ภาพประวัติศาสตร์ ราหูอมจันทร์-วันวิสาขบูชา 2564

26 พ.ค. 2564 | 13:45 น.

ชมภาพประวัติศาสตร์ ราหูอมจันทร์-วันวิสาขบูชา 2564

วันนี้ (26พ.ค.)  ตรงกับ วันวิสาขบูชา2564 ทางกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้เชิญชวนพุทธศาสนิกชน เข้าร่วมกิจกรรม​สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาในรูปแบบออนไลน์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด19

วันวิสาขบูชา 2564 ตรงกับวันราหูอมจันทร์ หรือ จันทรุปราคา ในวันเดียวกันโดย ราหูอมดวงจันทร์ ตั้งแต่เวลา 18.00 น.-20.00 น.

อย่างไรก็ตาม “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมภาพประวัติศาสตร์ ภาพ ราหูอมจันทร์ วิสาขบูชา ในวันนี้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทับซ้อนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า คืนวันวิสาขบูชา จะเกิดจันทรุปราคา บางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย ค่ำวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 18:38-19:52 น. ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏเว้าแหว่ง สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ

ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก หรือ ราหูอมจันทร์ ตั้งแต่เวลา 15:47 น. จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 16:44 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 18:11-18:25 น. แต่ในวันดังกล่าว ในประเทศไทยดวงจันทร์จะโผล่พ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 18:38 น. ทำให้ผู้สังเกตในไทยมีโอกาสมองเห็นเป็นเพียงจันทรุปราคาบางส่วนเท่านั้น

ผู้สนใจสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าในทุกภูมิภาคของประเทศ บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 18:38 น. เป็นต้นไป จะมองเห็นดวงจันทร์ปรากฏเว้าแหว่งบางส่วนและค่อย ๆ ออกจากเงามืดของโลก

จนกระทั่งเข้าสู่เงามัวหมดทั้งดวงในเวลา 19:52 น. เปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตได้ยาก เนื่องจากความสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20:49 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่กลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ และเป็นจังหวะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงาของโลก ทำให้ผู้สังเกตบนโลกฝั่งกลางคืน ในพื้นที่กว่าครึ่งโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งหายไปในเงามืดแล้วโผล่กลับออกมาอีกครั้ง โดยจะเกิดขึ้นเฉพาะในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ หรือคืนวันดวงจันทร์เต็มดวงเท่านั้น เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง บางปีอาจมีได้มากถึง 5 ครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

ภาพราหูอมจันทร์

 

ภาพประวัติศาสตร์ ราหูอมจันทร์-วันวิสาขบูชา 2564