ศ.ภญ. ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการโครงการ AGRO GENIUS DIPROM เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ AGRO GENIUS DIPROM เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้นำแนวคิดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของคนไทย
โดยแนวคิดการจัดงานในปีนี้มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมใน 3 กลุ่มผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ กลุ่มอาหาร กลุ่มเครื่องสำอาง และกลุ่มเกษตรอื่นๆ ด้วยรูปแบบการให้คำปรึกษาเชิงลึกแบบ Coaching รายกิจการ เน้นการลงพื้นที่เพื่อศึกษา ให้คำแนะนำ พัฒนา คิดค้นสูตร โดยมีผู้ช่วยวิจัยในการร่วมพัฒนาสินค้าในห้องแล็บ นอกจากการให้คำปรึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์ ยังมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตราสินค้า ให้คำปรึกษาด้านการตลาด คำแนะนำในการจดทรัพย์สินทางปัญญา การหาทุนสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน เป็นต้น
“ปัจจุบันการทำธุรกิจของผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์หลัก แต่ขณะเดียวกันก็จะมีวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์เหลือใช้จำนวนมาก เช่น ผลิตภัณฑ์กากถั่วเหลืองซึ่งนอกจากจะนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ ยังสามารถนำไปเพิ่มมูลค่าด้วยการเป็นส่วนผสมในยา เพื่อช่วยให้ตอกขึ้นรูปจากได้และไม่มีผลต่อสรรพคุณของยา หรือเปลือกโกโก้ ซึ่งมีไฟเบอร์สูง แทนที่จะทิ้งก็สามารถนำไปพัฒนาเป็นสครับขัดผิววางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำและเป็นที่นิยมในชาวต่างชาติได้ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้ประกอบการสามารถสมัครเข้าร่วมเพื่อศึกษาและนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้”
อย่างไรก็ดี ใน 3 กลุ่มสินค้าทั้งกลุ่มอาหาร กลุ่มเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ ฯลฯ ล้วนสามารถนำไปพัฒนาและสร้างสรรค์ให้เป็นนวัตกรรมได้ โดยที่ผ่านมาทั่วโลกให้การยอมรับในผลงานสร้างสรรค์ของคนไทย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ผู้สนใจสามารถนำเสนอธุรกิจและนำมาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น โดยโครงการจะเปิดรับเข้าร่วม 60 กิจการแต่ละกิจการจะใช้เวลาในการรับคำปรึกษา 600 ชม. เฉลี่ยทั้งโครงการจะใช้เวลาในการดำเนินงาน 6-8 เดือน
“เบื้องต้นจะมีการนัดหมายเพื่อลงพื้นที่ ศึกษาพร้อมให้คำแนะนำก่อนนำไปทดลองปฏิบัติ พร้อมตามติดการทำงานประเมินปัญหา และโอกาสในการพัฒนาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลาจะมีการแลกเปลี่ยนโดยทีมงานที่มีประสบการณ์และความชำนาญในแต่ละด้าน”
ศ.ภญ. ดร.พรอนงค์ กล่าวอีกว่า การมีนวัตกรรมจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ที่ยังเปิดกว้างอีกมาก ซึ่งที่ผ่านมามีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของคนไทยที่สร้างชื่อและเป็นที่ยอมรับในฝั่งยุโรปและเอเชียเกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างไรก็ดีการเริ่มต้นในโครงการนี้ จะถูกต่อยอดสร้างเป็นเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนการนำเสนอสิ่งใหม่ๆต่อเนื่องต่อไปด้วย
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,677 วันที่ 9 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :