ธุรกิจแบบเก้าอี้ 20 ขา ผลักดัน YSS สู่ผู้นำตลาดโลก

24 พ.ค. 2564 | 20:30 น.

ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่สินค้าแบรนด์ไทย จะก้าวขึ้นสู่ผู้นำตลาดโลก แต่ “ภิญโญ พานิชเกษม” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วาย.เอส.เอส. (ประเทศไทย) จำกัด ก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คนไทยทำได้ และทำได้ดีเสียด้วย จากการสร้างแบรนด์โช้คอัพรถจักรยานยนต์ HIGH PERFORMANCE สัญชาติไทย YSS (วาย.เอส.เอส) ที่ต่างชาติรู้จักและยอมรับ จนก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์โช้คอัพอันดับ 1 ทั้งในไทยและอีกหลายประเทศ

หากถามว่า อะไรคือกลยุทธ์ที่นำความสำเร็จมาให้ วาย.เอส.เอส บอกได้เลยว่า มันคือการดำเนินธุรกิจด้วยรูปแบบ “ธุรกิจแบบเก้าอี้ 20 ขา” สร้างฐานธุรกิจให้กว้าง ทำสิ่งที่ตอบสนองตลาด ด้วยความยืดหยุ่น พร้อมปรับแผนรบตามสถานการณ์ที่เจอด้วยความจริงใจและซื่อสัตย์ในการทำธุรกิจไม่ว่าจะกับลูกค้า ทีมงาน และพาร์ทเนอร์

ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และลุยธุรกิจเต็มตัวเมื่อปี 2538 “ภิญโญ” เล่าว่า ต้องเจอกับมรสุมหนักมาตั้งแต่ปี 2540 ช่วงค่าวิกฤติเงินบาท ซึ่งถือว่าหนักที่สุดสำหรับ YSS หลังจากนั้นเราไม่คิดว่าหนัก เพราะเราสร้างฐานกว้าง เราทำธุรกิจแบบเก้าอี้ 20 ขา คนอื่น ทำแค่ 2 ขาเรากระจายผลิตภัณฑ์ กระจายตลาด ซึ่งแน่นอนว่า มันไม่มีทางที่สินค้าทุกตัว จะตกทุกตลาดทั่วโลก

ภิญโญ พานิชเกษม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วาย.เอส.เอส. (ประเทศไทย) จำกัด

สำหรับโควิด -19 หนักสำหรับประเทศ เพราะมักกระทบทุกอย่าง แต่สำหรับ YSS เมื่อเจอโควิด คนเดินทางได้น้อยลง แต่คนมีมอเตอร์ไซค์ ก็มาใช้ และเมื่อใช้เยอะ ใช้ประจำ ก็อยากดูแลให้รถของตัวเองมีสภาพที่ดี ก็เลยเกิดดีมานท์ ดังนั้นสำหรับ YSS มันเป็นโอกาส

ในช่วงที่ต้องเผชิญกับปัญหา วิธีการที่ “ภิญโญ” ทำมาตลอด คือ การสื่อสารกับพนักงาน มีการเรียกประชุม บอกลูกน้องว่าเกิดโควิด เล่าให้เขาฟังถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งหากทุกคนยอมแพ้ นอกจากจะมีผลกระทบกับบริษัท ตัวเราทุกคนก็จะได้รับผลกระทบด้วย หากเราไม่ยอมจำนนท์ เราก็มีสิทธิชนะ และถ้าคู่แข่งถอย แต่เราลุย เราก็จะโดดเด่นกว่า เป็นการทำให้ลูกน้องเกิดความหึกเหิม

YSS ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน อาทิ การจัดของส่งให้ลูกค้าตลอด 24 ชม. สำหรับตลาดไทย ส่วนตลาดต่างประเทศ ช่วงคลองสุเอชมีปัญหา ตู้คอนเทนเนอร์ช็อตทั่วโลก ก็เปลี่ยนมาส่งของผ่านเครื่องบิน โดย YSS ช่วยแชร์ค่าขนส่งครึ่งหนึ่ง...เขาก็ได้ของ เราก็ได้ขายของ การส่งของเราเร็วกว่า แม่นยํ้ากว่า ไม่สร้างอุปสรรคให้คู่ค้า เพราะเขาอยากได้สินค้าที่เร็ว เอาลูกค้าเป็นตัวตั้ง...ซึ่งในช่วงนี้คนเดินทางไม่ได้ สายการบินก็เปลี่ยนมาทำคาร์โก้มากขึ้น ทำให้เราได้ในราคาขนส่งที่ถูกลงด้วย

จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบทำงาน ส่งผลให้ YSS สามารถสร้างยอดขายเติบโตได้ 4% ในปีที่แล้ว ซึ่งตลาดรวมตกไป 5-10% และในปี 2564 ไตรมาสแรกที่ผ่านมา สามารถเติบโตได้ถึง 20% เพราะไม่เพียงแค่การปรับรูปแบบการทำงาน แต่ “ภิญโญ” ยังเดินแผนธุรกิจ 20 ขา แตกไลน์โปรดักส์ใหม่ๆ ขยายเซ็กเม้นท์ และเริ่มรุกเข้าสู่ตลาดรถยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าตอบสนองทั้งความต้องการของตลาดเดิม และมองหาโอกาสในตลาดใหม่

ธุรกิจแบบเก้าอี้ 20 ขา ผลักดัน YSS สู่ผู้นำตลาดโลก

“เราไม่ใช่ตลาด OEM ไม่ใช่ตลาดรีเพลสเม้นท์ เราเป็นตลาดที่คนอยากได้อะไรที่ดีกว่าสำหรับรถของเขารวมไปถึงตลาดของคนรักรถทั้งรถมอเตอร์ไซด์และรถยนต์ จากตลาดหลักของ YSS ที่เป็นมอเตอร์ไซด์ 93% ตอนนี้ขยายสู่ตลาดรถยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ ออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น”

การจัดของส่ง 24 ชั่วโมง ปีนี้ YSS ยังทำต่อเนื่อง เพราะลูกค้าได้ประโยชน์ องค์กรก็ได้ประโยชน์ ซัพพลายเออร์ประมาณ 100 ราย และพนักงาน 350 คน ก็อยู่ได้เช่นกันซึ่งที่ผ่าน บริษัทไม่มีการลดจำนวนพนักงานและไม่ลดเงินเดือน โดยยังมีการจ่ายโบนัสปกติ ปีละ 2 ครั้ง และยังขยายธุรกิจรับพนักงานเพิ่มอีกหลายตำแหน่ง อาทิ มาร์เก็ตติ้ง เอ็กซ์ปอร์ต เอ็นจิเนียร์ พร้อมๆ กับอัพสกิลรีสกิลพนักงานเดิม ให้มีความสามารถเป็นมัลติสกิล

ผู้นำ YSS กล่าวทิ้งท้ายว่า...ผมจบธรรมศาสตร์ ปี 2522 Motto ของสถาบันคือ “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้เรารักประชาชน” ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมือง ถ้าเราทำธุรกิจ ทำเพื่อประชาชนเรารับรู้ และปฏิบัติ ช่วยตามกำลังและในมุมที่ควรจะช่วยได้...นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ YSS ที่ทำการตลาดไปกว่า 55 ประเทศ โดยมีตลาดใหญ่ที่ยุโรป ไม่เคยคิดจะไปสร้างโรงงานในประเทศเหล่านั้น เพราะเขาต้องการสร้างงานให้คนไทย สร้างแบรนด์คนไทยจากฝีมือคนไทยจริงๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 24 ฉบับที่ 3,680 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564