เปิดผลสอบ "กรุ๊ปลีส" พบเส้นทางการเงินปริศนาเพียบ

27 เม.ย. 2564 | 02:46 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2564 | 02:04 น.

หลังมีการ ร้อง ก.ล.ต.ตรวจสอบ บริษัทกรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ "GL" และบริษัทย่อยในกัมพูชา ล่าสุดมีการเปิดผลสอบกรุ๊ปลีส พบเส้นทางการเงินปริศนาเพียบ

วันที่ 27 เม.ย.64 จากกรณีที่ฐานเศรษฐกิจได้เสนอข่าวกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต.ได้รับรายงานการตรวจสอบจาก นายสกล หาญสุทธิวารินทร์ อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบ บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด มหาชน ถึงเลขาธิการ ก.ล.ต. เรื่องพฤติการณ์อันควรสงสัยของกรรมการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของ บริษัทกรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ "GL" เนื่องจากพบพฤติกรรมที่น่าสงสัยในการทำธุรกรรม  

โดย บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชีจำกัด ผู้สอบบัญชีของบริษัทกรุ๊ปลีสจำกัด (มหาชน) หรือ GL แจ้งข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการตรวจสอบของ GL ตามมาตรา 89/25 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ พ.ศ.2535 พบพฤติกรรมที่น่าสงสัยในการทำธุรกรรมของ จีแอล ไฟแนนซ์ ประเทศกัมพูชา (GLF) บริษัท ย่อยของ GL กรณี GLF โอนเงินให้ AFP Trading Co. Ltd  หรือ APFT เป็นเงิน 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไม่ได้รับคำชี้แจงที่กระจ่างจากผู้บริหารของ GL และเชื่อว่าอาจมีการโอนเงินในทำนองนี้ไปให้ APFT หรือนิติบุคคลอื่นอีกหลายครั้ง  ล่าสุดมีการเปิดเผยผลการตรวจสอบดังนี้ 

1.คณะกรรมการตรวจสอบมีหนังสือลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์2564 ถึง CEO ของGL ให้ผู้เกี่ยวข้อง ชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการตรวจสอบ สอบถาม 

2. ณ วันที่ 15 มีนาคม 2564 ฝ่ายบริหารของ GL และ GLF ยังไม่ได้ส่งคำชี้แจงใดฯและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

3. คณะกรรมการตรวจสอบได้รับเอกสารจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงส่งมาในฐานะผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต (Whistle blower ) ที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ และขอรับความคุ้มครองตามนโยบายแจ้งเบาะแสการทุจริต คือ

  • เอกสารที่ส่งมาจากผู้จัดการกลุ่มงบการเงินรวม นำส่ง รายงานสรุปรายการที่เกิดขึ้นระหว่าง GLFและกิจการที่เกี่ยวข้องกัน รวม7หน้า และรายละเอียดค่าบริการเป็นที่ปรึกษาระหว่างGLF และ APFT   
  • ได้รับแจ้งข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารที่ที่เกี่ยวข้องทาง e-mail  เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564  นำส่งเอกสารชื่อ “AC GLF APFT investigation Support” พร้อมไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้องมีจำนวนมากในโปรแกรม Drop box ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบ พิมพ์ออกเฉพาะที่เห็นว่าเป็นหลักฐานสำคัญ  
  • เอกสารหัวข้อ “ Information on APFT and GLF/AOFT transaction ที่นาย Clement Reversat ซึ่งเป็น CFOของ GLF ทำถึงคณะกรรมการตรวจสอบ  

4. คณะกรรมการตรวจสอบได้ตรวจสอบพิจารณาข้อเท็จจริง จากเอกสารดังกล่าวข้างต้นแล้วเห็นว่าการทำธุรกรรมสำคัญที่น่าสงสัย ดังนี้


1. กรณีที่ GLF จ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่ APFT เพื่อการจัดหารถจักรยานยนต์  มีการการทำ MOU ระหว่าง GLF กับ APFT  โดยผู้ลงนามฝ่าย GLF คือ นาย Riki Ishigami ผู้เป็น CEOของ GLF และกรรมการของ GL (โครงสร้างกรรมการและผู้บริหาร GLF ผู้ลงนามฝ่าย APFT คือนาย  Yusuke Kozuma ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและCEO ของ APFT จดทะเบียน บริษัท APFT และเป็นกรรมการ GL ด้วย

ซึ่งตาม MOU ดังกล่าว ฝ่าย GLF ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าให้APFT เพื่อจัดหารถจักรยานยนต์ฮอนดา ในราคันละประมาณ 2,000 เหรียญสหรัฐ จำนวน 6,000คัน เงินที่ GLF ตองจ่ายล่วงหน้าให้ APFT  มูลค่า 16.67 %ของราคารถจักรยานยนต์ 6,000 คัน อันถือเป็นเงินมัดจำ เงินมัดจำนี้จะถูกหักลบกลบหนี้กับมูลค่ารถจักรยานยนต์ที่ GLF ได้รับ โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าเงินมัดจำลดลง ถึง 50% GLF ต้องเติมเงินมัดจำให้APFT อีก

2.การทำธุรกรรมตาม MOU ในการที่ GLF จ่ายเงินล่วงหน้าให้APFT มีข้อน่าสงสัย ดังนี้

ผู้ลงนามฝ่าย APFT คือนาย Yusuke Kozuma  ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น และเป็น CEO ของ APFT  และเป็นกรรมการและผู้ช่วย CEO ของ GLF ด้วย และทั้งนาย Yusuke Kozumaและนาย Riki Ishigama

ต่างก็เป็นกรรมการของGL ด้วย การที่ Yusuke Kozuma ซึ่งเป็นผู้ช่วย CEO และกรรมการ GLF กรรมการ GL  เป็นผู้ถือหุ้นและ CEO ของ APFT  ฝ่ายบริหารของGL ไม่เคยเปิดเผยให้คณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการตรวจสอบทราบ แม้การตรวจสอบของคณะกรมการตรวจสอบในครั้งนี้ นายทัตซึยะ โคโนชิตะ อดีต CEO และเป็นรอง CEO ในปัจจุบันยังได้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ให้เปิดเผยหรือส่งเอกสารที่ที่แสดงให้เห็นว่า นายYusuke Kozuma เป็นผู้ถือหุ้นและผู้บริหารของ APFT

ในการทำธุรกรรมตามMOU ดังกล่าว ในปี 2563 GLF โอนเงินล่วงหน้าให้ APFT  69 ครั้ง ซึ่งเป็นรายงานการกระทบยอดเงินจ่ายล่วงหน้าให้แก่ APFT เพื่อการจัดหารถจักรยานยนต์ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2019 ถึง 31 ธันวาคม 2020 จะพบว่ามีการจ่ายเงินให้ APFT ถึง 9.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งที่เงินจ่ายคงค้าง ณ 31 ธันวาคม 2019 มีมากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยทั้งปี APFT จัดหารถจักรยานยนต์ฮอนดาให้ GLF และได้นำมาหักกลบกับเงินจ่ายล่วงหน้าเพียง 7.5 ล้านเหรียญสหรัฐทำให้ยอดเงินจ่ายล่วงหน้าให้แก่ APFT เพื่อการจัดหาจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ  

และตามย่อหน้าสุดท้ายของหน้า 3 ระบุว่า การจ่ายเงินล่วงหน้าให้ APFT มีบางส่วนค้างมาตั้งแต่ปี 2017 และ GLF ได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้จำนวน 4,936,370 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 148.27 ล้านบาท) แล้ว GLF ควรทำการทวงถามเงินจ่ายล่วงหน้านี้คืนจาก GLF ก่อน แต่GLF กลับให้เงินจ่ายล่วงหน้าแก่APFT เพิ่มอีกโดยรู้อยู่แล้วว่ามีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินคืน

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ณ วันที่31 ธันวาคม2563 มีช่องว่างส่วนต่างของเงินที่ GLF โอนให้ APFT เทียบกับจำนวนรถจักรยานยนต์ที่ได้รับถึง 12 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าAPFT นำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นมากกว่าจัดหารถจักรยานยนต์ให้GLF เช่นนำไปจ่ายค่าที่ปรึกษากฎหมาย เงินเดือนพนัก ภาษี เป็นต้น       

APFT นำเงินที่ GLF โอนให้ล้ำมูลค่าจักรยานยนต์มาก ไปใช้ทำอะไร นอกเหนือจากการซื้อรถจักรยานยนต์  มีการจำแนกเงินที่APFT นำไปใช้ ดังนี้ 

  • ประมาณ 5.3 ล้านเหรียญสหรัฐ นำไปให้ บริษัท Kuga และบริษัทอื่นที่มีชื่อเป็นผู้กู้เงินจากGLHที มีปัญหากู้อีกทอดหนึ่ง 
  • ในปี 2560 APFTโอนให้ นายมิทซีจิ โคโนชิตะ 133,000 เหรียญสหรัฐ 
  • ประมาณ 3.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้เป็นค่าที่ปรึกษากฎหมายและค่าทนายความ ที่มีการส่งใบเรียกเก็บเงินไปที่APFT ซึ่งมีทั้งจากสำนักกฎหมายในประเทศไทย ไซปรัส สวิตเซอร์แลนด์ และบริติชเวอร์จิ้น

ตัวอย่างใบแจ้งหนี้ (invoice)จากสำนักงานกฎหมายในประเทศไทย ถึงAPFT คือ

1.ใบแจ้งหนี้ลงวันที่ 4 มีนาคม 2563 จากสำนักงาน DLA Piper  เป็นเงินรวม 178,850 บาท เป็นค่าให้การปรึกษา จากการสอบสวน ของ DSI จากการถูกกล่าวหากระทำความผิดอาญา ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนายมิทซีจิ

2.ใบแจ้งหนี้ ของสำนักกฎหมาย HUNTON ลงวันที่ 15 มกราคม 2562 เป็นเงินรวม 433,211.68  บาท เรียกเก็บจาก APFT  เป็นค่าดำเนินการฟ้องคดีอาญา ต่อ JTA 

3.สรุป รายการค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมกันประมาณ 10.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นประมาณ 85% ของเงินที่ขาดหายไป และจากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นการที่ GLF จ่ายเงินล่วงหน้าให้ APFT เพื่อจัดหารถจักรยานยนต์ ในระยะแรกอาจมีเจตนาเช่นนั้น

แต่ระยะหลัง การจัดหารถจักรยานยนต์ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลัก แต่น่าจะเจตนาโอนเงินเพื่อให้นายมิทซีจิ สามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้ จ่ายได้ตามที่ต้องการ เพราะ APFT  มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 98.8 % คือบริษัท  Asia Partnership Fund PTE Ltd. ที่นายมิทซีจิ เป็นเจ้าของ ตามเอกสารหนังสือรับรองการจดทะเบียน ของทางการสิงค์โป  

มีเอกสารสำคัญจากฝ่ายบริหารของ GL คือนายริกิ อิชิกามิ CEO และนายทัตซึยะ CLF  ถึงเจ้าหน้าที่ APFT ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ยืนยันชัดแจ้งว่า ว่า GLF ส่งเงินไปให้ APFT ณวันที่ 30 กันยายน 2563 เป็นเงิน 12,031,836.05 เหรียญสหรัฐ และณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นเงิน12,318,516.05 เหรียญสหรัฐ  จึงขอให้ยืนยันวัตถุประสงค์ และการใช้เงินดังกล่าว และแยก จำนวนเงินที่ใช้ไปในการซื้อรถจักรยานยนต์และจำนวนรถจักรยานยนต์ในสต๊อก  

และทางGL และ GLF จะไปตรวจสต๊อกรถจักรยานยนต์โดยร่วมตรวจกับเจ้าหน้าที่ของ APFT หรือช่วย GL และ GLF ก็ได้ เพื่อจะยืนยันตัวเลขสต๊อกรถจักรยานยนต์กับ KPMG ผู้สอบบัญชีต่อไป  และย้ำเพิ่มเติมว่า สำหรับธุรกรรมระหว่าง GLF และ APFT ในปี 2564 ขอให้ระบุวัตถุประสงค์การใช้เงิน เป็นการซื้อรถจักรยานยนต์ และแจ้งข้อมูลเช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ข้างต้น

จากเอกสารดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า นายริกิ อิชิกามิ และนายทัตซึยะ ผู้บริหารและกรรมการของ GL ทราบรายละเอียดในการที่ GLF โอนเงินไปให้ GLF ตลอด และทราบดีว่าเงินที่โอนไปนั้นมิได้ใช้เพื่อซื้รถจักรยานยนต์เท่านั้น แต่มีการนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นด้วย  แต่ปกปิดข้อมูลไม่ยอมชี้แจงต่อกรรมการอิสระที่ซักถาม และผู้สอบบัญชี KPMG  และเห็นได้ชัดเจนว่า การจัดหารถจักรยานยนต์ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักแล้ว เพราะไม่ได้สนใจว่ามีรถจักรยานยนต์ในสต๊อกเท่าใด เพราะเพิ่งสอบถามตัวเลขสต๊อกจากหนังสือฉบับดังกล่าวเอง

การจ่ายเงินล่วงหน้าอื่นให้แก่ APFT เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม2020 GLF และAPFT ได้ทำสัญญาโอนเงินล่วงหน้าโดยGLF ตกลงโอนเงินให้APFT จำนวน 1,400,000 เหรียญสหรัฐ  ไม่มีการคิดดอกเบี้ยฝ่าย GLF ลงนามโดย นาย Riki Ishigami ฝ่ายAPFT ลงนามโดย นาย นายYusuke Kozuma  ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2020 APFTF โอนเงิน1,400.00  เหรียญสหรัฐคืนให้ GLF  เหตุที่ APFT รีบคืนเงินให้ GLF น่าจะเป็นเพราะในการประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อเดือน ตุลาคม และเดือน พฤศจิกายน 2563  กรรมการอิสระได้ซักถาม นายริกิ อิชิกามิ ที่เป็นกรรมการGL และเป็นผู้บริหาร GLF ถึงการโอนเงินล่วงหน้าให้ GLF แต่นาย ริกิ อิชิกามิ ไม่สามารถตอบคำถามได้ )     

การทำสัญญาจ้างที่ปรึกษา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 GLF จ้างAPFT เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายกับด้านธุรกิจ ฝ่าย GLF ลงนามโดย นาย Riki Ishigami CEOของGLF ฝาย APFT ลงนามโดย นายDiam Ratanak กรรมการของ APFT อัตราค่าจ้างที่ปรึกษาเดือนละ150.000 เหรียญสหรัฐ ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก10%

โดยผู้รับจ้างปรึกษาจะออกรายงาน ทุกวันที่ 5 ของเดือนให้ผู้ว่าจ้าง  สัญญามีอายุหนึ่งปี และ เมือวันที่ 16 ธันวาคม 2563 GLF โดย อนุมัติของนาย Riki Ishigami ที่เป็น CEO ของ GL และกรรมการของ GLF ได้จ่ายค่าบริการที่ปรึกษาให้ APFT เป็นเงิน 150,000 เหรียญสหรัฐ  และเนื่องจากต้องจ่ายค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอีก10%  อีก 15,000บาท  เป็นเงินที่ต้องจ่ายรวม 165,000เหรียญสหรัฐ นาย YusukeKozuma  กรรมการของ GL และ GLF เป็นผู้อนุมัติให้โอนผ่านทางออนไลน์ของธนาคาร เอบีเอ ต่อมาเมื่อวันที่31 ธันวาคม 2563 ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยกเลิกสัญญาจ้างแล้ว 

ข้อน่าสงสัย  

1.ลักษณะและขนาดของธุรกิจของ GLF ไม่มีความจำเป็นถึงขนาดที่ต้องจ้างที่ปรึกษาด้านกฎหมายและด้านธุรกิจ  สัญญาจ้างไม่มีการระบุขอบเขตของงานการให้คำปรึกษาที่ชัดเจน ไม่มีการแจกแจงรายละเอียดขั้นตอนวิธีการให้คำปรึกษา และรายละเอียดค่าบริการตามที่พึงมีตามปกติของสัญญาจ้างที่ปรึกษาทั่วไป  หากจำเป็นต้องจ้างก็ควรจ้างผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง  ด้านบุคลากรของ APFT ก็มีไม่กี่คน

จากข้อมูลที่ได้รับจากผู้บริหารของ GLF ตามข้อมูลที่เคยได้รับจาก APFT ณ เดือนตุลาคม2562 APFT มีบุคลากร 2 คน คือนาย Yusuke Kozuma  ซึ่งเป็นกรรมการของ GLF และ GL และนาย Chhou Vansonita  เป็นเจ้าหน้าที่ด้านคลังสินค้า ไม่มีพนักงานผู้ใดปฏิบัติงานให้คำปรึกษาได้  ส่วนค่าจ้างที่ปรึกษาก็แพงมาก แม้เทียบกับการจ้างที่ปรึกษาลักษณะดังกล่าวในประเทศไทย 

 2.การจ้างที่ปรึกษา ดังกล่าวไม่มีการนำเสนอคณะกรรมการGL พิจารณาแต่อย่างใด

 3.สัญญาจ้างที่ปรึกษาดังกล่าวมีผลบังคับใช้มาเพียง16 วัน ก็มีการอนุมัติจ่ายค่าจ้างแล้ว โดยยังไม่ปรากฏว่ามีการเสนอรายงานตามสัญญาจ้างแต่อย่างใด ปรากฏตามเอกสารรายละเอียดค่าบริการที่ปรึกษาระหว่าง GLF และ APFT 

4.การทำสัญญาจ้างข้างต้น น่าจะเป็นวิธีการอำพรางในการโอนเงินของ GLF ไปให้ APFT  อีกวิธีหนึ่ง 

การทำสัญญาให้ CPMI กู้เงิน  เมื่อวันที่12 มกราคม 2564 GLF  ได้ทำสัญญาให้  Cambodian People Micro Insurance PLc. (CPMI) กู้เงิน 500,000 เหรียญสหรัฐ ระยะเวลาหนึ่งปี ผู้ลงนามฝ่าย GLF คือนาย Riki Ishigami  ซึ่งเป็น CEO และกรรมการ GL และเป็น CEOแ ละกรรมการของGLF  

ผู้ลงนามฝ่าย CPMI คือ นายYusuke Kozuma ซึ่งเป็น CEO  ของ CPMI และเป็นผู้ช่วย CEO เป็นกรรมการของGLF และ GL  ซึ่งทาง GLF  ได้โอนเงินตามสัญญากู้ให้ CPMI แล้วเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 

ข้อน่าสงสัย

1.การทำสัญญากู้เงินระหว่าง GLFและCPMI ดังกล่าวเป็นการทำธุรกรรมระหว่างผู้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างชัดแจ้ง และก็มีความเกี่ยวข้องกับ GLด้วย  และไม่ปรากฏว่ามีการนำเสนอคณะกรรมการGLพิจารณาแต่อย่างใด

2. ผู้บริหาร GLF ตั้งข้อสังเกตว่า  หลังจาก GLF โอนเงินให้ APFT หลังสุดเมื่อเดือน  ธันวาคม 2563 แล้วต่อมาในเดือนมกราคม 2564 ก็ไม่มีการโอนเงินอีก เนื่องจากผู้บริหารถูกกรรมการอิสระซักถาม เรื่องนี้อย่างหนัก การที่ GLF ทำสัญญาให้ CPMI กู้เงินดังกล่าวเป็นวิธีการที่ GLF ยังคงจ่ายเงินให้ APFT สำหรับค่าใช้จ่ายพิเศษ  แต่เปลี่ยนเป็นการผ่านทางการกู้เงินของ CPMI

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้เป็นผู้แจ้งเบาะแสกรทุจริต ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมของ GLFมาให้คณะกรรมการตรวจสอบทาง e-mail เพิ่มเติม เป็นเรื่องที่ GLF ทำสัญญาจ้างสำนักงานกฎหมาย ในกัมพูชา SKYWON  บริการให้คำปรึกษากฎหมายที่เกี่ยวกับ กฎหมายพาณิชย์

โดยเฉพาะการรวมและการเลิกบริษัท ค่าบริการ รวม 190,000 เหรียญสหรัฐ  การทำสัญญาจ้างสำนักกฎหมาย SKYWON อนุมัติโดยมติที่ประชุมคณะกรรมการ GLF ซึ่งมีบุคคลที่เป็นกรรมการ GL 3 คน คือ นาย Muneo Tashiro นาย Riki Ishigami และนาย Yusuke Kozuma  

ในสัญญาผู้ลงนามฝ่ายGLF คือนาย Riki Ishigami ในการทำสัญญาจ้างสำนักงานกฎหมายดังกล่าว ผู้บริหารและกรรมการที่เป็นฝ่ายบริหารของ GL ปกปิดไม่ให้คณะกรรมการตรวจสอบและผู้สอบบัญชีทราบ เพราะไม่ต้องการให้รู้ว่า GLF มีมีปัญหาทางคดี (การอ้างว่าจ้างปรึกษากฎหมายตามที่ระบุในสัญญาเป็นการอำพรางข้อเท็จจริง)

ตามสัญญาจ้างสำนักกฎหมายดังกล่าว มีการจ่ายเงินค่าจ้าง ตามใบแจ้งหนี้(invoice) ที่ตรวจพบ 4 ครั้ง คือ 

  • ตามใบแจ้งหนี้ ลงวันที่ 15 เมษายน 2563 เป็นค่าจ้างที่อ้างถึงกรณีที่  JTA ฟ้อง GLH และ GLF ในกัมพูชา  
  • ตามใบแจ้งหนี้ลงวันที่ 1กันยายน 2563  เป็นค่าจ้างที่อ้างถึงกรณีที่ JTA ฟ้องGLF ในกัมพูชา ที่มีการอ้างถึงคำขอโต้แย้งเพื่อสงวนสิทธิในการขอให้ยกเลิกการอายัดทรัพย์ 
  • ตามใบแจ้งหนี้ ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เป็นค่าจ้างที่ปรึกษาที่อ้างถึงการดำเนินการะบวนพิจารณาในศาล  
  • ตามใบแจ้งหนี้ ลงวันที่3 กุมภาพันธ์ 2564   2563 เป็นค่าจ้างที่อ้างถึงคำปรึกษากรณีที่ศาลมีหมายเรียกตามที่JTA ร้องขอให้มีการอายัดทรัพย์ต่อศาลกัมพูชา และคำปรึกษาในการสู้คดี 

ข้อน่าสงสัย

ในนการทำสัญญาจ้างสำนักงานกฎหมายดังกล่าว ผู้บริหารและกรรมการที่เป็นฝ่ายบริหารของGL ปกปิดไม่ให้คณะกรรมการตรวจสอบและผู้สอบบัญชีทราบ เพราะไม่ต้องการให้รู้ว่าGLF มีปัญหาทางคดี (การอ้างว่าจ้างปรึกษากฎหมายตามที่ระบุในสัญญาเป็นการอำพรางข้อเท็จจริง)        

จากเอกสารการจ่ายค่าจ้างให้แก่สำนักงานกฎหมายดังกล่าว น่าจะเป็นกรณีที่ GLF ถูก JTA ฟ้องเป็นคดีและถูก JTA ร้องขอให้อายัดทรัพย์แล้วแต่ผู้บริหารของ GL และGLF ไม่ได้แจ้งให้คณะกรรมการตรวจสอบและผู้สอบบัญชี KPMG ทราบ และผู้บริหารของ GL ก็มิได้รายงานให้ตลาดหลักทรัพย์ทราบตามระเบียบและเปิดเผยต่อสาธารณะแต่อย่างใด
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ยื่น ก.ล.ต.สอบ​ เส้นทางเงินปริศนากรุ๊ปลีส