เคลียร์ที่นี่ ทุกข้อสงสัย ก่อนตัดสินใจ “วอล์คอิน” ฉีดวัคซีน มิ.ย.นี้

17 พ.ค. 2564 | 08:25 น.

เพจเฟซบุ๊กศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี – PMOC รวบรวมทุกข้อข้องใจของประชาชนที่สนใจบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบ “วอล์คอิน” ( Walk-in) ซึ่งเป็นการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโดยไม่ต้องมีการนัดหมายก่อน พร้อมให้คำตอบแบบกระจ่างก่อนตัดสินใจว่าจะ "วอล์คอิน" ดีหรือไม่

ก่อนอื่นทำความเข้าใจ ขั้นตอนการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 แบบ Walk-in ทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เริ่มด้วยการ

  1. ตรวจสอบสถานพยาบาล หรือจุดบริการฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาล
  2. เตรียมนำบัตรประชาชน หรือบัตรที่ราชการออกให้ หรือหนังสือเดินทาง
  3. เดินเข้าไปแจ้งความประสงค์เข้ารับการฉีดวัคซีนที่สถานบริการที่สะดวกได้เลย (กรณีที่คิวในวันนั้นเต็มแล้ว เจ้าหน้าที่จะลงทะเบียนและนัดหมายการฉีดวัคซีนในวันถัดไป)
  4. หากมีโรคประจำตัวขอให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเป็นประจำ เพื่อพิจารณาก่อนเข้ารับวัคซีน

เคลียร์ที่นี่ ทุกข้อสงสัย ก่อนตัดสินใจ “วอล์คอิน” ฉีดวัคซีน มิ.ย.นี้

รวมฮิตคำถามที่มีผู้ถามบ่อย เกี่ยวกับบริการฉีดวัคซีนโควิดแบบ “วอล์คอิน” นั้น มีอะไรบ้าง ไปดูกัน

ถาม มีการจำกัดการ Walk-in ฉีดวัคซีนในแต่ละวันหรือไม่

ตอบ มีการกำหนดยอดในแต่ละวัน หากวอล์คอินแล้วคิวเต็ม จะได้รับบัตรนัดฉีดวัคซีนในวันถัดไป

 

ถาม ทะเบียนบ้านอยู่ที่หนึ่ง ตัวอยู่ที่หนึ่ง ต้องกลับบ้านเกิดเพื่อฉีดวัคซีนหรือไม่

ตอบ ไม่ต้องกลับ อยู่ที่ไหน ฉีดที่นั่นได้เลย วอล์คอินไปยังจุดที่สะดวก สามารถฉีดเลย ถ้ามีคิวและมีวัคซีนในวันนั้น

 

ถาม หากลงทะเบียนในระบบหมอพร้อมแล้วแต่อยากฉีดวัคซีนเร็วขึ้น จะวอล์คอินได้หรือไม่

ตอบ สามารถทำได้ เพราะจะมีการลงทะเบียนหลังฉีดอีกครั้ง เพื่อนัดการฉีดเข็มที่สอง แต่ถ้าลงทะเบียนหมอพร้อมมาก่อนฉีดจะทำให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

 

ถาม เดิมกลุ่มผู้มีอายุ 18-59 ปี ให้ลงทะเบียน “หมอพร้อม” เดือนก.ค. ทำให้คนที่ไม่อยากรอ จะวอล์คอินกันจำนวนมากหรือไม่

ตอบ เดิมกำหนดไว้แบบนั้นจริง แต่กำลังจะปรับระบบ ให้คนกลุ่มนี้จองผ่านหมอพร้อมได้เลย ราวสัปดาห์หน้า

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังได้กล่าวไว้ล่าสุด (14 พ.ค.) เกี่ยวกับ บริการฉีดวัคซีนแบบวอล์คอิน ว่า จะเริ่มอย่างเป็นทางการในเดือน มิ.ย.นี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลว่าจะให้บริการที่จุดใดบ้าง พื้นที่ใด ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยในต่างจังหวัดมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัดเป็นผู้ควบคุมดูแล

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

“ ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้ไปกำหนดจุดฉีดวัคซีน อาจจะเป็นในโรงพยาบาล หรือนอกโรงพยาบาล ขึ้นอยู่กับความสะดวกของจังหวัดนั้นๆ และให้ระบุว่า ในแต่ละวันจะสามารถวอล์คอินมาฉีดวัคซีนได้จำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ เช่น ในจังหวัดมีการกำหนดให้วอล์คอินฉีดวัคซีนได้ 200 คน ประชาชนก็สามารถนำบัตรประชาชนไปแจ้งความจำนงได้ แต่พอฉีดเสร็จจะมีระบบลงทะเบียน เพื่อทำการนัดหมายการฉีดครั้งต่อไป เพื่อทำให้การออกใบรับรองสะดวกรวดเร็วขึ้น และหากเกินโควต้าในวันนั้น เช่น เป็นคนที่ 201 จะมีการออกบัตรนัด เสมือนกับการจองคิวหน้างาน เพื่อความสะดวกมากขึ้น”  นพ.โอภาสกล่าว

ทั้งนี้ ในจุดที่มีการวอล์คอินจะมีการเตรียมวัคซีนไว้ทั้ง 2 แบบ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของหมอที่อยู่หน้างาน แต่จะคำนึงตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขจะดีที่สุด

สถานที่กว้างขวาง-ไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ

ในส่วนของข้อกังวลที่ว่า การวอล์คอินอาจกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้นั้น นพ.โอภาส ชี้แจงว่า จุดฉีดวอล์คอิน จะมีการกำหนดคนที่จะได้รับการฉีดจำนวนเท่าไหร่ และจะจัดในจุดที่ประชาชนสามารถมาใช้บริการได้สะดวก เช่น มีจุดจอดรถเพียงพอ และสถานที่กว้างขวาง และจะมีแนวปฏิบัติคือ ทุกคนต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา เพื่อช่วยลดการแพร่เชื้อได้ และต้องมีการกำหนดจุดพักคอย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการฉีดวัคซีนไม่ใช่เป็นแบบไดร์ฟทรูโดยเด็ดขาด

ยกตัวอย่าง จุดฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทางกทม. และกระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดจะจัดจุดวอล์กอินที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ รับได้ประมาณ 500 คนต่อวัน และอาจจะเปิดในช่วง 12.00-20.00 น.

หญิงให้นมบุตรฉีดวัคซีนได้หรือไม่

สุดท้ายข้อสงสัยเกี่ยวกับ หญิงให้นมบุตรว่าสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่ อธิบดีกรมควบคุมโรคตอบว่า ได้  แต่สำหรับคนตั้งครรภ์ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน เนื่องจากคณะผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุขยังกังวลและยังไม่ได้ผลพิสูจน์มากพอ และกังวลว่าจะมีผลต่อเด็กในครรภ์

ส่วนคำถามที่ว่า คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก เช่น เข็มแรกเป็นซิโนแวค แล้วอยากเปลี่ยนยี่ห้อในเข็มที่สองเป็นแอสตร้าเซนเนก้า จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่นั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลทางการแพทย์ไม่สามารถบอกว่าสามารถทำได้หรือไม่ แต่เคยมีกรณีเข็มแรกฉีดซิโนแวคแล้วมีอาการแพ้ เข็มที่สองจึงฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งมีอยู่หลายรายในประเทศไทย ในอนาคตอาจจะสามารถฉีดข้ามยี่ห้อได้ แต่ในเวลานี้ยังเร็วเกินไปและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า สามารถฉีดคนละยี่ห้อได้

เว้นระยะห่างการฉีด

ส่วนการเว้นระยะห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มที่ 2 ทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดให้ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ แต่ข้อมูลใหม่ๆ สามารถเว้นได้ถึง 16 สัปดาห์ ซึ่งแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขอาจจะประกาศให้เข็มที่ 2 ฉีดได้นานขึ้น เพื่อให้ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นได้ดีกว่า 12 สัปดาห์

สำหรับผู้สูงอายุที่เพิ่งฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เมื่อต้นเดือนพ.ค. หากจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ขอให้รออีก 1 เดือนถึงจะฉีดได้

ข้อมูลอ้างอิง

เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี – PMOC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง