พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้(9 มิ.ย.64)ช่วงหนึ่งว่า ในที่ประชุม ศบค. มีเรื่องสำคัญที่ประชาชนติดตามตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศบค.ชุดเล็ก ได้ทำความเข้าใจกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งเป็นประกาศ ศบค. เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในส่วนของรายละเอียด สรุปเป็นข้อๆ ดังนี้
ข้อ 1.การจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพและต้องมีจำนวนเพียงพอต่อประชาชนอย่างน้อยให้ครอบคลุม 70% ของจำนวนประชากร ข้อ 2.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ส่งเสริมประสาน สนับสนุน ผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรค และมีการขึ้นทะเบียนอย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพ
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่สำคัญ คือ ข้อ 3.กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุขแก่ประชาชน ร่วมมือกันจัดหา สั่งหรือนำเข้าวัคซีนอย่างเร่งด่วน คือ 5 หน่วยงานนี้ ทำหน้าที่ในการจัดหาวัคซีน นำเข้าวัคซีนเข้าสู่ราชอาณาจักร และ ข้อ 4.การสนับสนุนประชาชนเข้าถึงวัคซีนมากขึ้น โดยพูดถึงสถานพยาบาลเอกชน มีรายละเอียดของในส่วน อปท.ด้วย จึงอยากให้ประชาชนศึกษารายละเอียด
“โดยรวมๆ คือ ในที่ประชุมเน้นย้ำว่า คำถามเรื่อง อปท. หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คำว่าเริ่มซื้อได้ ขอให้ดูในข้อที่ 3 หน่วยงานที่จัดหาได้ จะต้องเป็นการที่ อปท. หรือ เอกชน ก็ตาม ซื้อจาก 5 หน่วยงานที่กำหนดในข้อที่ 3 ซึ่งจะมีรายละเอียดอยู่ในราชกิจจานุเบกษา ไม่ได้หมายความว่า อปท.จะนำเข้าวัคซีนเข้าราชอาณาจักรโดยอปท. เอง อันนี้จึงต้องทำความเข้าใจ ซึ่งรายละเอียดระบุว่า ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและ สอดคล้องแผนใช้จ่ายตามงบประมาณด้วย เพราะ อปท.เอง ก็มีการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ต้องเป็นไปและสอดคล้องกับการดำเนินงานของราชการ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่จะช่วยกำกับดูแล และในส่วนของเอกชนเองก็สามารถจัดซื้อจาก 5 หน่วยงานในข้อ 3. ด้วยเช่นกัน ซึ่งเอกชนที่ช่วยจัดซื้อวัคซีนก็ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระที่ภาครัฐจะช่วยกระจายวัคซีนสู่ประชาชนให้รวดเร็ว และเป็นไปตามแผน” พญ.อภิสมัย กล่าว
สธ.เผยฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 5.1 ล้านโดส
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภาพรวมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 8 มิถุนายน 2564 จัดสรรวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมด 6,756,493 โดส แบ่งเป็นวัคซีนซิโนแวค(Sinovac) จำนวน 4,982,313 โดส และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า(AstraZeneca) จำนวน 1,774,180 โดส
สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมสะสม 5,107,069 โดส เฉพาะวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ฉีดได้ 472,128 โดส รวม 2 วันที่เริ่มฉีดวัคซีนจำนวนมากพร้อมกันทั่วประเทศ (วันที่ 7-8 มิถุนายน 2564) รวม 888,975 โดส
นพ.เฉวตสรร นามวาท กล่าวว่า การฉีดวัคซีนในจำนวนที่มากนี้ ต้องติดตามเรื่องความปลอดภัย ถึงต้องมีระบบการรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการแพ้วัคซีน หรือผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน ในทางวิชาการจะมีการแยกความหมายที่ชัดเจน เพราะจะมีความหมายต่อการดูแลในระดับที่แตกต่างกันไป
กรณีพบอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 กรณีที่มีอาการไม่รุนแรงก็อาจจะไม่ต้องติดตามข้อมูลในเชิงลึก แต่หากเข้าข่ายอาการที่รุนแรงจนถึงเสียชีวิต จะต้องมาพิจารณารายละเอียดว่าสาเหตุของอาการเหล่านั้น หรือสาเหตุของการเสียชีวิตมาจากอะไร ซึ่งในบางส่วนพบว่าอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง อาจเป็นแค่ปฏิกิริยาของร่างกายที่จะใช้คำว่า "ผลข้างเคียง"
"ตามหลักการ เมื่อมีอาการรุนแรงก็ต้องหาสาเหตุให้ชัดเจน มีการรายงานรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่ ตั้งผู้เชี่ยวชาญระดับเขต ดูสาเหตุความเชื่อมโยง ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ บางกรณีอาจจะเกี่ยว หรือบางกรณีอาจจะไม่เกี่ยว ต้องให้เวลาในการเก็บข้อมูล"
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ตามที่ปรากฎในสื่อเรื่องการเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนนั้น มีการรายงานอย่างเป็นทางการเข้ามาแล้ว 27 ราย แบ่งเป็น ผู้เสียชีวิต 12 ราย ที่ได้รับการพิจารณาโดยคณะผู้เชี่ยวชาญพบว่ามาจากเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน โดยส่วนใหญ่มาจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันถึง 8 ราย นอกนั้นเป็นเลือดออกในช่องท้อง และเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด เป็นต้น ขณะที่ผู้เสียชีวิตอีก 15 ราย ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค หรือการรอผลการผ่าชันสูตรศพ
"จากที่มีรายงานข้อมูลเข้ามา 12 รายมีการสรุปสาเหตุชัดเจนแล้วว่า ทุกรายที่เสียชีวิต ไม่ได้มีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน ขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีน เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนในวงกว้าง ได้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และหยุดการระบาดได้ในที่สุด" นพ.เฉวตสรรกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง