นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้(6 พ.ค.64)ช่วงหนึ่งว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของกรุงเทพฯรวมกับปริมณฑล มีผู้ติดเชื้อรวมมากกว่าครึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ ตัวเลขวันที่ 6 พ.ค. กรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ 1,298 ราย กรุงเทพฯดูจะดีขึ้นนิดหน่อย 739 ราย จากวันก่อนหน้าที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 789 ราย นนทบุรี 273 ราย เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 249 ราย สมุทรปราการ 143 รายดีขึ้น สมุทรสาคร 65 ราย เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 51 ราย นครปฐม 47 ราย เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11 ราย ปทุมธานี 31 รายดีขึ้น
รายละเอียดของกรุงเทพฯและปริมณฑลถูกนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อเห็นกราฟของกรุงเทพฯแล้ว ยังไม่น่าไว้วางใจ กราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูง ส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนแออัด ตลาด
โดยศูนย์บูรณาการแก้ไขโควิด-19ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลยอดผู้ติดเชื้อระลอกเดือน เม.ย. ซึ่งดูแนวโน้มแล้วยังสูงขึ้น โดย 10 เขต ในพื้นที่ กทม. ที่พบผู้ป่วยสะสมมากที่สุด ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-5 พ.ค. คือ 1.ห้วยขวาง 463 ราย 2.ดินแดง 426 ราย 3.บางเขน 357 ราย 4.วัฒนา 330 ราย 5.จตุจักร 356 ราย 6. ลาดพร้าว 325 ราย 7.วังทองหลาง 300 ราย 8.สวนหลวง 290 ราย 9.บางกะปิ 282 ราย และ 10. บางแค 241 ราย
ชุมชนที่เป็นคลัสเตอร์สำคัญ คือ ชุมนุมคลองเตย ชุมนุมพัฒนาบ่อนไก่ ปทุมวัน และชุมชนบ้านขิงเขตบางแค
สำหรับคลัสเตอร์สำคัญในเขตบางแค โดยได้ตรวจเชิงรุกในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในช่วง 28 เม.ย.ถึง 1 พ.ค. 1,413 ราย พบผู้ติดเชื้อ 68 ราย และตรวจที่ท่าปล่อยรถเมล์ ต้นทางสาย 7 ที่มีพนักงาน 100 คน พบผู้ติดเชื้อ 4 คน และได้ทำการตรวจเชื่อมโยงไปยังบ้านพักที่อยู่ในชุมชนบ้านขิง ซึ่งมีประชากร 1,000 คน ซึ่งเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ได้รับแจ้งพบผู้ติดเชื้อ 30 ราย วันที่ 30 เม.ย. ได้ทำการ Swab 316 ราย พบผู้ติดเชื้อ 24 ราย และวันที่ 3 พ.ค. ได้ตรวจเชิงรุกอีก 576 ราย พบผู้ติดเชื้อ 25 ราย
นอกจากนี้ ผลการตรวจเชิงรุกในพื้นที่กทม. ระหว่างวันที่ 5 เม.ย.-5 พ.ค. ทั้งในสถานบันเทิง สถานประกอบการ ตลาด ชุมชน ห้างสรรพสินค้า รวม 42,251 ราย พบผู้ติดเชื้อ 1,677 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพว่า ในชุมชน ที่เข้าไปตรวจ 100 คน จะมีประมาณ 4 คนที่ติดเชื้อ การใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย รวมถึงการเว้นระยะห่างจึงมีความสำคัญ
นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า กทม.มีแผนการตรวจเชิงรุกใน 6 กลุ่มเขต ในวันที่ 5-11 พ.ค.นี้ โดยแบ่งเป็น กรุงเทพเหนือ ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพตะวันออก ที่สวน 70 พรรษา เขตมีนบุรี กรุงเทพกลาง ที่สนามกีฬาห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพใต้ ที่ลานกีฬาหน้าชุมชนวัดช่องลม เขตยานนาวา กรุงเทพเหนือ ที่สวนสาธารณะใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด และกรุงเทพใต้ ที่ เดอะมอลบางแค เขตบางแค โดยศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักงานเขตในพื้นที่จะมีการตรวจสัปดาห์ละประมาณ 500 รายต่อแห่ง รวม 3,000 รายต่อวัน
และทาง กทม.จะมีการสุ่มตรวจตามบ้าน ประมาณ 250 ตัวอย่างต่อวัน รวมแล้วประมาณ 1,750 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ และทางกทม.ได้รับความร่วมมือจาก โรงแรมธำรงอินน์ จรัญสนิทวงศ์ โรงแรม My Hotel ห้วยขวาง และโรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท ที่ให้เป็นสถานที่กักตัวสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง แต่ยังไม่ติดเชื้อและจำเป็นต้องแยกออกมาจากครอบครัว ซึ่งโดยรวมแล้ว มีแผนตรวจ 26,850 คนต่อสัปดาห์ ซึ่งกทม.ได้เตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยไว้ 1,343 เตียงต่อสัปดาห์
ตั้งศูนย์บูรณาการฯไม่ซ้ำซ้อนศบค.
เมื่อถามถึงกรณีคณะกรรมการ 3 ชุดที่นายกรัฐมนตรีได้ตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการงานในส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะทำงานอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความทับซ้อนกับงานของศบค. นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้พล.อ.ณัฐพล ได้ชี้แจงในที่ประชุมให้เห็นภาพของความเชื่อมโยงการทำงานกับศบค.ที่มีนายกฯเป็นผอ.โดยเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารงานเพื่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คือ เป็นส่วนหนึ่งในศบค. ทำงานประสานงานเชื่อมโยงระหว่างคณะทำงานชุดต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องและเชื่อมโยงข้อมูลขึ้นมาสู่การบริหารจัดการในระดับที่นายกรัฐมนตรีจะได้เข้ามารับรู้ข้อมูลเป็นรายวันโดยเร็วเพื่อบริหารสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับภาคส่วนอื่นๆก็ยังดูแลกันเหมือนเดิม
ศบค.ปรับเวลาแถลงข่าวเป็น 12.30 น.เริ่มพรุ่งนี้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่มีการประชุมศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล โดยพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เป็นประธานในการประชุม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกำลังประชุม แต่จะนำข้อสรุปในการประชุมบางส่วนมารายงาน และตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.เป็นต้นไป ทางศบค. จะปรับเวลาการแถลงข่าวเป็น 12.30 น. เพื่อเตรียมความพร้อมในการสรุปการประชุมในช่วงเช้าที่มีประมาณ 3-4 คณะ เพื่อและนำมารายงานให้ประชาชนรับทราบได้ทัน จากนั้นเวลา 13.15-13.45 น. จะเป็นการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นต้น เพื่อมาสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อเป็นการบูรณาการนำเสนอข้อมูล และในบางวันเวลา 15.00 น. เลขาสมช.จะมีการไลฟ์สดเพื่อตอบคำถามและปัญหาต่างๆด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง