รวมคำถามยอดฮิตฉีด “วัคซีนโควิด-19” จากกรมควบคุมโรค

07 มิ.ย. 2564 | 01:44 น.

"ฐานเศรษฐกิจ"รวมคำถาม-ตอบ ยอดฮิต เกี่ยวกับการฉีด"วัคซีนโควิด-19” จากกรมควบคุมโรค ที่จะคลายทุกข้อสงสัย พร้อมข้อควรรู้ต่างๆ ทั้งก่อนฉีด และหลังฉีด รวมถึง

กรณีรัฐบาลได้จัดให้วันที่ 7 มิ.ย. 64 เป็นวันคิกออฟการให้บริการฉีด"วัคซีนโควิด-19" แบบปูพรมพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดในประเทศไทย โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดเป้าหมายจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับคนในประเทศไทย 67 ล้านคน จำนวน 150 ล้านโดส แบ่งเป็นการจัดหาวัคซีนปี 2564 จำนวน 100 ล้านโดส และปี 2565 อีก 50 ล้านโดส

"ฐานเศรษฐกิจ" จึงได้รวบรวมคำถามตอบยอดฮิต เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ที่กรมควบคุมโรค ได้นำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ เพื่อเป็นความรู้ให้กับประชาชน ดังนี้

รวมคำถามยอดฮิตฉีด “วัคซีนโควิด-19” จากกรมควบคุมโรค

1.บุคคลกลุ่มใดบ้างที่ควรได้รับวัคซีนโควิด 19

ตอบ  รัฐบาลได้มีนโยบายให้ประชากรทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย (ทั้งคนไทยและต่างชาติ) ได้รับวัคซีนโควิด 19 อย่างทั่วถึง โดยตั้งเป้าหมายครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร ภายในปี พ.ศ.2564 แต่ในช่วงที่มีจำนวนวัคซีนจำกัด อาจกำหนดให้วัคซีนในบุคคลกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อหรือมีภาวะที่จะเป็นโรครุนแรงก่อน ได้แก่

- บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน

- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรังระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยจิตเวช ออทิสติก ผู้ที่ดูแลตัวเองไม่ได้รวมถึงผู้ดูแล

- ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

- เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น อสม./อสต. ทหาร ตำรวจ จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด

- ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่กำลังมีการระบาด

2. ระยะห่างของวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 1 และ 2 นานที่สุดเป็นเท่าใด และในกรณีที่กลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนครั้งที่ 2 เกินกำหนดระยะห่างจากครั้งที่ 1 มากกว่า 4 สัปดาห์ ควรดำเนินการอย่างไร

ตอบ ระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 ของวัคซีนโควิด 19 ของบริษัท Sinovac คือ 2-4 สัปดาห์ สำหรับวัคซีนของบริษัท AstraZeneca คือ 10-12 สัปดาห์ และพิจารณาให้เลื่อนได้ถึง 16 สัปดาห์ถ้าจำเป็น หากกลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนล่าช้า ขอให้เจ้าหน้าที่ติดตามให้กลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนโควิด 19 ในครั้งที่ 2 โดยเร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องเริ่มฉีดใหม่ สามารถนับต่อเนื่องได้เลย

3. วัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย ที่เป็นวัคซีนหลักมีกี่ชนิด

ตอบ วัคซีนโควิด 19 ที่มีให้บริการในประเทศไทย มี 2 ชนิด คือ

วัคซีนป้องกันโควิด 19 แอสตร้าเซนเนกา (COVID-19 Vaccine AstraZeneca) โดยให้ในในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 10 – 12 สัปดาห์

วัคซีนโคโรนาแวค หรือ ซิโนแวด (CoronaVac หรือ Sinovac COVID-19 vaccine) เป็นวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งขณะนี้กำหนดให้ในผู้ที่มีอายุ 18 – 59 ปี โดยต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 2 – 4 สัปดาห์

4. หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 จะมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

ตอบ จากการศึกษาวิจัยวัคซีนโควิด 19 แต่ละชนิด มักพบเป็นปฏิกิริยาเฉพาะที่ เช่น อาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัคซีนเหล่านี้จะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา ว่ามีความปลอดภัยและให้ใช้ได้แล้วก็ตาม แต่การฉีดวัคซีนเหล่านี้ก็ยังสามารถทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้ในอัตราที่แตกต่างกัน

จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาทีในสถานพยาบาลหรือสถานที่ฉีดวัคซีนเสมอ และเนื่องจากวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนใหม่และยังไม่มีข้อมูลการติดตามผลในระยะยาว หากผู้รับวัคซีนเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่มั่นใจว่าอาการดังกล่าวเกิดจากวัคซีนหรือไม่ ควรแนะนำให้ผู้รับวัคซีนปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงและเกิดขึ้นในช่วง 4 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน (Adverse event following immunization)

5. การเตรียมตัวก่อนรับวัคซีนโควิด 19 มีอะไรบ้าง

ตอบ ปฏิบัติตัวตามปรกติ พักผ่อนให้เพียงพอ กินยาประจำได้ตามปรกติ ทำจิตใจให้ไม่เครียดหรือวิตกกังวล หากเจ็บป่วยไม่สบายควรเลื่อนการฉีดไปก่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 6. ก่อนฉีดวัคซีนจำเป็นต้องดื่มน้ำมาก ๆ หรือไม่

ตอบ ไม่จำเป็น

7. ก่อนฉีดวัคซีน จำเป็นต้อง งดดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอลล์ หรืองดการออกกำลังหรือไม่

ตอบ ไม่จำเป็นต้องงดชา กาแฟ แต่ควรงดเครื่องดื่มมืนเมา ส่วนการออกกำล้งกายสามารถทำได้ตามปรกติ

8. ผู้รับวัคซีนโควิด 19 หลังรับวัคซีน สามารถรับประทานยาลดไข้ แก้ปวด ได้หรือไม่

ตอบ รับประทานได้  โดยยาลดไข้ที่ปลอดภัยที่สุดคือ พาราเซตามอล ภายในขนาดที่กำหนด

9. สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด 19 มาก่อน ยังจำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 หรือไม่

ตอบ สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด19 มาก่อน แม้จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 ในร่างกาย แต่ยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ ดังนั้นจึงควรได้รับวัคซีนโควิด 19 เสมอแม้ว่าจะเคยเป็นโรคโควิด19 มาก่อนก็ตาม โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 3 เดือน ไม่จำเป็นต้องตรวจการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน เพราะแม้จะเคยเป็นมาก่อน ก็ไม่ทำให้มีอันตรายจากการฉีดวัคซีน โดยอาจพิจารณาให้ฉีดเพียง 1 เข็ม เพราะจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมากอย่างเพียงพอ

10. วัคซีนโควิด 19 ต่างชนิด/ยี่ห้อ สามารถฉีดสลับกัน (Interchangeable) ได้หรือไม่

ตอบ ในขณะนี้ ยังแนะนำให้ฉีดชนิดเดิมไปก่อน จนกว่าจะมีการศึกษาวิจัยออกมาเพิ่มเติม ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถหาวัคซีนชนิดเดิมฉีดได้ หรือมีอาการอันไม่พึงประสงค์หลังจากวัคซีนชนิดเดิม

11. สามารถฉีดวัคซีนอื่น เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน พร้อมกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในคราวเดียวกันได้หรือไม่ หากไม่สามารถให้พร้อมกันได้ ควรเว้นระยะห่างนานเท่าไหร่

ตอบ เนื่องจากวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนที่ผลิตออกมาไม่นาน และยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนนี้ควบคู่กับวัคซีนอื่น จึงแนะนำให้เว้นระยะระหว่างวัคซีนโควิด 19 และวัคซีนชนิดอื่นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนพร้อมกัน และเพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนการตอบสนองต่อวัคซีนที่ฉีดตามมา โดยให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ก่อนวัคซีนอื่น ๆ

อย่างไรก็ดีวัคซีนที่มีความจำเป็น เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้าเมื่อถูกสัตว์กัด หรือวัคซีนบาดทะยักเมื่อมีบาดแผล ให้ฉีดวัคซีนได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องทิ้งช่วงเวลา และในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรคโควิด 19 ให้ฉีดวัคซีนทันทีที่ทำได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะห่าง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงซึ่งต้องคำนึงถึงมากกว่า

12. หากเคยฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว ยังต้องมีการฉีดซ้ำเหมือนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อีกหรือไม่

ตอบ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับผลวัคซีนโควิด 19 ต่อระดับภูมิคุ้มกันโรคในระยะยาว จึงยังไม่มีคำแนะนำในขณะนี้

13. วัคซีนฉีดแล้วสามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้หรือไม่

ตอบ วัคซีนที่ผลิตในปัจจุบันพัฒนามาจากไวรัสที่ระบาดในช่วงแรก จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพ ในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ลดลง อย่างไรก็ดีผลกระทบของไวรัสกลายพันธุ์ต่อประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป อาจเป็นไปได้ว่าต้องมีการฉีดวัคซีนต่อไวรัสที่กลายพันธุ์ซ้ำในอนาคต

14. เมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะทำให้เมื่อเป็นโรคมีอาการรุนแรงน้อยลงหรือไม่

ตอบ วัคซีนอาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด แต่ป้องกันโรครุนแรงได้เกือบทั้งหมด ดังนั้นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วอาจติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมากได้ ดังนั้นหลังฉีดวัคซีนจึงยังจำเป็นต้องรักษามาตรการในการป้องกันเชื้อในชุมชน ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางกายภาพ หลีกเลี่ยงการไปยังที่ที่มีคนหนาแน่น และล้างมือบ่อย ๆ ต่อไปอย่างเคร่งครัด จนกว่าจะมีความมั่นใจว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะมีภูมิคุ้มกันโรคแล้ว จึงจะสามารถลดหย่อนมาตรการได้ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ให้คำแนะนำต่อไป

15. ผู้มีประจำเดือนสามารถรับวัคซีนโควิด 19 ได้หรือไม่

ตอบ การมีประจำเดือนไม่เป็นข้อห้ามในการรับวัคซีนโควิด 19

16. มีข้อห้ามและข้อควรระวังอะไรบ้างในการฉีดวัคซีนโควิด 19

ตอบ วัคซีนทุกชนิดมีข้อห้ามคือ แพ้สารที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีนและเนื่องจากวัคซีนเหล่านี้เป็นวัคซีนใหม่จึงอาจไม่มีความรู้ในเรื่องปฏิกิริยาการแพ้ที่พบไม่บ่อย ในช่วงแรกจึงควรฉีดวัคซีนเหล่านี้ในสถานพยาบาลหรือสถานที่ ที่ให้การช่วยเหลือกรณีมีปฏิกิริยารุนแรง และควรเฝ้าระวังอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที ควรใช้วัคซีนแก่กลุ่มประชากรตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำเท่านั้น

17. ไม่ควรฉีดวัคซีนในกรณีใดบ้าง

ตอบ

- ขณะที่กำลังป่วย หรือร่างกายอ่อนเพลียจากสาเหตุต่าง ๆ ควรเลื่อนการฉีดไปก่อนจนกว่าจะเป็นปกติแล้ว

- ในกลุ่มอายุที่ไม่ได้รับการรับรอง

- ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก (แต่ฉีดในหญิงหลังคลอดหรือให้นมบุตรได้)

- ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่รุนแรงที่อาจมีอันตรายถึงชีวิตที่อาการยังไม่คงที่ มีโรคกำเริบ นอกจากแพทย์ประจำประเมินว่าฉีดได้

18. ระยะห่างของวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 1 และ 2 นานที่สุดเป็นเท่าใด และในกรณีที่กลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนครั้งที่ 2 เกินกำหนดระยะห่างจากครั้งที่ 1 มากกว่า 4 สัปดาห์ ควรดำเนินการอย่างไร

ตอบ ระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 ของวัคซีนโควิด 19 ของบริษัท Sinovac คือ 2-4 สัปดาห์ สำหรับวัคซีนของบริษัท AstraZeneca คือ 10-12 สัปดาห์ และพิจารณาให้เลื่อนได้ถึง 16 สัปดาห์ถ้าจำเป็น หากกลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนล่าช้า ขอให้เจ้าหน้าที่ติดตามให้กลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนโควิด 19 ในครั้งที่ 2 โดยเร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องเริ่มฉีดใหม่ สามารถนับต่อเนื่องได้เลย

19. ในกรณีที่ผู้รับวัคซีนของบริษัท Sinovac ครั้งที่ 1 มีอาการชาแขนขา หรืออ่อนแรงด้านที่ฉีดวัคซีน สามารถรับวัคซีนของบริษัท Sinovac ในครั้งที่ 2 ได้หรือไม่

ตอบ อาการชา อ่อนแรง หรืออาการคล้ายอาการของระบบประสาทอื่น ๆ ที่เป็นอาการชั่วคราว ไม่มีพยาธิสภาพเกิดขึ้น และหายเป็นปกติ อาการเหล่านี้ไม่เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีนเดิมในเข็มที่ 2 แต่หากมีอาการรุนแรงและกังวล ควรเปลี่ยนชนิดของวัคซีนในเข็มที่ 2

20. ฉีดวัคซีนแล้วต้องคุมกำเนิดนานเท่าไหร่หลังฉีดวัคซีนจึงจะตั้งครรภ์ได้

ตอบ ไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิด สามารถตั้งครรภ์ หลังฉีดวัคซีนโควิด 19

21. หากฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้ว แต่มาทราบภายหลังว่าเพิ่งได้รับวัคซีนอื่นไปก่อนหน้านี้ภายในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ต้องทำอย่างไร

ตอบ ไม่ต้องให้วัคซีนซ้ำหรือให้การรักษาใดๆ แต่ให้สังเกตอาการ และนับต่อเนื่องไปเลย

22. ในกรณีที่ผู้รับวัคซีนของบริษัท AstraZeneca มีอาการแพ้วัคซีน และมีอายุเกิน 60 ปี จะสามารถฉีดวัคซีนของบริษัท Sinovac ได้หรือไม่ และควรเว้นช่วงห่างเท่าไร

ตอบ สามารถให้วัคซีนของบริษัท Sinovac แทนได้ โดยเว้นช่วงห่าง 10-16 สัปดาห์ (ตามระยะห่างของ วัคซีนของบริษัท AstraZeneca เข็ม 1 และ เข็ม 2)  การเว้นช่วงห่างระหว่างวัคซีนเข็ม 2 จากวัคซีนเข็ม 1 ในกรณีเปลี่ยนชนิดของวัคซีนให้พิจารณาตามชนิดของวัคซีนที่ฉีดเป็นเข็มที่ 1 เป็นหลัก

23. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง รับประทานยาและมีอาการคงที่ หลังฉีดวัคซีนมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ ความดันสูง สูงขึ้นกว่าปกติและมีอาการชาที่ใบหน้าข้างขวาเล็กน้อย สามารถให้วัคซีนโควิด 19 ครั้งที่ 2 ได้หรือไม่

ตอบ ควรให้วัคซีนเข็มที่ 2 แต่ควรเปลี่ยนชนิดของวัคซีนหากมีปฏิกิริยามากในเข็มแรก

24. ถ้าฉีดวัคซีนแล้วพบว่าตั้งครรภ์จะทำอย่างไร

ตอบ ไม่ต้องยุติการตั้งครรภ์ เมื่อพบว่าตั้งครรภ์ภายหลังฉีดวัคซีน เพราะการศึกษาที่มีบ่งชี้ว่า วัคซีนไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หรือการตั้งครรภ์  ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 ครั้งที่ 2 ได้ หลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

25. สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด 19 มาก่อน ยังจำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 หรือไม่

ตอบ สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด 19 มาก่อน แม้จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 ในร่างกาย แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาของภูมิคุ้มกันในร่างกายที่จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ครั้งต่อไปและยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ ดังนั้นจึงควรได้รับวัคซีนโควิด 19 เสมอแม้ว่าจะเคยเป็นโรคโควิด 19 มาก่อนก็ตาม โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 3-6 เดือน ไม่จำเป็นต้องตรวจการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน เพราะแม้จะเคยเป็นมาก่อน ก็ไม่ทำให้มีอันตรายจากการฉีดวัคซีน โดยอาจพิจารณาให้ฉีดเพียง 1 เข็ม

26. หญิงตั้งครรภ์ สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้หรือไม่

ตอบ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ สามารถรับวัคซีนโควิด 19 ได้ทุกชนิดที่มีในขณะนี้ เมื่อมีอายุครรภ์ มากกว่า 12 สัปดาห์ เป็นต้นไป

27. หญิงให้นมบุตร สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้หรือไม่

ตอบ หญิงให้นมบุตร สามารถรับวัคซีนโควิด 19 ได้ทุกชนิดที่มีในขณะนี้  ไม่จำเป็นต้องงดนมแม่หลังฉีดวัคซีน

ที่มา: กรมควบคุมโรค