อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ผู้บริหารระดับผู้อำนวยการ (Director) ซึ่งมีตำแหน่งสูงกว่าผู้บริหารระดับผู้จัดการ (Manager) แต่พนักงานอาจมีความรู้สึก (Perception) ว่าผู้จัดการบางท่าน มีอำนาจ (Power) มากกว่าผู้อำนวยการบางท่าน ก็เป็นได้
นักจิตวิทยา 2 คนชื่อ John R.P. French Jr. และ Bertram Raven ได้ทำการศึกษาและแบ่งแยกอำนาจ (Power) ในสังคมและในองค์กรออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ตั้งแต่ปี คศ.1959 และหลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี Bertram Raven ได้ทำงานวิจัยเพิ่มเติมและเพิ่มกลุ่มที่ 6 เข้าไป
Power ทั้ง 6 กลุ่มประกอบไปด้วย
1. Coercive power – อำนาจที่มาจากการบังคับหรือให้โทษได้ หากไม่ทำตาม เช่น นาย ก ยอมทำตามคำสั่งของนาย ข เพราะรู้สึกว่า ถ้าไม่ทำตาม นาย ข อาจทำอันตรายหรือให้โทษกับตนได้
2. Reward power – อำนาจที่มาจากการให้ประโยชน์หรือให้คุณได้ เช่น นาย ก ยอมทำตามคำสั่งของนาย ข เพราะรู้สึกว่า ถ้าทำตามที่นาย ข ต้องการ จะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและได้รางวัลอย่างงาม
3. Legitimate power – อำนาจที่มาจากกฏกติกาหรือข้อกำหนดซึ่งให้อำนาจไว้ เช่น นาย ข มีอำนาจตามประกาศของบริษัทในการดูแลเรื่องความปลอดภัย จึงมีอำนาจที่จะตรวจค้นกระเป๋าและสัมภาระของนาย ก
4. Referent power – อำนาจที่มาจากความรัก ความศรัทธา หรือความเคารพเป็นการส่วนตัว เช่น นาย ก ยินดีทำตามความต้องการของนาย ข เพราะนาย ข มีบุญคุณเคยช่วยเหลือนาย ก มาก่อน
5. Expert power – อำนาจที่เกิดจากความเก่ง ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ เช่น นาย ก ยอมเชื่อฟังและทำตามสิ่งที่นาย ข แนะนำ เพราะรู้สึกว่านาย ข เป็นคนเก่ง มีประสบการณ์ และประสบความสำเร็จมาก่อน
6. Informational power – อำนาจที่เกิดมาจากการมีข้อมูลหรือการเข้าถึงข้อมูล เช่น นาย ก ยอมยกเลิกความคิดของตนเองและทำตามสิ่งที่นาย ข บอก เพราะนาย ก รู้สึกว่านาย ข มีข้อมูลมากกว่าที่ตนมี
ข้อสรุปของงานวิจัยนี้ที่น่าสนใจก็คือ ความรู้สึก (Perception) ที่คนอื่นมีต่อเรา มีความสำคัญมากกว่าตำแหน่งที่เรามี แปลความให้เข้าใจง่ายๆ คือ ไม่ว่าตำแหน่งจะสูงเพียงใด ไม่ได้หมายความเราจะมีอำนาจตามตำแหน่งนั้นๆ เพราะอำนาจ คือสิ่งที่คนอื่นรู้สึกต่อเราและคิดว่าเรามี(อำนาจ)มากหรือน้อยเพียงใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง