ไฟเซอร์-โมเดิร์นน่า ไม่ขายให้เอกชนเเต่ขายให้ "รัฐบาลกลาง"

25 พ.ค. 2564 | 03:31 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2564 | 11:37 น.

ที่ปรึกษาการสื่อสาร ศบค. ยืนยันรัฐบาลไม่เคยปิดกั้นเอกชนจัดหา "วัคซีนทางเลือก" แต่เป็นนโยบายบริษัทผลิตวัคซีน เผยไฟเซอร์-โมเดิร์นน่า ไม่ขายให้เอกชนเเต่ขายให้ "รัฐบาลกลาง"

ท่ามกลางกระแสที่หลายโรงพยาบาลออกมาชี้แจงเลื่อนการฉีดวัคซีน AstraZeneca เพราะยังไม่มีวัคซีนในมือ ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลออกมายืนยันว่าวันที่ 7 มิถุนายน นี้จะเริ่มฉีดวัคซีนพร้อมกันทั่วประเทศ ก็น่าจะทำให้ประชาชนอุ่นใจและคลายความกังวลได้ว่าวัคซีนแอสตร้าเซเนนก้าล็อตแรกจะเข้ามาราว 61 ล้านโดส ซึ่งถือว่าเป็นวัคซีนหลักของไทยก็ว่าได้ 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดคำถามขึ้นมาว่าเกิดอะไรขึ้นกับการส่งมอบวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศไทยโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์หรือไม่  

ในขณะที่รัฐบาลพยายามรรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิดยี่ห้อหลักที่มี 2 ตัวคือ ซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า แต่หลายคนก็ยังต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับวัคซีนทางเลือกอื่น ๆ เช่น วัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนโมเดิร์นน่า ฯลฯ 

นอกจากนี้ยังมี "กลุ่มหมอไม่ทน" ระดมชื่อประชาชนผ่านเว็บไซต์ Change.org กระตุ้น "องค์การเภสัชกรรม และกระทรวงสาธารณสุข" ให้เตรียมแผนสำหรับวัคซีนเข็มที่ 3 และ 4 ย้ำ เรียกร้องรัฐบาลปลดล็อกวัคซีนทุกยี่ห้อ ที่สามารถติดต่อได้ทันที ยกเลิกการคุมอำนาจบริหารจัดการไว้เพียงลำพัง
 

ล่าสุด "ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หนึ่งในทีมที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้กับ ศบค. โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวโดยระบุว่า

รัฐบาลไทย ไม่เคยปิดกั้นให้เอกชนจัดหาซื้อวัคซีนทางเลือก แต่เป็นนโยบายของบริษัทผลิตวัคซีน ที่จะขายให้กับรัฐบาลกลางเท่านั้น (รัฐบาลท้องถิ่นก็ไม่ขาย) ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันทั่วโลก ไม่ใช่แค่ที่ไทยประเทศเดียว โดยอ้างถึงรายงานเว็บไซต์ The Times of India  

โดยในรายงานระบุว่า รัฐบาลอินเดียเร่งพยายามหาซื้อวัคซีนโควิดอย่างหนักเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด โดยได้แจ้งให้รัฐลองติดหาซื้อวัคซีนเองจากบริษัทไฟเซอร์และโมเดิร์นน่า ซึ่งได้รับคำตอบกลับมาว่า จะขายให้กับ "รัฐบาลกลาง" ของอินเดียโดยตรงเท่านั้น และจะไม่ขายให้กับรัฐบาลท้องถิ่น หรือบริษัทเอกชน

โดยโมเดิร์นน่าบอกว่าเป็น "นโยบายของบริษัท" ที่จะขายให้กับรัฐบาลกลางของแต่ละประเทศเท่านั้น  ส่วนไฟเซอร์ ก็แจ้งทางอินเดียว่าต้องการขายให้กับรัฐบาลกลางโดยตรงเท่านั้น เนื่องจากต้องการได้รับเงื่อนไขการยกเว้นการชดเชย (indemnity) บางข้อ (หลักๆน่าจะเรื่องยกเว้นการชดเชยจากการเกิดผลข้างเคียง ซึ่งน่าจะมีแต่รัฐบาลกลางเท่านั้นที่มีอำนาจยกเว้น) ซึ่งแนวทางนี้ใช้กับแทบทุกประเทศทั่วโลก  

แต่อย่างไรก็ตาม เกือบทุกบริษัทก็แทบไม่มีวัคซีนให้ส่งกันทั้งนั้น โดยโมเดิร์นน่านั้นบอกล่วงหน้าชัดเจนเลยว่า "ของขาด" ไปจนถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย

ไฟเซอร์-โมเดิร์นน่า ไม่ขายให้เอกชนเเต่ขายให้ \"รัฐบาลกลาง\"

“คนที่ไม่เชื่อว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ปิดกั้นวัคซีนทางเลือกให้กับบริษัทเอกชนไปหาซื้อมาเอง โดยเฉพาะไฟเซอร์และโมเดิร์นน่า ลองเชื่อรัฐบาลอินเดียดูมั้ยครับ? รัฐบาลไทย ไม่เคยปิดกั้นให้เอกชนหาซื้อวัคซีนเข้ามาเสริมเป็นทางเลือก แต่เป็นนโยบายของบริษัทผลิตวัคซีน ที่จะขายให้กับรัฐบาลกลางเท่านั้น (รัฐบาลท้องถิ่นก็ไม่ขาย) ซึ่งเป็นแนวทางนี้ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ที่ไทยประเทศเดียว (จริงๆทางไฟเซอร์ในไทย ก็เคยชี้แจงแบบนี้มาแล้ว แต่บางคนก็หาว่ารัฐบาลกดดันให้เขียนแบบนั้นบ้างล่ะ ร่วมมือกันบ้างล่ะ) ก็ต้องเข้าใจว่า วัคซีน ไม่ใช่สินค้าที่ใครจะเดินเข้าไปในร้าน แล้วขอซื้อเมื่อไหร่ ยี่ห้อไหนก็เลือกได้ครับ” 
 

ก่อนหน้านี้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกรัฐบาล โพสต์เฟซบุ๊ก เปิดเผยถึงคืบหน้า จัดหาวัคซีนทางเลือก ตัวที่ 3 ในไทย “โมเดิร์นน่า” ขึ้นทะเบียนในไทยแล้ว คาดสั่งซื้อ 5 ล้านโดส ย้ำ ไม่ได้ปิดกั้นแต่เป็นความต้องการให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ซื้อ การจัดซื้อวัคซีนทางเลือกนั้น

มีเงื่อนไขการขายของผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศเองที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐของประเทศผู้ซื้อวัคซีน เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการตามแนวทางของการขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ Conditional Approval for Emergency Use

ซึ่งในส่วนวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นานี้ ผู้ผลิตต้องการให้ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการ องค์การเภสัชกรรมจึงเข้ามาร่วมดำเนินการ ส่วนยี่ห้ออื่นนั้นขึ้นกับอยู่เงื่อนไขการขายของผู้ผลิตว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตจะให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ดำเนินการเช่นกัน ไม่ได้มีการปิดกั้นช่องทางการนำเข้าวัคซีนทางเลือกผ่านโรงพยาบาลเอกชนหรือภาคเอกชนอื่นๆ แต่อย่างใด

สำหรับแผนการจัดหาวัคซีนโควิดของไทยสู่เป้าหมาย 100 ล้านโดสเพื่อฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคน เพื่อครอบคลุม 70% ของประชากร ภายในสิ้นปี 2564 โดยเป็นภาครัฐจัดหาเองทั้งหมด ส่วนภาคเอกชนยังเปิดโอกาสให้หาวัคซีนเพิ่มเติมได้ วัคซีนโควิดที่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ติดต่อสั่งซื้อในแผนการจัดซื้อ มีอยู่ 4 ยี่ห้อ คิดเป็นร้อยละ 30 ของความต้องการในประเทศ ได้แก่

  • ไฟเซอร์ (Pfizer) จำนวน 5-20 ล้านโดส
  • จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson: J&J) จำนวน 5-10 ล้านโดส
  • สปุตนิก วี (Sputnik V) จำนวน 5-10 ล้านโดส
  • ซิโนแวค (Sinovac) ซึ่งเป็นการสั่งซื้อเพิ่มเติมจากโดสที่มีอยู่อีก จำนวน 5-10 ล้านโดส

อย่างไรก็ตาม สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,644 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2564 หลังจากที่รัฐบาลประกาศให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ เฉพาะคำถามที่ว่า 
ประชาชนเชื่อมั่นวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทใดมากที่สุด พบว่า

  • ร้อยละ 75.11 ระบุ ไฟเซอร์ (Pfizer)
  • รองลงมา ร้อยละ 72.14 ระบุ โมเดอร์นา (Moderna)
  • ร้อยละ 68.52 ระบุ จอนห์สัน แอนด์ จอนห์สัน (Johnson & Johnson)
  • ร้อยละ 65.89 ระบุ แอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง