จัดทำฐานข้อมูล สรุปข้อมูลรายวัน
3. ทีมแพทย์ มีทีมแพทย์ประเมินอาการระดับความรุนแรงของผู้ป่วย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ตามความรุนแรงของโรค และ
4. ทีมตอบสนองและประสานงาน มีหน้าที่ประสานขอเตียงจากโรงพยาบาลเป้าหมาย (ผ่านศูนย์ส่งต่อโรงพยาบาลราชวิถี กรณีเป็นผู้ติดเชื้อในความรับผิดชอบของกรมการแพทย์ และประสานผ่านศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร กรณีเป็นผู้ติดเชื้อในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลนอกสังกัดกรมการแพทย์) รวมทั้งโทรฯเยี่ยมติดตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งแต่ละสายใช้เวลาในการพูดคุยกับผู้ป่วยประมาณ 20 - 40 นาที
สำหรับการดำเนินการรับสายที่โทรเข้ามา จนถึงวันที่ 21 เมษายน 2564 มีรวม 3,477 สาย โทรเยี่ยมติดตาม 3,277 สาย ผู้ติดต่อขอเตียง 1,584 คน รับเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว
กรณีที่โทร 1668 แล้วไม่มีผู้รับสายนั้น เกิดจากแต่ละวันโดยเฉพาะในปัจจุบัน มีผู้โทรเข้า 1668 มากกว่า 200 สาย จนทำให้คู่สายล้น ทางกรมการแพทย์ได้จัดให้มีการส่งต่อข้อมูล ด้วยเทคนิค convert สายเข้าโทรศัพท์มือถือส่วนตัวของจิตอาสาจากทั่วประเทศ ทำให้สามารถรับสายเพิ่มได้อีกกว่า 10 คู่สาย
ทั้งนี้ หากไม่สามารถติดต่อ 1668 ได้ ขอให้ติดต่อทางแอปพลิเคชันไลน์ โดยการเพิ่มเพื่อน Line @sabaideebot กรอกข้อมูลชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประสานติดต่อเจ้าหน้าที่อีกทาง กรมการแพทย์ขอยืนยันว่า มีการปรับปรุงระบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรวดเร็วขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง