“สาธารณสุข” เปิดตัวเลขใช้จ่าย พ.ร.ก.เงินกู้ฯ สู้โควิด วงเงิน 25,825 ล้านบาท

26 เม.ย. 2564 | 02:50 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2564 | 09:53 น.

"สาธารณสุข" เผย ตัวเลขการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับจัดสรรเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ สู้โควิด-19 วงเงิน 25,825 ล้านบาท ย้ำ มีแผนการใช้ชัดเจน ไม่ล่าช้า พร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การระบาดของโรค

26 เมษายน 2564 นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ โควิด ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขว่า ได้รับการจัดสรรเงินเงินงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ โควิด-19 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 25,825.88 ล้านบาท เพื่อใช้ใน 39 โครงการโดยเป็นโครงการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 25,175.32 ล้านบาท และหน่วยงานนอก ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ,โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า,โรงพยาบาลตำรวจ, สำนักอนามัย กทม. จำนวน 650.56 ล้านบาท เพื่อดำเนินการใน 5 แผนงาน ได้แก่

1.ค่าเยียวยา ค่าชดเชย ค่าเสี่ยงภัย อสม. 4,726.38 ล้านบาท

2.จัดหายา วัคซีน ห้องปฏิบัติการ โดยกรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีน 2,655.30 ล้านบาท

3.การบำบัดรักษา ป้องกัน ควบคุมโรคและการวิจัย โดย สปสช. 6,764.90 ล้านบาท

4.เตรียมสถานพยาบาลในการรักษาและกักตัวผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ 10,182.73 ล้านบาท

5.รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินการระบาด 1,496.57 ล้านบาท

ขณะนี้มีโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินไปแล้ว 13 โครงการ วงเงิน 17,610.48 ล้านบาท ได้แก่ ค่าบริการสาธารณสุข, ค่าตอบแทน อสม./อุปกรณ์ห้องแยกโรค ,พัฒนาระบบบริการสุขภาพ ,จัดซื้อชุด PPE, Isolation Gown, N 95, Mask, วัคซีนโควิด 19, วัสดุควบคุมป้องกันโรค, เครื่องฉายรังสีรักษา, พัฒนาห้องปฏิบัติการ/เครื่องมือ/คุณภาพวัคซีน และค่าปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์  ข้อมูล ณ วันที่ 16 เมษายน 2564 ได้ดำเนินการเบิกจ่ายไปแล้ว 5,859.92 ล้านบาท คิดเป็น 33.28 % ทั้งนี้ ยังมีโครงการที่รอจัดสรรอีก 26 โครงการ วงเงิน 8,215.40 ล้านบาท และมีวงเงินเหลือ 19,174.12 ล้านบาท

“การใช้เงินที่ได้มามีแผนการใช้ชัดเจน ครอบคลุมทุกมิติทั้งการควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาล รวมถึงการวิจัยพัฒนา การจ่ายค่าตอบแทนค่าเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่ ทำให้เรามียารักษาโรค มีวัคซีนเพียงพอกับกลุ่มเป้าหมาย มีการเพิ่มเตียง ขยายเตียงรักษาในรูปแบบต่างๆรองรับผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อเหมาะสมกับอาการ เจ้าหน้าที่มีขวัญกำลังใจดูแลประชาชน โดยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย รัฐ เอกชน ประชาชน ที่สำคัญงบประมาณที่นำมาใช้ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การระบาดของโรค เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ดีที่สุด”นพ.สุระ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง