นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการเร่งผลิตตู้ตรวจโควิดเพิ่มเติม โดยสั่งการให้หน่วยงานทั่วประเทศที่มีศักยภาพระดมกำลังผลิตเพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้งาน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสามได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพนักงานจิตอาสา กฟผ. ได้ผลิตตู้ตรวจโควิดมอบให้สถานพยาบาลต่าง ๆ ได้ใช้งาน ตั้งแต่สถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรน่า-19 (Covid-19) เริ่มระบาดเมื่อปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนถึง 500 ตู้ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งโรงพยาบาล หน่วยงานสาธารณสุข และโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ
สำหรับโรงพยาบาลสนามที่มีความจำเป็นต้องใช้งานตู้ตรวจโควิดสามารถติดต่อประสานงาน กฟผ. โดยตรงทางอีเมล [email protected] โดย กฟผ. จะพิจารณาจัดสรรตามความเหมาะสมและเร่งดำเนินการอย่างสุดกำลังความสามารถ
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ว่ามีผู้จำเป็นต้องได้รับการตรวจคัดกรอง เนื่องจากสัมผัสผู้ติดโควิดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ตู้ตรวจโควิดของ กฟผ. จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งในการลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์และยังทำให้ประหยัดชุด PPE อีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตู้ตรวจโควิดของ กฟผ. มีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าเชื้อโรค ทำให้อากาศสะอาด เสริมความมั่นใจในการตรวจคัดกรองของทีมแพทย์ ทำให้มีความสะดวก รวดเร็ว และเพิ่มความสามารถในการให้บริการ
พันเอกณัฏฐ์พฤทธ์ ชัชชัยวรกฤศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า โควิด-19 รอบ 3 มาแบบไม่ทันตั้งตัว ในขณะที่โรงพยาบาลยังปรับตัวไม่ทัน ซึ่งการสนับสนุนตู้ตรวจโควิดของ กฟผ. ทำให้บุคลากรทางการแพทย์รู้สึกปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น
แพทย์หญิงปริยสุทธิ์ อินทสุวรรณ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลสิรินธร จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ได้ติดต่อประสานงานกับ กฟผ. และได้รับการสนับสนุนตู้ตรวจโควิดอย่างรวดเร็ว โรงพยาบาลสามารถให้บริการทางการแพทย์ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ บุคลากรทางการแพทย์มีความมั่นใจถึงความปลอดภัยและสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่
สำหรับตู้ตรวจโควิดของ กฟผ. ประดิษฐ์ขึ้นโดยพนักงานจิตอาสาทั่วประเทศ ภายใต้การออกแบบและให้คำแนะนำของนายแพทย์อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้งานสูงสุด ตัวตู้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมทรงสูง ผลิตจากแผ่นอะคริลิกหนา สีใส ภายในมีช่องใส่ถุงมือปิดซีลอย่างมิดชิด
โดยมีการติดตั้งระบบควบคุมแรงดันอากาศ ระบบหมุนเวียนอากาศ ระบบกรองอากาศและฆ่าเชื้อโรคประสิทธิภาพสูง พร้อมติดตั้งล้อเลื่อนเพิ่มความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายและใช้งานในพื้นที่หลากหลาย รวมถึงได้มีการพัฒนาเสริมความแข็งแกร่งคงทนของตู้ด้วยโครงสแตนเลส และได้ติดตั้งไมโครโฟนและลำโพงสำหรับใช้สื่อสารระหว่างแพทย์และผู้รับบริการในตู้รุ่นใหม่อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :