ท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่า "วัคซีนโควิด" ชนิดไหน จากผู้ผลิตประเทศอะไรดีกว่ากัน มีข้อมูลจาก รศ.นพ.นภชาญ เอื้อประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาอยุรศาสตร์และคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัวที่อธิบายตามหลักสถิติทางการแพทย์เกี่ยวกับตัวเลขประสิทธิภาพวัคซีนว่าป้องกัน symptomatic infection หรือการติดเชื้อที่มีอาการของโควิดมาเปรียบเทียบว่าวัคซีนตัวไหนมีประสิทธิภาพดีกว่ากันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะไม่ได้หมายความว่าวัคซีน Pfizer มีประสิทธิภาพ 95% AstraZeneca มีประสิทธิภาพ 70% และ Sinovac มีประสิทธิภาพ 50% เเล้วตัวเลขนี้คืออะไร
ข้อควรรู้ประสิทธิภาพ"วัคซีนโควิด"จากแพทย์จุฬาฯ
Sinovac มีประสิทธิภาพ 50% เป็นตัวเลขเฉพาะในบราซิลที่ทำการศึกษาใน บุคคลากรทางการแพทย์ (healthcare worker) แต่ถ้าเป็นการศึกษาของ Sinovac ที่ตุรกีตัวเลขจะอยู่ที่ 80%
ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่า วัคซีน Pfizer มีประสิทธิภาพ 95% คือ คนที่ฉีดวัคซีนของ Pfizer 100 คนติดเชื้อ 5 คน (5%) ส่วนคนที่ไม่ฉีดวัคซีนของ Pfizer 100 คนติดเชื้อทั้ง 100 คน (100%)
ดังนั้นวัคซีน Pfizer มีประสิทธิภาพ 100-5 = 95% แต่สิ่งที่ใช้คิดคำนวณประสิทธิภาพของวัคซีนคือ relative risk reduction หรือ การลดความเสี่ยงสัมพัทธ์ คือ เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างคนที่ฉีดวัคซีนและไม่ฉีดวัคซีนแล้ว สามารถลดการติดเชื้อสัมพัทธ์ได้กี่ %
รศ.นพ.นภชาญ ยกตัวอย่างว่า จากการศึกษาของ Pfizer ในคนทั่วไปพบว่าคนที่ฉีดวัคซีนของ Pfizer 17,411 คน ติดเชื้อโควิดแบบมีอาการ 8 คน หรือ 0.046% ส่วนคนที่ฉีดวัคซีนหลอก 17,511 คน ติดเชื้อโควิดแบบมีอาการ 162 คน หรือ 0.925% ดังนั้น relative risk reduction = (0.925-0.046)/0.925 x 100 = 95.0% ซึ่งวิธีนี้ใช้คำนวนประสิทธิภาพวัคซีนที่รายงานในผลการวิจัยของทุกวัคซีนทุกชนิด
ถ้าเปรียบเทียบกับวัคซีนของ AstraZeneca ที่ทำการศึกษาในบุคคลทั่วไปและในบุคลากรทางการแพทย์จะพบว่าคนที่ฉีด AstraZeneca 5,807 ราย ติดเชื้อโควิดแบบมีอาการ 30 คน หรือ 0.517% ส่วนคนที่ฉีดวัคซีนหลอก 5,829 ราย ติดเชือโควิดแบบมีอาการ 101 คน หรือ 1.733% ดังนั้น relative risk reduction = (1.713-0.517)/1.713 x 100 = 70.2%
ส่วนวัคซีนของ Sinovac เฉพาะข้อมูลที่ได้จากบราซิลซึ่งทำการศึกษาเฉพาะในบุคลากรทางการแพทย์ พบว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนของ Sinovac 4,953 ราย ติดเชื้อโควิดแบบมีอาการ 85 ราย หรือ 1.716% ส่วนคนที่ฉีดวัคซีนหลอก 4780 รายติดเชื้อ 168 ราย หรือ 3.45% ทำให้ relative risk reduction = (3.45-1.716)/3.45 x 100 = 50.3%
ดังนั้นคงบอกไม่ได้ว่าตัวเลข 95% ดีกว่า 70% และดีกว่า 50% แบบตรงๆ ชัดๆ ไม่ได้ การศึกษาของ AstraZeneca และ Sinovac ทำการศึกษาในประชากรที่มีการติดเชื้อสูงกว่า จะเห็นได้ว่าคนที่ฉีดวัคซีนหลอกในการศึกษา Pfizer AstraZeneca และ Sinovac ติดเชื้อไม่เท่ากันคือ 0.925% 1.733% และ 3.45% ตามลำดับ
การศึกษาทำในช่วงที่มีการระบาดต่างกัน และประชากรที่ศึกษาก็ต่างกัน การศึกษาของ AstraZeneca และ Sinovac รวมบุคลากรทางแพทย์ด้วย
หากเรามาดู absolute risk reduction หรือการเปรียบความแตกต่างของการติดเชื้อในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนและไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งในกรณีของ Pfizer จะมี absolute risk reduction = 0.925-0.046 = 0.879% ถ้าเปรียบเทียบกับ absolute risk reduction ของ AstraZeneca = 1.733-0.517 = 1.216% และของ Sinovac = 3.45-1.716 = 1.734%
หมายความว่า วัคซีนของ Pfizer ลดการติดเชื้อที่มีอาการได้ 0.879% ของ AstraZeneca ลดการติดเชื้อที่มีอาการได้ 1.216% และของ Sinovac ลดการติดเชื้อที่มีอาการได้ 1.734%
หากนำคำนวน number needed to treat หรือ NNT (จำนวนที่ต้องรักษา) หรือในที่นี้คือ ต้องฉีดวัคซีนกี่คนถึงจะป้องกันติดเชื้อที่มีอาการได้ 1 คน ซึ่งคำนวนจาก 100/absolute risk reduction จะได้ตัวเลขจำนวนคนที่ต้องฉีดวัคซีนของ Pfizer AstraZeneca และ Sinovac เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการได้ 1 คน คือ 100/0.879 = 114 (Pfizer), 100/1.216 = 83 (AstraZeneca) และ 100/1.734 = 58 (Sinovac)
“อย่างนี้จะบอกได้มั้ยว่า NNT ของ Sinovac ดีที่สุด คำตอบคือบอกไม่ได้ การเอา NNT เฉยๆ บอกว่าความคุ้มค่าหรือประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ กรณีของ Pfizer ต้องแปลว่า ในประชากรที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนที่มีอัตราการติดเชื้อประมาณ 0.9% ต้องฉีดวัคซีนของ Pfizer 114 คนถึงป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการได้ 1 คน หรือในประชากรที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนที่มีอัตราการติดเชื้อประมาณ 1.7% ต้องฉีดวัคซีนของ AstraZeneca 83 คนถึงป้องกันการติดเชื้อได้ 1 คน และสำหรับ Sinovac ต้องแปลว่า ในประชากรที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนที่มีอัตราการติดเชื้อประมาณ 3.5% ต้องฉีดวัคซีนของ Sinovac 58 คนถึงป้องกันการติดเชื้อได้ 1 คนดังนั้นอย่าได้เอาเป็นเอาตายกับตัวเลขประสิทธิภาพที่ป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการที่วัดจากการคำนวณ relative risk reduction ในประชากรศึกษาที่ต่างกัน ในช่วงเวลาที่ต่างกัน ในประเทศที่ต่างกัน และในช่วงที่มีอัตราการระบาด และจำนวนสัดส่วน variant ของเชื้อที่แตกต่างกัน และหากไปดูรายละเอียดการให้นิยามของคำว่า symptomatic infection ยังไม่เหมือนกันในแต่ละ trial ด้วยซ้ำ”
รศ.นพ.นภชาญ ยังระบุอีกว่า แม้จะเชื่อว่าในทางทฤษฎี mRNA vaccine เป็นเทคโนโลยีซึ่งผลิตจากชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสของ Pfizer น่าจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า Adenovirus vector ที่ใช้อะดิโนไวรัสเป็นตัวนำพา ของ AstraZeneca และดีกว่า inactivated virus vaccine ที่เป็นวัคซีนเชื้อตายของ Sinovac
แต่ไม่ได้หมายความว่าตัวเลข 95%, 70% หรือ 50% คือ ตัวเลขที่สามารถเทียบประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้แบบตรงไปตรงมาแบบที่เข้าใจ ที่สำคัญคือ หากประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถลดความรุนแรงของโรค ลดการใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือลดอัดตราการตายได้ ก็สามารถลดผลกระทบอย่างรุนแรงที่มีต่อระบบสาธารณสุขโดยรวมได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.นภชาญ ได้ย้ำว่า การทำตัวเลขสรุปของวัคซีนที่มีคนพูดถึงมากๆ ในประเทศไทยอย่าง Pfizer Moderna AstraZeneca Johnson and Johnson และ Sinovac ตัวเลขที่เรียกว่าประสิทธิภาพกี่ % นั้นมันได้มาอย่างไร ทำไมถึงไม่ควรนำมาเทียบกันตรงๆ
“การเล่นกับสถิตินั้นสามารถนำไปเป็นเครื่องมือหลอกลวงให้ไขว้เขวสำหรับคนที่ไม่เข้าใจสถิติจริงๆ ได้ ผมยังเชื่อว่าประชาชนทั่วไปอาจไม่เข้าใจ แต่บุคลากรทางการแพทย์ก็ควรหยุดเล่นตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีน เพราะจริงๆ แล้วการลด symptomatic infection หรือ การติดเชื้อแบบแพร่กระจาย ควรเป็น primary outcome รึเปล่ายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เลย และการแปลผลการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละตัวจริงๆ เขียนได้หลายหน้า และต้องอ่านละเอียดมาก อย่าเอาแค่ตัวเลขตัวเดียวมาตัดสินทุกอย่าง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
7 ข้อเเนะนำ ก่อนฉีดวัคซีนโควิด
7 เหตุผลที่คนไทยควรฉีดวัคซีน หมอนิธิชี้สังคมจะกลับมามีชีวิตชีวา