ปลดล็อควัคซีนโควิด อบจ.สมุทรสาครลุ้นซื้อซิโนฟาร์ม 2เเสนโดส

09 มิ.ย. 2564 | 12:53 น.

อบจ.สมุทรสาครลุ้นซื้อซิโนฟาร์ม 2 เเสนโดส จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หลัง ศบค. ประกาศปลดล็อคการจัดหาวัคซีนโควิด-19

จากกรณีเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศปลดล็อคการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ “ศบค.” เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยเปิดโอกาสให้สถานพยาบาลเอกชน ภาคเอกชน และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหาหรือขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 

นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้จังหวัดสมุทรสาครได้มีการทำหนังสือขอจองวัคซีนซิโนฟาร์มไปที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จำนวน 200,000 โดส แต่เข้าใจว่าช่วงดังกล่าวคือช่วงที่ยังไม่มีการปลดล็อคให้ท้องถิ่นสามารถจัดหาวัคซีนได้ จึงทำให้เรื่องต้องชะลอออกไปก่อน

ดังนั้นเมื่อขณะนี้มีการปลดล็อคเรียบร้อยแล้วทางจังหวัดสมุทรสาครจะต้อง รอความชัดเจนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทั้งในเรื่องของจำนวนวัคซีนซีโนฟาร์มและวันเวลาที่จะมีการจัดส่งให้ต่อไป

โดยขั้นตอนเมื่อได้รับความชัดเจนแล้วองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องหารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อที่จะบริหารวัคซีนต่อไป
 

ด้าน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. ชี้แจงแนวปฏิบัติตามประกาศ ศบค. ฉบับล่าสุด ว่า กรณีภาคเอกชน ขณะนี้ได้รับรายงานเบื้องต้นมียอดผู้ต้องการวัคซีน 3 - 5 ล้านคน สามารถติดต่อซื้อได้ผ่านหน่วยงานที่รัฐกำหนดไว้ เพราะในการทำสัญญาจองซื้อวัคซีนแต่ละบริษัท ผู้ที่จะซื้อวัคซีนต้องผ่านหน่วยงานที่รัฐกำหนดเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า วัคซีนดังกล่าวจะจัดสรรให้เอกชนเมื่อไหร่ โดยส่วนใหญ่เป็นวัคซีนของ sinopharm และ moderna

สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องการจัดซื้อวัคซีนเอง 
•    ต้องแสดงความจำนงยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้เป็นผู้พิจารณา 
•    จากนั้น จะส่งให้ ศบค.พิจารณาอีกครั้ง โดยแต่ละหน่วยงานที่จัดซื้อต้องอยู่บนหลักเกณฑ์ คือ พื้นที่ระบาด พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ หรือ พื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ และต้องมีเหตุผลรองรับถึงความจำเป็นที่เหมาะสม 
 

พล.อ.ณัฐพล ยังกล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งอาจจะไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนเองได้ทั้งหมด เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้ อปท.จัดสรรงบประมาณมาซื้อ จนไม่สามารถบริหารจัดการงบประมาณเพื่อใช้ดูแลท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการจัดสรรวัคซีนของรัฐบาล เพื่อคนไทยที่มีประมาณ 60 - 70 ล้านคน และชาวต่างชาติในประเทศประมาณ 2.6 ล้านคน ต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวัคซีนล้นหรือเหลือเกินความต้องการ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่สามารถระบุจำนวนผู้ที่อยู่ในประเทศไทย ที่ต้องการฉีดวัคซีนที่แน่นอน เพื่อนำมาคำนวณปริมาณการจัดซื้อที่เหมาะสมได้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง