รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุข้อความว่า
น่าเป็นห่วง !! พบประสิทธิผลของวัคซีน Pfizer (ไฟเซอร์) ลดลงชัดเจน เมื่อเจอไวรัสกลายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และสายพันธุ์อินเดีย
จากการศึกษาของคณะวิจัยอังกฤษโดยโรงพยาบาล University College London ร่วมกับ Francis Crick Institute และ NIHR (National Institute for Health Research) เมื่อมกราคม 2564 และได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำ (Lancet) ได้ทำการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนบริษัท Pfizer ว่าจะมีผลป้องกันไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ต่างๆได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสสายพันธุ์อินเดีย เพราะขณะนี้ไวรัสสายพันธุ์อินเดีย (สายพันธุ์เดลต้า) กำลังเป็นสายพันธุ์หลักที่มาทดแทนไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ (สายพันธุ์อัลฟา)สำหรับการระบาดในประเทศอังกฤษ โดยเป็นการศึกษาในอาสาสมัคร 250 คน อายุเฉลี่ย 42 ปี และได้รับวัคซีนของบริษัท Pfizer
หลังจากที่ได้รับวัคซีนแล้ว ก็ทำการเจาะเลือด หาระดับภูมิต้านทานชนิด Neutralising Antibody (NAbT) ซึ่งมีความจำเพาะเจาะจงมากกว่าภูมิต้านทานแบบทั่วไป (IgG) และได้ผลที่ออกมาน่าสนใจดังนี้ จากไวรัสที่ศึกษาทั้งสิ้น 4 สายพันธุ์ประกอบด้วย
1.สายพันธุ์หลักเดิม (Wild type) (D614G)
2.สายพันธุ์อังกฤษ ที่เรียกชื่อใหม่ว่าสายพันธุ์อัลฟ่า (B.117)
3.สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่เรียกชื่อใหม่ว่าสายพันธุ์เบต้า (B 1.351)
4.สายพันธุ์อินเดีย ที่เรียกชื่อใหม่ว่าสายพันธุ์เดลต้า (B 1.617.2)
พบระดับของภูมิต้านทานแบบทำลายเชื้อไวรัส (NAbT) หรือประสิทธิผลของวัคซีน Pfizer ดังนี้
1.ไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ ต้องใช้ระดับภูมิต้านทานมากขึ้น 2.6 เท่า
2.ไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ต้องใช้ระดับภูมิต้านทานมากขึ้น 4.9 เท่า
3.สายพันธุ์อินเดีย ต้องใช้ระดับภูมิต้านทานมากขึ้น 5.8 เท่า
ยังมีปัจจัยที่น่าสนใจต่อไปอีกคือ หลังฉีดวัคซีน Pfizer เข็มหนึ่ง ระดับภูมิต้านทานที่ป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดิมพบ 79% ไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ 50% ไวรัสสายพันธุ์อินเดีย 32% และไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 25%ระดับภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ถ้าเป็นอาสาสมัครที่อายุมาก ระดับภูมิต้านทานจะขึ้นต่ำกว่าอาสาสมัครที่อายุน้อย
ส่วนเรื่องเพศชาย-หญิง และมวลรวมหรือน้ำหนักตัว ไม่มีผลกับระดับภูมิต้านทาน ที่สำคัญคือ ระดับภูมิต้านทานที่ทำลายไวรัสดังกล่าวนั้น เมื่อเวลาผ่านไปสองถึงสี่เดือน (8-16 สัปดาห์) จะเริ่มมีระดับลดลง โดยการลดลงนั้น จะพบมากในสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และสายพันธุ์อินเดีย
โดยลดลงเร็วกว่าระดับภูมิต้านทานที่มีต่อสายพันธุ์อังกฤษและสายพันธุ์หลักเดิม ทำให้คณะผู้วิจัยของอังกฤษ จำเป็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ให้มีจำนวนอาสาสมัครเพิ่มขึ้น และได้ตั้งข้อสังเกต เรื่องการต้องระมัดระวังไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้และสายพันธุ์อินเดีย เพราะแม้ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม จากบริษัท Pfizer ก็มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับการป้องกันไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ และสายพันธุ์หลักเดิม
วงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ยังจะต้องทุ่มเทสรรพกำลัง ในการวิจัยค้นคว้าวัคซีนรุ่นที่สอง (Second Generation ) เพื่อต่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ที่เรารู้จักอยู่แล้ว และต้องเตรียมการเทคโนโลยี ให้พร้อมที่จะปรับวัคซีนเป็นรุ่นที่สาม (Third Generation) ที่จะรองรับไวรัสกลายพันธุ์ที่จะมีมาใหม่ในอนาคตต่อไป ทำนองเดียวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่เราต้องมีวัคซีนรุ่นใหม่ เพื่อป้องกันสายพันธุ์ใหม่ทุกปีครับ
Reference
https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)01290-3/fulltext
https://www.eurekalert.org/pub_releases/2021-06/tfci-pvr060321.php
https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2021.05.26.445838v1
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รับรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน ไฟเซอร์ พบว่า ไฟเซอร์ (Pfizer-covid vaccine) เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (Covid-19) ที่คิดค้นโดย บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ร่วมกับบริษัทไบโอเอ็นเท็ค (BioNTech) โดยก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือร่วมกับบริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) ซึ่งได้ข้อสรุป ว่า บริษัทฯ จะสำรองการผลิตวัคซีนโควิดให้กับไทย เพื่อใช้ฉีดเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยคาดว่าจัดส่งให้ได้ในช่วงไตรมาสที่ 3- 4 ของปีนี้ หรือราวเดือนกรกฎาคม 64 ประมาณ 10-20 ล้านโดส
จากการเจาะลึกเข้าไปที่ข้อมูลจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ณ วันที่ 1 มิ.ย. 2564 พบว่าจากเป้าหมายการจัดหาวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดสนั้น ระบุว่า
วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส
อยู่ระหว่างต่อรองเงื่อนไขในสัญญา
กำหนดส่งมอบ คาดว่าภายในไตรมาส 3 ของปี 2564
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค เป็นผู้ดำเนินการ
จากข้อมูลที่ได้มาถือว่าสอดคล้องกันระหว่างนายอนุทิน และสถาบันวัคซีนแห่งชาติเกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :