ปอดไม่พังถ้าฉีดวัคซีนโควิด หมอนิธิพัฒน์ชี้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ-เสียชีวิตรายวันมากขึ้น

16 พ.ค. 2564 | 03:45 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2564 | 10:45 น.

หมอนิธิพัฒน์แนะปอดไม่พังถ้าฉีดวัคซีนโควิด ชี้ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจและเสียชีวิตรายวันมากขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า 

โควิด-19 (Covid-19) ระลอกแรกมีการเผยแพร่จากต่างประเทศว่าส่วนน้อยของคนที่รอดมาได้เกิด "ปอดพัง" คือเนื้อปอดถูกทำลายไปมากจนไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่อวัยวะอื่นยังดีจึงได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนปอด ส่วนที่เหลือได้รับยาต้านการเกิดพังผืด (antifibrotic drugs) ร่วมกับการรักษาด้วยออกซิเจนที่บ้านระยะยาว (long-term home oxygen therapy) เพื่อชะลอเวลา

ต้องขอบคุณทีมแพทย์โรคปอดและรังสีแพทย์ที่โรงพยาบาลจังหวัดแห่งหนึ่งติดกทม.ที่นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ชายอายุ 60 ปี ทำงานออฟฟิศ เดิมแข็งแรงดี สูบบุหรี่ 12 pack-years (จำนวนซองที่สูบเฉลี่ยในแต่ละวันคูณกับจำนวนปีที่สูบ) แต่เลิกมา 30 ปีแล้ว เกิดปอดอักเสบโควิด ต้องให้การรักษาด้วยเครื่องไฮโฟลว์ตลอดโชคดีว่าไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ แต่ไม่สามารถเอาเครื่องไฮโฟลว์ออกได้เพราะต้องพึ่งออกซิเจนปริมาณสูงตลอดเวลา ทำซีทีแสกนปอดในสัปดาห์ที่ 3+ ของโรค พบว่าเนื้อปอดปกติถูกทำลายถาวรเป็นวงกว้าง (เห็นเป็นวงสีดำที่ไม่มีอะไรข้างใน)

ภาพทีซีสแกนปอดผู้ป่วยโควิด-19

ส่วนเนื้อปอดที่เหลือก็มีพังผืด (แถบและปื้นสีขาว) แทรกเข้าไปจำนวนมาก จนบางหย่อมมีลักษณะเป็นรูพรุนคล้ายรังผึ้ง (honeycomb appearance) ถึงวันที่ส่งต่อกลับรพ.ตามสิทธิ์เป็นสัปดาห์ที่ 4+ ของโรคแล้วยังต้องใช้ออกซิเจนปริมาณสูง คงยากที่จะได้ปอดคืนมาแม้เพียงแค่พอใช้ชีวิตพื้นฐานแบบพออยู่ได้ เรื่องสะเทือนใจเช่นนี้ หรือจำนวนผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและผู้เสียชีวิตรายวันที่ปัจจุบันยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเราฉีดวัคซีนโควิดกันให้เร็วที่สุด

#ปอดไม่พังถ้าฉีดวัคซีนโควิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :