วันนี้ (26 พ.ค. 64) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร เพื่อคนพิการ ซึ่งบูรณาการการทำงาน 3 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในการบริหารจัดการเพื่อให้บริการผู้ป่วยพิการที่อายุระหว่าง 15-65 ปี ที่ได้รับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ทั้งนี้จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายน 2564
โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่ และผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมลงพื้นที่ ณ อาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
นายจุรินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมในทุกมิติ ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความรุนแรงและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และพบว่าปัจจุบันการป่วยจากการติดเชื้อ COVID-19 ในกลุ่มคนพิการ แม้จะมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มอื่นๆ แต่ยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อจากคนในครอบครัวที่เป็นผู้ดูแล คนพิการ รวมถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการดำเนินชีวิตของคนพิการเองที่จะต้องอาศัยการสัมผัสพื้นผิววัตถุและบุคคลอื่นๆ
ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะให้การดูแลทั้งคนพิการและครอบครัว ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกและลดการสัมผัสระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการกับผู้ป่วย COVID-19 โดยมีภารกิจสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรองรับการดำเนินการอย่างเข้มแข็ง ดังนี้ 1) ด้านอาคารสถานที่และการจัดสภาพแวดล้อม และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ สนับสนุนโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวง อว. ซึ่งได้นำ 11 นวัตกรรมและระบบเทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ป่วยระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลสนามฯ อาทิ รถเข็นบังคับระยะไกลส่งของให้ผู้ป่วย COVID-19 ทั้งจาก สวทช. และกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เครื่องฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวีซี เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อและฆ่าเชื้อ ระบบ TTRS (เครื่องช่วยสื่อสารสำหรับคนหูหนวก) เปลปกป้อง (เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ) เป็นต้น 2) ด้านการแพทย์ อุปกรณ์การตรวจรักษา/เวชภัณฑ์ และหลักสูตรการอบรมเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย COVID-19 สนับสนุนโดย สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินภารกิจหลักในการรักษาอาการป่วยบนฐานของการเชื่อมประสานระบบเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับความต้องการของคนพิการ 3) ภารกิจด้านสวัสดิการสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ และสิ่งของอุปโภคบริโภค สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวง พม. ทำหน้าที่ในการประสาน ส่งต่อ และให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการในระหว่างที่คนพิการและครอบครัวพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนาม รวมถึงวางแผนการให้ความช่วยเหลือและติดตามภายหลังคนพิการและครอบครัวหายจากอาการป่วยและปลอดเชื้อ COVID-19 เดินทางกลับสู่ครอบครัวและชุมชน“ผมเชื่อมั่นว่าพลังการขับเคลื่อนในครั้งนี้ จะสร้างระบบการให้บริการของโรงพยาบาลสนามที่สามารถตอบโจทย์ได้ตรงตามความต้องการและสามารถอำนวยความสะดวกให้คนพิการและครอบครัว ในการดำรงชีวิตในระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสนามได้อย่างเหมาะสม
ทั้งอาคารสถานที่และระบบเทคโนโลยี รวมถึงระบบอุปกรณ์ทางการแพทย์และการดูแลของแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่จะหมุนเวียนกันมาปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ โดยจะพร้อมเปิดให้บริการในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 พร้อมขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่มุ่งมั่นสืบสานพันธกิจร่วมกัน และนำสู่การขยายผลต้นแบบโรงพยาบาลสนามที่เหมาะสำหรับทุกคนขยายไปสู่ทั่วประเทศต่อไป”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า กระทรวง อว.สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขสถานการณ์โรคโควิด-19 ด้วยการดำเนินงานแบบบูรณาการงานของ อว. โดยใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ยา และวัคซีนโดยได้พัฒนาวัคซีนป้องกันCOVID-19 สำเร็จ 3 ชนิด ด้วยเทคโนโลยีระดับเดียวกับนานาประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการทดสอบในอาสาสมัครเป็นกระบวนการทดสอบในขั้นสุดท้าย คาดว่าปลายปีจะเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อจำหน่าย และแจกจ่ายในประเทศพร้อมทั้งส่งออกไปยังต่างประเทศ
นอกจากนี้ สวทช. โดยนักวิจัยไบโอเทคยังได้สังเคราะห์สารตั้งต้นยา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ สำเร็จ ทดแทนวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ เหล่านี้ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของความก้าวหน้าในการพัฒนางานวิจัยของคนไทยเพื่อใช้ผลิตเป็นยาต้านโรคโควิด-19 รวมถึงได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และทุกภูมิภาค และการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการในครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการทั้ง 3 กระทรวง ถือเป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อคนพิการแห่งแรกและเป็นอีกก้าวสำคัญของการทำงานที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย“กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำของคนพิการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีงานวิจัยในหลายด้านที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนพิการ ทำให้มีความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้แต่ละหน่วยงานร่วมกันบูรณาการกันในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อคนพิการ ที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย โดยใช้ชื่อว่า “โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ” ใช้พื้นที่บริเวณห้องพักชั้น 5 ถึงชั้น 10 ของอาคาร สามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 224 เตียง ซึ่งนอกจากความพร้อมด้านสถานที่แล้ว สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ยังได้นำ 11 ผลงานนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อลดการแพร่กระจายและฆ่าเชื้อในพื้นที่โรงพยาบาลสนามฯ ขณะเดียวกันยังช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนพิการและครอบครัวด้วยเช่นกัน”
อนึ่งเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ในขณะนั้น) โดย สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อ “บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร” (Sirindhorn Science Home: SSH) เพื่อดำเนินโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร (Permanent Science Camp) เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ฝึกทักษะและพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับเด็กและเยาวชนผู้มีความสนใจและมีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อว. ยังได้ใช้บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ให้แก่ผู้มีความบกพร่องทางด้านร่างกายมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมในสังคมไทยด้วย
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ทวีความรุนแรงและขยายวงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อประชากรไทยในหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพิการที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสและติดเชื้อ อีกทั้งยัง ขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบดูแลสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีรายงานคนพิการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามทั่วไปหรือ Hospitel บางแห่งได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อความพิการเฉพาะด้านนั้นๆ
การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับคนพิการแห่งนี้ เป็นการบูรณาการงานร่วมกันเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง“กระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุน ทีมผู้ดูแลรักษา อันประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล ทีมสหวิชาชีพและเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติงาน ที่เตรียมการวางระบบการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเหมาะสมกับความพิการ และสามารถติดตามถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดอย่างต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาที่พักรักษาตัว รวมทั้งเตรียมแผนการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลกรณีฉุกเฉิน โดยจัดเตรียมรถพยาบาลรองรับภารกิจตลอด 24 ชั่วโมง โดยกระบวนการรับข้อมูลผู้ป่วยคนพิการจะมีการประสานงานรับเรื่องจากทั้งสายด่วนคนพิการ และสายด่วน 1668 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สุดท้ายนี้ในนามกระทรวงสาธารณสุขขอขอบพระคุณ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ที่ให้ความร่วมมือในการดูแลคนพิการในครั้งนี้”
นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้ตระหนักและมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยได้ร่วมกับองค์กรด้านคนพิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการเชื่อมโยงการให้ความช่วยคนพิการและครอบครัวที่เจ็บป่วยและได้รับผลกระทบในสถานการณ์ COVID-19
โดยได้ตั้งคณะทำงานช่วยเหลือคนพิการ ภายใต้ชื่อ ‘ทีมเรามีเรา’ ประกอบด้วย นักสังคมสงเคราะห์ นักพัฒนาสังคม ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือคนพิการ เพื่อรับแจ้งเหตุ/เฝ้าระวัง ประสานส่งต่อ ดำเนินการและติดตามการให้ความช่วยเหลือคนพิการที่ติดเชื้อ COVID-19 ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยการประสานหาสถานที่รักษาพยาบาลตามอาการติดตามอาการและให้คำแนะนำปรึกษาในระหว่างรอเข้ารับการรักษาพยาบาล ให้คำแนะนำ เสริมกำลังใจ จัดส่งเครื่องอุปโภคบริโภคทางไปรษณีย์ วางแผนการติดตามและให้ความช่วยเหลือหลังจากได้รับการรักษาอาการป่วยเรียบร้อยแล้ว ผ่านการให้บริการศูนย์ช่วยเหลือสังคมสายด่วน 1300 และ สายด่วนคนพิการ 1479 รวมถึงแอปพลิเคชัน TTRS กรณีคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย เพื่อให้คนพิการได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมปราศจากการเลือกปฏิบัติอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ได้ประสาน ติดตามและให้กำลังใจคนพิการและครอบครัวกว่า 500 ราย พบว่าส่วนใหญ่ มีรายได้ไม่เพียงพอ มีปัญหาการว่างงาน ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ขาดรายได้ และมีความวิตกกังวลจาก COVID-19 รวมถึงผู้ดูแลคนพิการที่ประสบปัญหาเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลคนพิการ ซึ่งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการบูรณาการการให้ความช่วยเหลือคนพิการและครอบครัวที่ติดเชื้อ COVID-19 ได้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้กระทรวง พม. ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมกันจัดตั้งโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ ที่มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่อย่างครบครัน โดยมุ่งหวังให้เป็นโครงการต้นแบบ (Prototype project) ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของคนพิการในการเข้าถึงบริการและใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อรักษาอาการป่วยในกลุ่มคนพิการที่ติดเชื้อ COVID-19 แต่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ให้มีความปลอดภัยที่สุด ขอร่วมเป็นกำลังใจในการก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน