วันที่ 28 เม.ย.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันช่วงหนึ่งถึงปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนว่า สำหรับรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 เดือนเม.ย.ถึงวันที่ 25 เม.ย. มีผู้เชื้อจำนวน 20,721 ราย 3 อันดับแรก ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คนติดเชื้อโควิด-19 อันดับที่หนึ่ง 44.3% คิดเป็น 9,177 ราย คือ การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้หมายความว่า ผู้ป่วยไม่ได้มีการระมัดระวัง หรือว่ามีการแยกกักได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที ก็เป็นเหตุให้ยังใช้ชีวิตใกล้ชิดกับบุคคล ตอนนี้ถึงได้มีการออกมาตรการมากมายในระยะนี้ ในแง่ของการเว้นระยะห่าง และขอความร่วมมือให้สวมใส่แมสก์ หรือว่าบางพื้นที่มีการกำหนดเป็นกฎหมาย อันดับที่สอง สถานบันเทิง 5,226 ราย คิดเป็น 25.2% อันดับสาม การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกและค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนจำนวน 2,025 ราย คิดเป็น 9.8%
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 ในการระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564 ข้อมูลถึงวันที่ 25 เมษายน 2564 มีดังนี้
1.การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ จำนวนผู้ป่วย 9,177 ราย
2.สถานบันเทิง จำนวนผู้ป่วย 5,226 ราย
3.การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกและค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน จำนวนผู้ป่วย 2,025 ราย
4.ตลาดนัด/สถานที่ท่องเที่ยว จำนวนผู้ป่วย 1,336 ราย
5.การสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลในสถานที่ทำงาน จำนวนผู้ป่วย 703 ราย
6.ร้านอาหาร จำนวนผู้ป่วย 294 ราย
7.ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ จำนวนผู้ป่วย 176 ราย
8.การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้เดินทางมาจากจังหวัดที่มีการระบาด จำนวนผู้ป่วย 164 ราย
9.งานประเพณีต่าง ๆ จำนวนผู้ป่วย 155 ราย
10.งานแสดงสินค้า/คอนเสิร์ต จำนวนผู้ป่วย 148 ราย
11.การทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ จำนวนผู้ป่วย 111 ราย
12.บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข จำนวนผู้ป่วย 76 ราย
13.ต่อเนื่องจากคลัสเตอร์ สมุทรสาคร จำนวนผู้ป่วย 72 ราย
14.งานอบรม/สัมมนา จำนวนผู้ป่วย 69 ราย
15.ระบบขนส่งสาธารณะ จำนวนผู้ป่วย 68 ราย
16.ศูนย์กักกัน ผู้ต้องกัก ผู้ต้องขัง จำนวนผู้ป่วย 54 ราย
17.สถานที่ออกกำลังกาย/กีฬา จำนวนผู้ป่วย 47 ราย
18.วัด/สถานปฏิบัติธรรม จำนวนผู้ป่วย 22 ราย
19.ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ จำนวนผู้ป่วย 798 ราย
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมศบค.ยังคงมีการติดตาม เรื่องที่ยังมีผู้ป่วยรอเตียงรักษา หรือโทรสายด่วนไม่ติด ตรงนี้ต้องเรียนย้ำว่า หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ พยายามที่จะหารือ บูรณาการทำงานร่วมกัน พยายามที่จะหาข้อสรุปรายวัน ที่จะนำพี่น้องเหล่านี้เข้าสู่ระบบเฝ้่าระวัง ดูแล และการจัดหาเตียงให้พวกท่านปลอดภัย มาดูทิศทางให้เห็นภาพ กรมการแพทย์รายงานตัวเลขของวันที่ 27 เมษายน จากจำนวนผู้ป่วยยืนยัน 9,645 ราย มีจำนวนสูงที่อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มอาการรุนแรง อาการปานกลาง รวมแล้วเกินพันราย ซึ่งกลุ่มนี้ไม่สามารถไปโรงพยาบาลสนาม หรือฮอสปิเทส ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ติดตาม เพราะมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับคลัสเตอร์สมุทรสาคร ในช่วงของเดือนมกราคมที่เราได้รับการดูแลผู้ป่วย และส่วนหนึ่งไม่มีอาการหรือมีอาการค่อนข้างน้อยคิดเป็นตัวเลขถึง 90% แต่ตอนนี้จะเห็นตัวเลขของผู้ป่วยที่ต้องการเตียงที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น
แต่ละวันมีจำนวนผู้ป่วยรอเตียง รอการบริหารจัดการให้เข้ารับการรักษาที่เหมาะสม แต่ขณะเดียวกันเรามีผู่ป่วยที่เพิ่มขึ้นในลักษณะที่ก้าวกระโดด มีผ้ป่วยอาการหนัก และรวมไปถึงกลุ่มที่ใส่ท่อหายใจ หรือเครื่องช่วยหายใจ โรงพยาบาลสนามที่มีการเปิดเพิ่ม แต่ในบางพื้นที่ ยกตัวอย่าง กทม. อาจจะไม่ตอบโจทย์ เพราะว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเมื่อมีการสอบอาการแล้วพบว่า เป็นผู้ป่วยกลุ่มอาการปานกลางหรือหนัก หรือจำเป็นต้องใช้ท่อช่วยหายใจ จึงต้องบริหารจัดการเตียงให้กับกลุ่มที่มีความต้องการเหล่านี้
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังอธิบายถึงการจัดลำดับผู้ป่วยที่จะได้รับเตียงในโรงพยาบาลว่า มีความละเอียดอ่อนสลับซับซ้อน และไม่ใช่ว่าใครมาก่อนจะได้เตียงก่อน แต่แพทย์จะพิจารณาที่อาการของผู้ป่วย เช่น หากมีเตียงว่าง 100 เตียง มีผู้ติดเชื้อที่รอเตียง 100 คน แต่หากในวันนั้นมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่เป็นผู้ป่วยสีแดงอาการหนัก 5 คน แพทย์ก็อาจจะพิจารณานำผู้ป่วยหนักเข้าเตียงก่อน
ส่วนสายด่วนที่ประสานเกี่ยวกับการจัดหาเตียง ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บุคลากรที่ทำหน้าที่ต่างก็พยายามกันอย่างเต็มที่ที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยทุกคน มีการประชุมเพื่อปรับปรุงการทำงานทุกวัน และรับฟังคำตำหนิข้อแนะนำต่างๆ เพื่อปรับปรุงการบริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้นทุกวัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง