รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า
ดูจะเป็นที่น่าหนักใจสำหรับหมอปอดเมื่อต้องเผชิญกับผู้ป่วยปอดอักเสบโควิดจำนวนมากในวิกฤตระลอกสามนี้ มีบ้างที่ผ่านไป 2 สัปดาห์ก็แล้ว 3 สัปดาห์ก็แล้ว แต่ยังเอาไฮโฟลว์ออกไม่ได้ แต่ที่แย่หน่อยคือเอาเครื่องช่วยหายใจออกไม่ได้ เมื่อวานได้ทำซีทีสแกนกรณีแบบนี้ไปอีกราย เป็นผู้ป่วยชายวัยกลางคน วันที่ 5 ของโรค (D5) ปอดอักเสบมีเล็กน้อย พอถึงวันที่ 14 (D14) ปอดยังมีฝ้าเพิ่มขึ้นทั้งที่ได้ favipiravir และ dexamethasone ตั้งแต่แรก
ที่สำคัญคือยังต้องใช้ไฮโฟลว์ขนาดสูงมาก ผลการตรวจพบว่ามีลิ่มเลือดขนาดใหญ่อุดตันเส้นเลือดแดงปอด (saddle clot and eccentric clot, acute pulmonary embolism) รังสีแพทย์ยังตาดีเห็นฟองอากาศในเส้นเลือดแดงใหญ่ของปอดโดยบังเอิญด้วย (incidental air embolism in main pulmonary artery) รายนี้น่าเอาฟิล์มไว้สอบพวกเฟลโลว์ที่ช่วยทำงานตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อตอยู่ขณะนี้จริงๆ ไม่รู้จะเข้าตาซ้ายทะลุตาขวาเหมือนดูสไลด์เวลาสอนอีกหรือเปล่า (เตือนตัวเองไว้ อย่าลืมว่าผิดเป็น {ของ} ครู) แถมเนื้อปอดในตำแหน่งเดียวกันพบฝ้าขาวปริมาณมาก (intense ground-glass opacities, GGO)
ซึ่งส่วนนี้คิดว่าเป็นปอดอักเสบแบบไม่จำเพาะ (non-specific interstitial pneumonitis) หลังฟื้นจากโควิด หรืออาจเป็นจากการติดเชื้อแทรกซ้อน พรุ่งนี้ถ้าเป็นไปตามแผน มีผู้ป่วยเช่นเดียวกันนี้อีกรายแต่ใช้ออกซิเจนขนาดต่ำ (low-flow oxygen cannula) จะได้รับการทำการส่องกล้องหลอดลม (bronchoscopy) เพื่อล้างน้ำจากหลอดลมฝอยและปอด (bronchoalveolar lavage) มาตรวจอย่างละเอียด หวังว่าจะนำการเรียนรู้ที่ได้มาแบ่งปันกันในโอกาสต่อไป
เบื้องหลังทีมโควิดวิกฤตศิริราช นอกจากแพทย์และพยาบาลหน้างานแล้ว ยังมีบุคลากรสายสนับสนุนอีกมาก นอกจากนี้เรายังมีพันธมิตรทั้งจากภาควิชารังสีวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก ภาควิชาพยาธิวิทยา ภาควิชาวิสัญญี ภาควิชาหูคอจมูก ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู และอื่นๆ อีกมากมายจนจาระไนไม่หมด เราทำงานกันเป็นทีมโดยไม่ปล่อยให้ใครหนักเกินไปหรือว้าวุ่นเกินไปแต่ฝ่ายเดียว
#โควิดลงปอดไม่ง่ายอย่างที่คิด #สปิริตทีมโควิดศิริราช
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :