สถานการณ์การโควิดในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมลฑ ที่มีการพบสายพันธุ์อินเดีย ทำให้ประชาชนต่างวิตกกังวล และวัคซีนโควิดก็เป็นความหวัง โดยเฉพาะวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่แพทย์ระบุว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันสายพันธุ์อินเดียได้ดี และสำหรับประเทศไทยก็มีวัคซีนชนิดนี้ ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งมีรายงานว่ามีแผนการส่งมอบทั้งหมดรวม 61 ล้านโดส
แต่วันนี้หลายโรงพยาบาลมีการประกาศแจ้งเลื่อนการฉีดวัคซีน AstraZeneca ออกไปก่อน ได้แก่
โรงพยาบาลวชิรพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ขอเลื่อนวันรับวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2564 ออกไปก่อน (รับการฉีดเข็มที่ 1 ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม - 5 เมษายน 2564)
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีเฉพาะวัคซีน Sinovac ให้บริการประชาชนเท่านั้น
รายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่า กรณีเลื่อนฉีด AstraZeneca เข็มที่ 2 เพราะรัฐบาลได้ปรับแผนเป็นฉีดหมด ไม่เก็บสำหรับเข็มที่ 2 เพื่อเพิ่มจำนวนคนฉีด เพราะโควิดรอบ3 ระบาดเป็นวงกว้างและเร็ว เลยต้องฉีดให้ประชาชนในเข็มแรกให้มากที่สุด แล้วค่อยฉีดเข็ม 2 เมื่อมีวัคซีนล็อตใหม่เข้ามา
จากข้อมูลของ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่รายงานต่อที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ตอนหนึ่งระบุว่า ข้อมูลจากมหาวิทยาลัย OXFORD พบว่าการฉีดวัคซีน AstraZeneca ระยะห่างระหว่างโดสยิ่งนาน ประสิทธิภาพยิ่งดี วัคซีนสามารถลดการเกิดโรคทุกรูปแบบได้ประมาณ 50% โดยแนะนำให้ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 10-12 สัปดาห์ โดยวัคซีน AstraZeneca ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเกือบจะเต็มที่ตั้งแต่หลังฉีดเข็มที่ 1
ประสิทธิผลของ AstraZeneca มีผลการวิจัยระยะที่ 3 ดังนี้
1. มีประสิทธิผลในการป้องกันภาพรวมได้ผลป้องกันการป่วยได้ 79 %
2. ป้องกันอาการหนักหรือเสียชีวิตได้ 100 %
3. ระยะห่างระหว่างโดสยิ่งนาน ประสิทธิภาพยิ่งดี
4. วัคซีนสามารถลดการเกิดโรคทุกรูปแบบได้ประมาณ 80 %
5. ลดการแพร่กระจายของโรคได้ถึง 67 %
6. ภูมิคุ้มกันขึ้นเต็มที่หลังเข็มที่ 1
ข้อแนะนำ การฉีดเข็มที่ 2
• แนะนำฉีด 10-12 สัปดาห์
ประสิทธิผลในการป้องกันโรคของวัคซีน AstraZeneca เทียบกับ วัคซีน Pfizer
หลังจากฉีด 1 เข็ม ในประเทศสก็อตแลนด์พบว่า ประสิทธิผลของวัคซีน Pfizer 91 % ส่วน วัคซีน AstraZeneca 88 % ขณะที่ สหราชอาณาจักร พบว่า ประสิทธิผลของทั้ง 2 วัคซีน ป้องกันการแพร่เชื้อได้ 50 % โดย วัคซีน AstraZeneca ป้องกันได้ตั้งแต่ก่อน 10 หลังฉีด
อาการข้างเคียงของ AstraZeneca จากการศึกษาระยะ 3 ที่พบจริง
1. มีไข้ เพลีย ปวดหัว คลื่นไส้ 80%
2. แพ้รุนแรง (ในไทย) 8.4 % / ล้าน
3. อาจมีเรื่องภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากการสร้างภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนหรือ VITT
ถาม-ตอบ เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน
1. ฉีดสลับตัวได้ไหม
ตอบ = ได้ถ้าจำเป็น แนะนำตัวเดิมก่อน
2. ต้องฉีดซ้ำเมื่อไหร่
ตอบ = คาดว่าต้องซ้ำ ยังไม่ทราบว่าเมื่อไหร่
3. เป็นแล้วต้องฉีดไหม
ตอบ = ควรฉีด แต่ควรทิ้งช่วงหลัง 3 เดือนเป็นอย่างน้อย
4. กำลังเป็นโควิดอยู่ ฉีดได้ไหม
ตอบ = รอหายก่อน
5. ป้องกันกลายพันธุ์ได้ไหม
ตอบ = ยังป้องกันได้ แต่ประสิทธิภาพอาจลด แต่ป้องกันอาการหนักและเสียชีวิตได้ดี
ด้านผลการศึกษาของสาธารณสุขอังกฤษ ชี้ถึงประสิทธิภาพของวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพ 60% ในการป้องกันการป่วยแบบมีอาการจากไวรัสสายพันธุ์อินเดีย ขณะที่ป้องกันไวรัสสายพันธุ์เคนต์ได้ 66%
สาธารณสุขอังกฤษเน้นว่าโดสแรกของวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการตัวกลายพันธุ์ B.1.617.2 เพียงแค่ 33% หลังฉีด 3 สัปดาห์ ผิดกับตัวกลายพันธุ์ B.1.1.7 ที่วัคซีนทั้งสองมีประสิทธิภาพในการติดเชื้อแบบแสดงอาการ 50%
อย่างไรก็ตามการส่งมอบวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศไทย โดยสยามไบโอไซเอนซ์ จะมีประมาณ 61 ล้านโดส แบ่งการส่งมอบ ดังนี้
• เดือนพฤษภาคม 1.7 ล้านโดส
• เดือนมิถุนายน 4.3 ล้านโดส
• เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน เดือนละ 10 ล้านโดส
• เดือนธันวาคม 5 ล้านโดส
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวว่าภายหลังเดินทางเข้าฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เข็มที่ 2 ที่สถาบันบำราศนราดูร หลังจากฉีดเข็มแรกไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ซึ่งมีระยะห่าง 10 สัปดาห์ ว่า รัฐบาลจะต้องพิจารณาแผนการกระจายวัคซีนใหม่ ว่าพื้นที่ไหนควรได้วัคซีนมากน้อย ขีดความสามารถในการกระจายวัคซีน
“ประชาชนทุกคนต้องได้รับวัคซีนอย่างแน่นอน ขอให้มั่นใจ และทำความเข้าใจ อย่าเชื่อข่าวบิดเบือน เมื่อมีปัญหาก็ต้องแก้ไข ยอมรับว่าไม่มีอะไรเป็นสูตรตายตัวสำหรับส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัด มีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล ที่จะปรับแก้ตลอดเวลา หากวัคซีนพอก็ทำตามแผน หากน้อยก็ปรับแผน หรือมากกว่าก็ปรับแผนก”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง