คัมภีร์สู้วิกฤต"ผู้ว่าฯหมูป่า"ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร

14 พ.ค. 2564 | 02:46 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2564 | 05:14 น.

สร้างปรากฎการณ์อีกแล้ว ผู้ว่าฯหมูป่า"ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร"โชว์ผลงานบริหารวัคซีนต้านโควิด ยอดลงทะเบียนผู้สูงอายุลำปางท่วมท้นเกือบ 100 % ของกลุ่มประชากร จากผลงานบริหารวิกฤตเชิงรุก ส่งอสม.บุกเคาะประตูทุกครัว

สร้างปรากฎการณ์อีกแล้ว ผู้ว่าฯหมูป่า"ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร"โชว์ผลงานบริหารวัคซีนต้านโควิด ยอดลงทะเบียนผู้สูงอายุลำปางท่วมท้นเกือบ 100 % ของกลุ่มประชากร จากผลงานบริหารวิกฤตเชิงรุก ส่งอสม.บุกเคาะประตูทุกครัว

เพชรแท้ถึงเวลาก็ฉายแวว การลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนสำหรับกลุ่มผู้สูงวัย(อายุ 60 ปีขึ้นไป) และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 16 ล้านคนเศษ ที่รัฐเปิดตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.2564 ผ่านไปราว 10 วัน ปรากฎมียอดการลงทะเบียนต่ำเตี้ยแค่ 1.7 ล้านราย 
    

ปรากฎว่ายอดจองของคนกรุงเทพฯมาเป็นอันดับ 1 กว่า 5 แสนคน ซึ่งไม่น่าแปลกใจจากจำนวนประชากรกว่า 5-6 ล้านคน แถมยังเป็นศูนย์การการระบาดรอบนี้ที่ผู้คนต่างผวาเชื้อโควิด-19 
    

แต่ที่คนตื่นตะลึงคือของจังหวัดลำปาง ที่ยอดการลงทะเบียนมาเป็นอันดับ 2 ที่่จำนวนกว่า 2 แสนคนเศษ ทิ้งห่างอันดับถัด ๆ มาหลุดลุ่ย ที่มียอดกันที่หลักหมื่นกลาง และบางจังหวัดยังอยู่ที่หลักพัน และยิ่งถ้าเทียบสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุของลำปางต้องถือว่าชนะขาด เพราะเป็นสัดส่วนเกือบ 100 % 
      

ลำปางทำได้ เพราะมีผู้ว่าฯที่ชื่อ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร 
    

ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ เล่าว่า การบริหารการฉีดวัคซีนของลำปางได้วางแผนและดำเนินการล่วงหน้ามาก่อนแล้ว จากเป้าหมายต้องฉีดวัคซีนให้ผู้สูงวัยลำปางที่มีกว่า 2 แสนคน ให้ได้มากที่สุด โดยมอบหมายให้อ.ส.ม. 1 คน ที่ดูแลชาวบ้าน  60-70 คน และเฝ้าระวังเรื่องโควิด-19 รายครัวเรือนอยู่แล้ว  ก็เพิ่มภารกิจให้พูดคุยทำความเข้าใจเรื่องวัคซีนโควิด-19 กับผู้สูงอายุและญาติจนเข้าใจข้อมูลตรงกัน เมื่อเปิดลงทะเบียนก็ไปช่วยดูเรื่องการลงทะเบียน 
    

คนที่ลงไม่เป็นก็ช่วยลงให้ หรือนำข้อมูลประสานสถานพยาบาลเพื่อแจ้งลงข้อมูลในระบบ ผู้ว่าฯเล่าอีกว่า ได้หารือกันมาก่อนแล้วว่า ถ้าคนลงมาก  ๆ ระบบอาจรองรับไม่ทัน จึงประสานฝ่ายไอทีของสาธารณสุข พัฒนา"ลำปางพร้อม"ขึ้นมา เพื่อใช้ลงทะเบียนคู่ขนาน เพื่อแก้ปัญหาคอขวด และ"ลำปางพร้อม"จะลิงค์ข้อมูลกับ"หมอพร้อม"อัตโนมัติเมื่อระบบพร้อม   
    

การบริหารอย่างมีการวางแผน ทำให้ตัวเลขการลงทะเบียนเป็นดังที่ปรากฎ แม้ว่าลำปางจะเป็นจังหวัดหนึ่งที่การฉีดวัคซีนรอบบุคลากรทางการแพทย์ มีพยาบาลหลายคนมีอาการข้างเคียงจนเป็นข่าวใหญ่มาแล้ว แต่การลงทำงานอย่างใกล้ชิดสามาถสร้างความมั่นใจของชาวบ้าน จนสมัครใจลงทะเบียนฉีดวัคซีนสูงลิบดังกล่าว กระทั่ง กระทรวงมหาดไทยประกาศให้ใช้"ลำปางโมเดล"เป็นต้นแบบของทุกจังหวัด 
    

ไม่เพียงบริหารการฉีดวัคซีน ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์บริหาร"สถานการณ์โควิด"ของลำปางในฐานะ "ภาวะวิกฤต" โดยทันทีที่ข่าวโควิดระบาดที่เมืองอู่ฮั่นเมื่อต้นปี 2563 ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ ก็เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านจีนมาหารือประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และวางแผนรับมือนับแต่นั้น 
    

โดยมีทั้งการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ สำรวจและปรับเพิ่มจำนวนเตียง อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ เตรียมพร้อมบุคลากรทางการแพทย์แต่ละระดับ ซักซ้อมแผนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเคสผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้ามาจากนอกพื้นที่ ก็สามารถติดตามและสกัดการแพร่ระบาดทันควัน 
    
    

เช่นเดียวกับการบริหารสถานการณ์หมอกควันของลำปางปีก่อนหน้า ที่สามารถลดความรุนแรงของปัญหาในพื้นที่ลงได้อย่างเห็นชัด อันเป็นผลจากการบริหารจัดการอย่างมีแบบแผน ประกอบกับภาวะผู้นำ ที่มุ่งมั่นและกัดติดในการแก้ไขสถานการณ์อย่างไม่ย่อท้อ เคียงบ่าเคียงใหล่ผู้ร่วมงานและทีมปฎิบัติจนกว่าจะบรรลุภารกิจ หรือขณะเป็นผู้ว่าฯพะเยาช่วงสั้น ๆ ปีครึ่ง ก็ปรับแผนวางรากฐานระบบข้อมูล เพิ่มรายได้ต่อหัวต่อปีชาวพะเยาจาก 8 หมื่นเป็น 9 หมื่นบาท 
    

ที่โด่งดังและเป็นอีกหนึ่งต้นแบบการบริหารภาวะวิกฤต คือ ภารกิจช่วยเหลือ 13 เยาวชนทีมหมูป่าติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน เมื่อเดือนมิ.ย.2561 ซึ่งเป็นภารกิจระดับโลกที่แทบเป็นไปไม่ได้ มีผู้คนนับหมื่นเข้าร่วมปฏิบัติการ ในภารกิจที่ต้องแข่งกับเวลาและความไม่แน่นอนของลมฟ้าอากาศ โดยมี 13 ชีวิตเยาวชนหมูป่าเป็นเดิมพันชนิดที่ทั้งโลกกลั้นใจติดตาม จนสำเร็จลุล่วงอย่างงดงาม โดยการนำของผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ขณะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย(ขณะนั้น) ในฐานะผู้อำนวยการเหตุการณ์ 13 เยาวชนหมูป่าติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน  
    

ความสำเร็จของลำปางครั้งนี้ เพจเฟซบุก"เข็นเด็กขึ้นภูเขา"ของหมอมิน-พญ.เบญจพร ตันติสูติ จิตแพย์เด็กและวัยรุ่น ประมวลคุณสมบัติความเป็นหัวหน้าที่ดีผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ ถึงวิธีปฎิบัติต่อผู้น้อย คนรอบข้าง และลูกหลาน ให้เรียนรู้ได้ 5 ประการ 
    1. ให้เกียรติคนรอบข้าง การขอความร่วมมือทีมงานไม่ได้สั่งด้วยถ้อยคำรุนแรง อธิบายความ เปิดให้ซักถาม และให้เครดิตทีมงาน
    2. ออกคำสั่งด้วยความเข้าใจ ให้รายละเอียดงานเป็นขั้นตอน เกิดความเข้าใจร่วมกันของทุกฝ่าย
    3. มีความเห็นอกเห็นใจ 
    4.ใจดีแต่ไม่ตามใจ ตรงไปตรงมา เด็ดขาดและชัดเจน 
    5.รับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำงานเต็มที่ด้วยความรับผิดชอบ 
   นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯหมูป่า สร้างปรากฎการณ์อีกครั้งบริหารเชิงรุกจนผู้สูงวัยลำปางลงทะเบียนฉีดวัคซีนต้านโควิดเกือบ100%  
 

ขณะที่หลังภารกิจถ้ำหลวงฯ ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ ได้รับเชิญไปสัมภาณ์หรือบรรยายถึงหลักคิด หลักการทำงาน ตลอดจนแนวทางบริหารภาวะวิกฤตอยู่เนือง ๆ  โดยเฉพาะกรณีภารกิจถ้ำหลวงฯซึ่งถูกนำมาถอดบทเรียนสู่การบริหารภาวะวิกฤตของหลายหน่วยงาน-สถาบัน     
    

เริ่มกันตั้งแต่ทัศนะต่อชีวิตและโลกของผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายชัดเจนในชีวิต คือ มุ่งมั่นก้าวสู่เส้นทางชีวิตข้าราชการ ด้วยต้องการจะทำงานเพื่อสังคม ได้กำหนดนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคนในสังคม และลงมือทำทันที ตามหลักคิดที่ว่าถ้าเป็นอะไรไป เรื่องดี ๆ ที่รอไว้พรุ่งนี้จะไม่ได้ทำ ส่วนงานหรือสิ่งที่ต้องแก้ไขนั้น ไม่ได้มองเป็นปัญหา แต่เป็นเรื่องท้าทายให้เผชิญและก้าวข้าม 
    

ทั้งนี้ ปัญหาในภาวะทั่วไปนั้น สามารถแก้ไขด้วยกลไกและแผนงานปกติ แต่ภาวะวิกฤตนั้นคือ ภาวะต้องเผชิญกับที่ปัจจัยและองค์ประกอบแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น การบริหารภาวะวิกฤต จึงหมายถึงการบริหารเพื่อทำให้กลับมาตั้งหลักเผชิญเหตุได้เร็วที่สุด ทำให้สถานการณ์กลับมาอยู่บนพื้นฐานได้เร็วที่สุด และเดินหน้าต่อได้เร็วที่สุด ใครทำได้คนนั้นอยู่รอดภายใต้วิกฤต
     

โดยมีขั้นตอนและแนวทางการทำงานท่ามกลางวิกฤต คือ
    

1.วิเคราะห์สถานการณ์ เมื่อเจอวิกฤตต้องวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดก่อน หาสาเหตุ กำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหา หาคนเก่งหรือทีมงานมาสู่งานแต่ละด้าน ตั้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบ อุปกรณ์หรือเครื่องมือสนับสนุน ดังกรณีช่วยเหลือ 13 เยาวชนหมู่ป่าติดถ้ำ เจอปัญหาน้ำท่วมถ้ำ มีฝนตก ต้องติดตั้งระบบไฟฟ้า สื่อสาร การสูบน้ำออก ปิดกั้นเบี่ยงทางน้ำเข้าถ้ำ นักดำน้ำในถ้ำ นักธรณีวิทยา พยากรณ์อากาศ แพทย์ พยาบาล หน่วยงานสนับสนุน   
    

2.เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการแล้ว เอามาเรียงเป็นแผนงานโดยให้เกิดแนวทางหลากหลาย เรียงแผนตามลำดับความเป็นไปได้ ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ย้ำว่า แผนที่ดีที่สุดคือมีมากกว่า 1 แผน ที่ต้องเดินควบคู่กันไป เพราะถ้าทำแผนเดียวแล้วล้มเหลว สถานการณ์อาจยิ่งแย่กว่าเดิม ในการค้นหา 13 หมูป่า ก็เดินหน้า 4 แผนงานพร้อมกัน คือ ทีมดำน้ำเข้าถ้ำ  ทีมสำรวจโพรงหรือช่องจากบนเขาที่ลงสู่ถ้ำ ซึ่งก็พบเกือบ 100 โพรง และมีบางโพรงมีโอกาสเจาะลงถึงผนังถ้ำ  ทีมสำรวจหาทางน้ำไหลเข้าถ้ำ และการใช้เครื่องมือหาตำแหน่งแล้วเจาะทะลวงลงถ้ำ  
    

3.การบริหารแผน ซึ่งมีขั้นตอนละเอียดอ่อนและรายละเอียดมาก โดยต้องเลือกคนที่เยี่ยมที่สุดแต่ละด้านมาทำในแต่ละภารกิจที่ถนัด "ตอนถ้ำหลวง มีการประชุมทีมใหญ่เกือบ 50 ชีวิต วันละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามว่า 12 ชั่วโมงที่แล้วใครทำอะไรไปได้แค่ไหน และอีก 12 ชั่วโมงข้างหน้าจะทำอะไร คนที่เกี่ยวข้องกับแผนต้องทำอะไรบ้าง กระทั่งขาดน็อต 1 ตัวตอนตี 2 ก็ต้องหาให้เข้าให้ได้ ต้องพร้อมสนับสนุนคนที่เข้าไปทำงานให้"
    

4.ติดตามประเมินผลและปรับแผน ในวิกฤตต้องประมวลและปรับแผนตลอดเวลา โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตรงหน้า ทั้งจากสภาพแวดล้อมและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
    

5.การระดมทรัพยากรและเครือข่าย ปัญหาจะถูกแก้ไขได้เร็วและแม่นยำขึ้น หากรู้ว่ามีทรัพยากรอะไรอยู่ที่ไหน จะขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้าง เพื่อรวบรวมทรัพยากรและสร้างเครือข่าย เพื่อ ดึงจุดแข็งแต่ละที่เพื่อมาใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาแต่ละเรื่องให้มากที่สุด 
    

ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์กล่าวย้ำด้วยว่า กุญแจความสำเร็จของการแก้ไขวิกฤตยังอยู่ที่การฝึกซ้อม ยิ่งเรื่องละเอียดอ่อนการซ้อมก็ยิ่งต้องทำอย่างเข้มข้น แผนการช่วยเหลือ 13 หมูป่า มีทั้งการค้นหา พาออกมาให้ปลอดภัย ส่งต่อให้ถึงมือหมอเพื่อรักษาและฟื้นฟูร่างกายและจิตใจให้กลับเป็นปกติ แต่ละขั้นตอนมีการซ้อมการปฎิบัติละเอียดเป็นนาที เพื่อให้รู้ว่าใครต้องทำอะไรตรงไหนเวลาใด และถ้าต้องรับมือสถานการณ์แต่ละอย่างต้องเตรียมพร้อมอย่างไร 
    

จนทำให้ภารกิจช่วย 13 หมูป่าพ้นถ้ำหลวงฯสำเร็จลุล่วงอย่างสวยงามดังกล่าว 
        

ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ ย้ำตลอดเวลาว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะตัวผู้ว่าฯ แต่เป็นความสำเร็จของทุกคนที่เป็นแต่ละส่วนของภารกิจที่ทุ่มเทร่วมกัน โดยตนเป็นเพียงผู้ต่อจิกซอว์ชิ้นสุดท้ายให้ภาพครบสมบูรณ์เท่านั้น และระหว่างเผชิญภาวะวิกฤต ซึ่งจะมีจุดที่สถานการณ์เขม็งเกลียวสุดขีดนั้น ผู้นำต้องนิ่ง ตัดสินใจบนข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ เลือกแนวทางที่เสี่ยงน้อยที่สุดสำหรับผู้เกี่ยวข้อง และพร้อมรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลว
    

นี่คือคัมภีร์ผู้นำฝ่าวิกฤตของ"ผู้ว่าฯหมูป่า-ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร " ที่วันนี้ได้อีกสมญา"ผู้ว่าฯวัคซีน"  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง