การแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิดระลอก 3 ที่มีผู้ติดเชื้อใหม่ทะลุหลักพันรายต่อเนื่องมาหลายวัน และยังไม่มีทีท่าว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ แม้ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะจัดตั้งคณะพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เพื่อสรรหาวัคซีนทางเลือกมาฉีดให้กับประชาชนให้ครอบคลุม 70% แต่พบว่าคณะกรรมการฯชุดดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุปว่าจะจัดหาวัคซีนได้อย่างไรในปริมาณเท่าไร ทำให้ความหวังที่คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนลดน้อยลง
ผศ.นพ.มนต์เดช สุขปราณี อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาล เมดพาร์ค เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาคเอกชนพร้อมปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐ และเป็นด่านหน้าในการรักษาคนไข้ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ B.1.1.7 หรือสายพันธุ์อังกฤษนี้ มีความรุนแรง และแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม ดังนั้นการประเมินสถานการณ์ดิมเริ่มจากเบา ไปปานกลางและหนัก แต่ครั้งนี้เป็นการระบาดที่เร็วมาก เพราะฉนั้นจะมาประเมินเป็นลำดับขั้นอีกต่อไปไม่ได้ ยกตัวอย่างการเบิกจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ทุกโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนจะต้องเบิกจ่ายจากสาธารณสุข ซึ่งมีขั้นตอนการเขียนรายงาน โดยละเอียดว่าเบิกเหตุผลอะไร นำเสนอต่อส่วนกลาง เมื่อส่วนกลางพิจารณาจึงอนุมัติ ดังนั้นที่บอกว่า 1 วันเบิกได้ ในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องจริง ส่งผลให้การรักษาผู้ป่วยช้าลงไปด้วย
อย่างไรก็ดีอยากให้มองบทเรียนของประเทศอังกฤษและยุโรป ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ B.1.1.7 พบว่าภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์จำนวนผู้ติดเชื้อจาก 20% เพิ่มเป็น 80% ดังนั้นการรักษาจะยิ่งยากลำบากขึ้น ซึ่งวันนี้อาจจะยังเปรียบเทียบกับเมืองไทยไม่ได้ เพราะไม่มีการติดตามว่าจำนวนผู้ติดเชื้อนับพันรายในแต่ละวันของไทย เป็นการติดเชื้อจากสายพันธุ์ B.1.1.7 จำนวนเท่าไร แต่ถือเป็นบทเรียนที่ต้องเฝ้าระวัง
“สายพันธุ์นี้แพร่กระจายได้ทุกคน ไม่ใช่ว่าอายุน้อย ไม่ป่วยมาก เดี๋ยวก็หายเอง แต่เชื้อนี้ทุกคนป่วยได้ หนักได้ ประมาทไม่ได้ ถึงจะอายุน้อยก็ไม่ใช่แต้มต่อ ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งปลดล็อกระบบราชการให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้นลดขั้นตอนต่างๆ”
ปลดล็อกด่วนที่สุด
นายธานี มณีนุตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) กล่าวว่าอยากให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีนเข้ามาให้เร็วที่สุด ซึ่งภาคเอกชนเองพร้อมให้ความร่วมมือในการฉีดให้กับประชาชน เพราะมองถึงเศรษฐกิจในภาพใหญ่ของประเทศเป็นหลัก อยากให้การท่องเที่ยวเดินหน้าได้ อยากให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ
“อยากให้ฉีดวัคซีนกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ไม่ต้องรอถึงปลายปี โดยรูปแบบนำเข้าจะเป็นอย่างไรก็ได้ จะให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้นำเข้ามาล็อตใหญ่และให้เอกชนเป็นผู้ฉีดก็ได้ หรือหากจะช่วยกันทั้งอภ.นำเข้าเป็นหลัก และให้เอกชนเป็นทัพเสริมนำเข้าตามศักยภาพที่มีก็ได้ เชื่อว่าภาคเอกชนทุกแห่งยินดีร่วมมือ”
ปัญหาวันนี้คือ การนำเข้าวัคซีนที่ต้องรวดเร็วที่สุด ตามมาคือ ทำอย่างไรที่จะฉีดวัคซีน 10 ล้านโดสให้ได้ภายใน 3 วัน ดังนั้นเรื่องของสถานที่และบุคลากรที่จะเป็นผู้ฉีด จึงเป็นอีกสิ่งที่สำคัญ เพราะยังติดล็อกข้อกฎหมายเรื่องของการฉีดนอกสถานพยาบาล หลังจากที่ภาคเอกชนเสนอให้ฉีดในห้างสรรพสินค้าหรือสถานีบริการนํ้ามันเป็นต้น เพราะต้องการอำนวยความสะดวกให้กับผู้มารับบริการ
ทั่วโลกเปิดศึกชิงวัคซีน
นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ THG กล่าวว่า วันนี้แม้ภาครัฐจะเห็นชอบให้เอกชนจัดหาวัคซีนทางเลือกได้ แต่รัฐบาลต้องอย่าลืมว่า การแพร่ระบาดระลอก 3 ในไทยและระลอก 3 และ 4 ในทั่วโลก ทำให้วัคซีนเป็นที่ต้องการของทั่วโลก วันนี้ตลาดวัคซีนจึงเปลี่ยนไปแตกต่างจากปีก่อน ที่วัคซีนอยู่ในช่วงของการทดลอง การสั่งซื้อจึงง่าย ได้ราคาดี แต่วันนี้วัคซีนเป็นตลาดของผู้ขาย หากรัฐบาลจะสั่งซื้อหรือต่อรองราคา เขาก็ไม่ขายให้ไทยและหันไปขายให้คนอื่น
“แม้วันนี้รัฐบาลจะสั่งซื้อ ก็หาซื้อไม่ได้ และหมดสิทธิที่จะต่อรองราคาด้วย”
สอดรับกับผศ.นพ.มนต์เดช ที่กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า วัคซีนเป็นที่ต้องการทั่วโลก โดยเฉพาะโนวาแว็กซ์ ที่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการทดสอบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายเดือนนี้ วันนี้ทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกสั่งซื้อแล้วเกือบ 2,000 ล้านโดส ขณะที่มีกำลังการผลิตราว 150 ล้านโดสต่อเดือน ดังนั้นหากไทยจะสั่งซื้อ คงต้องรอนานนับปี กว่าจะได้คิว
รอความชัดเจนภาครัฐ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เผยว่า จากที่คณะทำงานจัดหาวัคซีนฯได้กำหนดกรอบเพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพิ่มการจัดหาเพื่อนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิดอีก 35 ล้านโดส ในเรื่องนี้เข้าใจว่ารัฐบาลจะเป็นผู้จัดหาเพิ่มทั้ง 35 ล้านโดส ซึ่งการจัดหาคงยังต้องผ่านองค์การเภสัชกรรมอยู่เมื่อถามว่ารัฐบาลจะอนุญาตให้เอกชนนำเข้ามาได้หรือไม่ นายสุพันธุ์ตอบว่า “ตอนนี้ยังไม่ทราบเหมือนกันเดี๋ยวคงต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลอีกที”
อย่างไรก็ตามคณะทำงานจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของภาคเอกชนที่ผ่านมาได้รวบรวมความต้องการของภาคเอกชนในการจัดซื้อวัคซีนเพื่อเร่งการฉีดให้เร็วขึ้น โดยมีผู้ซื้อแสดงความจำนงแล้วกว่า 5 ล้านโดส ซึ่งขอให้ อย.ผ่อนคลายระเบียบเพื่อให้มีการซื้อวัคซีนได้มากขึ้น โดยส่วนหนึ่งภาคเอกชนยอมเสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้วเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐ
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,673 วันที่ 25 - 28 เมษายน พ.ศ. 2564 \
ข่าวที่เกี่ยวข้อง