เชียงใหม่แจงยิบติดเชื้อในเรือนจำลั่น"คุมได้"

17 พ.ค. 2564 | 11:46 น.

      เชียงใหม่เรียงแถวทุกหน่วย แจงสถานการณ์โควิด-19 ในเรือนจำ ย้ำเป็นพื้นที่ปิด ใช้มาตรการ"Bubble & Seal" ป้องกันโรคอย่างรัดกุม ขอให้มั่นใจไม่หลุดระบาดถึงชุมชนแน่


จังหวัดเชียงใหม่ผนึกกำลังทุกภาคส่วน แจงสถานการณ์โควิด-19 ในเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ ย้ำเป็นพื้นที่ปิด ใช้มาตรการ"Bubble & Seal" ป้องกันโรคอย่างรัดกุม ขอประชาชนมั่นใจจะไม่มีการระบาดออกสู่ชุมชนอย่างแน่นอน พร้อมส่งคืนพื้นที่ปลอดภัยได้ให้เรือนจำได้ 28 พ.ค.นี้

วันที่ 17 พ.ค. 2564 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยพลตรี ถนัดพล โกศัยเสวี รองแม่ทัพภาคที่ 3 นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พลตรี วุฒิไชย อิศระ รองเจ้ากรมแพทย์ทหารบก นายสุรศักดิ์ เผื่อนคำ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ และนายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม นายอำเภอแม่แตง ร่วมกันแถลงข่าวการดำเนินงานโรงพยาบาลสนาม ในเรือนจำกลางเชียงใหม่ หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำทำยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ไทยวันที่ 17 พ.ค. ทำสถิติสูงสุดถึง 9,783คน เฉพาะจากผู้ต้องขังมี 6,469 คน และจากเรือนจำเชียงใหม่จำนวน 3,929 คน 

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการตรวจพบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ในช่วงกลางเดือนเมษายน เนื่องจากมีผู้ต้องขังจำนวนมากและอยู่ในพื้นที่ปิด จึงได้มีการนำระบบ Bubble & Seal มาใช้บริหารจัดการในเรือนจำ ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2564 ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาการดำเนินการ 28 วัน การดูแลจะคล้ายการล็อคดาวน์ในทุกห้อง ทุกแดน และค้นหาผู้มีอาการเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสนามเรือนจำกลางเชียงใหม่ พร้อมตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคในทุก 14 วัน ทั้งนี้ คาดว่าในรอบสุดท้ายจะมีผู้ต้องขังที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเพียง 10% และจะสามารถส่งคืนพื้นปลอดภัยให้แก่เรือนจำกลางได้ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ขณะนี้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ
    

สำหรับจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อกว่า 3 พันคน ในเรือนจำกลางเชียงใหม่นั้น ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลรักษาและการควบคุมการแพร่ระบาด กรณีมีผู้ต้องขังพ้นโทษก็ยังคงต้องกักตัวเองอีก 14 วัน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนภายนอก และเชื่อมั่นว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดภายในเรือนจำกลางอย่างแน่นอน
    

ด้านพลตรีถนัดพล โกศัยเสวี รองแม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้แทนกองทัพบก กล่าววถึงความร่วมมือของกองทัพภาคที่ 3 ในช่วง 17 วัน ที่ผ่านมา ได้มีการหารือกันตั้งแต่วันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา และมีการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง โดยทางกองทัพภาคที่ 3  ได้ให้การสนับสนุนจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งด้านการดูแลและสนับสนุนกำลังพล ยุทโธปกรณ์ โดยกองทัพภาคที่ 3 ได้มอบหมายให้เจ้ากรมแพทย์ทหารบก จากโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดูแลภายในเรือนจำ และมีกองพลทหารราบที่ 7 ดูแลเรื่องความเป็นอยู่ภายนอกเรือนจำ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้วางกระบวนการขั้นตอนไว้อย่างชัดเจน โดยนำตัวอย่างจากเรือนจำจังหวัดนราธิวาสมาเป็นต้นแบบ ในการบริหารจัดการภายในเรือนจำกลางอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าหน่วยการแพทย์ที่อยู่ภายในเรือนจำยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมด ดังนั้น ตามที่มีข่าวที่ออกไปนั้น ขอให้มั่นใจได้ว่าจังหวัดเชียงใหม่ กองทัพบก และกรมราชทัณฑ์ได้ระดมกำลังช่วยกันอย่างเต็มที่
    

เชียงใหม่แจงยิบติดเชื้อในเรือนจำลั่น\"คุมได้\"

ขณะที่นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามปกติการควบคุมโรคจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ ด้วยกันก็คือ มาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เปิด หรือพื้นที่ทางสังคม ซึ่งจะใช้มาตรการจากทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เป็นหลัก ส่วนการควบคุมโรคในพื้นที่ปิด อาทิ เกาะขนาดเล็ก หรือโรงงานบางแห่งที่มีที่พักอยู่ภายใน รวมทั้งเรือนจำ ซึ่งมีกิจกรรมทางสังคมที่ไม่ซับซ้อน จำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมโรคอีกรูปแบบหนึ่ง หลังจากมีการตรวจพบว่ามีการระบาดในเรือนจำตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน จึงได้มีมติร่วมกันให้ใช้มาตรการ bubble and seal ซึ่งเป็นมาตรการที่เคยใช้ควบคุมโรคในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครมาแล้ว 
    

โดยในวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยวางระบบ นำโดยอธิบดีกรมควบคุมโรค สำหรับมาตรการ Bubble and seal ที่นำมาใช้ในเรือนจำกลางเชียงใหม่นั้น จะต้องจำกัดขอบเขตในการควบคุมโรคไม่ให้มีการกระจายจากแดนสู่แดน หรือกระจายสู่พื้นที่ภายนอก โดยการ Seal หรือปิดพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดไว้ จำนวน 14 วัน 2 รอบ รวมเป็น 28 วัน และในระหว่างการควบคุมโรคจะต้องเร่งค้นหาผู้ที่มีอาการของโรค เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการการรักษาให้รวดเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในเรือนจำ เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนผู้ต้องขังที่มีอาการหนักจะทำการส่งตัวออกมารักษาที่โรงพยาบาลภายนอก โดยจนถึงขณะนี้มีผู้ต้องขังที่ส่งตัวออกมารักษาภายนอกเพียงแค่ 6 ราย เท่านั้น
    

นอกจากนี้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ยังได้ชี้แจงว่า ขณะนี้ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินมาตรการ Bubble and seal มาได้แล้ว 3 สัปดาห์ เหลือเวลาอีกเพียง 1 สัปดาห์ และหลังจากนั้นจะใช้เวลาอีก 5 วันในการตรวจหาภูมิคุ้มกันของผู้ต้องขังทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะพบผู้ที่ไม่มีคุ้มกันเหลืออยู่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น และจะได้นำผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันนี้มาตรวจหาเชื้ออีกหนึ่งรอบ เพื่อคัดแยกออกจากกลุ่มผู้ต้องขังทั้งหมด หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ คาดว่าจะสามารถคืนพื้นที่ปลอดภัยให้กับเรือนจำกลางเชียงใหม่ได้ ภายในวันที่ 28 พฤษภาคม นี้
    

กรณีการแพร่ระบาดในเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่นั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อการรับการปรับลดระดับพื้นที่ควบคุมเข้มงวดสูงสุด (สีแดงเข้ม) มาเป็นพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จากศบค. แต่อย่างใด เนื่องจากเป็นพื้นที่ควบคุมคนละส่วนกัน
    

พลตรีวุฒิไชย อิศระ รองเจ้ากรมแพทย์ทหารบก รักษาราชการผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้บัญชาการเหตุการณ์ด้านการแพทย์ภายในเรือนจำกลางเชียงใหม่ เปิดเผยว่า กรมแพทย์ทหารบก ได้จัดผู้เชี่ยวชาญพิเศษลงพื้นที่บริหารจัดการ ทำหน้าที่สนับสนุนหน่วยงานของสาธารณสุข ทั้งการให้บริการในพื้นที่เรือนจำ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่จำกัด อย่างไรก็ตามผู้ต้องขังทุกคนจะต้องได้รับสิทธิการดูแลรักษาเทียบเท่ากับประชาชนภายนอก ทั้งการตรวจหาเชื้อ และการดูแลรักษา เพื่อสกัดการระบาดไม่ให้ออกสู่ภายนอก
    

กรมแพทย์ทหารบกทำหน้าที่เชื่อมต่อการดูแลรักษาพยาบาล ระหว่างเจ้าหน้าที่ภายในเรือนจำ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อลดภาระงานและลดข้อจำกัดในการดำเนินงาน และเพื่อเป็นการลดการส่งออกผู้ป่วยที่มีอาการสีเหลือง สีเขียวเข้ม หรือพ้นขีดความสามารถของบุคลากรในเรือนจำ จึงได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในเรือนจำกลางเชียงใหม่ โดยใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดมาพัฒนาปรับปรุง และได้มีการจัดตั้ง Mini ICU ในเรือนจำ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง นอกจากนี้กรมแพทย์ทหารบก ยังได้มีการเสริมความมั่นคงด้านการแพทย์ในเรือนจำ และวางมาตรการเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เรือนจำปลอดโรคในเร็ววันนี้ 
    

สำหรับตัวเลขล่าสุดในขณะนี้ เรือนจำกลางเชียงใหม่มีผู้ต้องขัง จำนวน 6,311 คน ติดเชื้อโควิด-19 แล้วจำนวน 3,793 คน หรือคิดเป็น 60% ของผู้ต้องขังทั้งหมด เป็นผู้มีภูมิคุ้มกันในตนเองแล้วจำนวน 1,532 คิดเป็น 1 ใน 4 หรือ 24.27% ของผู้ต้องขังทั้งหมด และมีผู้ติดเชื้อที่กำลังจะพ้นระยะการกักตัวใน 1-2 วันนี้ อีกกว่า 1,600 คน หรือคิดเป็น 44 % ของผู้ต้องขังทั้งหมด อย่างไรก็ตามยังคงเหลือผู้ต้องขังที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 อีก 923 คน ทั้งนี้ข้อมูลทั้งหมดได้เกิดขึ้นจากกระบวนการตรวจวิเคราะห์อย่างมีระบบและมีมาตรฐาน ผ่านการตรวจหาเชื้อจำนวน 2 ครั้ง และการตรวจหาภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง
    

เชียงใหม่แจงยิบติดเชื้อในเรือนจำลั่น\"คุมได้\"

พลตรี วุฒิไชย อิศระ รองเจ้ากรมแพทย์ทหารบก เปิดเผยถึงเบื้องหลังความสำเร็จ ในการดำเนินงานโรงพยาบาลสนามได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานสิ่งของด้านการแพทย์หลายอย่าง ผ่านโครงการราชทัณฑ์ปันสุข เพื่อนำมาใช้ในเรือนจำกลาง ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายแพทย์เป็นอย่างมาก
    

ด้านนายสุรศักดิ์ เผื่อนคำ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ กล่าวถึง สถานการณ์การดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ว่า ต้องขอบคุณในการบูรณาการช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน ที่ได้ดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยขณะนี้ยืนยันว่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ในเรือนจำกลางเชียงใหมีทั้งหมด 10 แดน สำหรับแดนที่เกิดเหตุเป็นแดนที่ 4 ซึ่งเป็นแดนแรกรับ ที่มีการรับผู้ต้องขังใหม่เข้ามาภายในเรือนจำ โดยเรือนจำมีกระบวนการการแยกขังผู้ต้องขังอย่างน้อย 15 วัน โดยมีมาตรฐานการดูแลตามที่กรมราชทัณฑ์กำหนด แต่เนื่องจากการระบาดในระลอกนี้มีความรุนแรงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา จึงได้ขอรับการช่วยเหลือและได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากทางจังหวัดเชียงใหม่ ทหาร ตำรวจ และทุกภาคส่วนรวมถึงพี่น้องประชาชน ให้เข้ามาช่วยเหลือ
    

สำหรับเหตุการณ์การระบาดในเรือนจำเกิดจากมีผู้ต้องขังจากแดน 4 ไปเรียนหนังสือที่แดน 6 จากแดน 6 ไปสู่ผู้ต้องขังที่แดน 5 ซึ่งเป็นผู้ต้องขังจากโทษคดีทั่วไป และขยายไปถึงแดน 7 ซึ่งมาเรียนหนังสือร่วมกัน ทำให้เกิดการติดเชื้อกันอย่างรวดเร็ว ที่ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ของกรมราชทัณฑ์  ซึ่งหลังจากเกิดเหตุแล้ว อาจจะต้องเพิ่มจำนวนวันในการกักตัวเป็น 21 วัน หรือ 30 วัน และมีการ Swap ทุกวัน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของทางกรมราชทัณฑ์ที่จะต้องปรับปรุงและตั้งรับการพัฒนาของโรคต่อไป
    

ทางเรือนจำกลางเชียงใหม่ได้รับความร่วมมืออย่างดี จากรองเจ้ากรมแพทย์ทหารบก ที่นำคณะแพทย์ พยาบาลเข้ามาดูแล ตลอดจนทีมสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่แตง ที่ได้เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ด้วยสภาวการณ์นี้ ทางเรือนจำได้ให้ความรู้ในการอบรม ชี้แจง เพื่อให้ผู้ต้องขังอยู่กันอย่างสงบ และให้ความร่วมมืออย่างดี โดยมีการให้กำลังใจซึ่งกันและกันภายในเรือนจำ และคาดว่าสถานการณ์จะกลับมาสู่ปกติได้โดยเร็ว
    

ด้านนายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม นายอำเภอแม่แตง กล่าวว่า ทางอำเภอแม่แตงได้จัดตั้ง Local Quarantine จำนวน 4 ศูนย์ เพื่อรองรับผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำกลางเชียงใหม่ ทั้งผู้ที่พ้นโทษและผู้ประกันตัวในชั้นศาล เนื่องจากมาจากพื้นที่เสี่ยงสูงมาก เพื่อติดตามและสังเกตอาการ โดยมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลแม่แตง และสาธารณสุขอำเภอแม่แตงเข้ามาดูแลและรักษาพยาบาล พร้อมทั้งมีการจัดตั้งเวรยามควบคุมตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมามีผู้ที่กักตัวอยู่ใน Local Quarantine ของอำเภอแม่แตง ทั้งหมด 57 คน มีผลเป็นบวก 30 คน ซึ่งได้นำส่งเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่ คงเหลือผู้กักตัวอยู่ในการดูแลอีก 23 คน และอีก 4 คนได้ตรวจหาเชื้อซ้ำ 2 รอบ พบว่าไม่มีเชื้อและพ้นระยะการเฝ้าระวัง จึงได้อนุญาตให้กลับบ้านได้ ทั้งนี้ขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าผู้ที่ถูกปล่อยตัวมาจะไม่มีการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ชุมชน

เชียงใหม่แจงยิบติดเชื้อในเรือนจำลั่น\"คุมได้\"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง