3 แนวทางกำราบโควิด-19 "หมอธีระ" แนะรับมือคล้ายกับโรคเอดส์

11 มิ.ย. 2564 | 02:10 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2564 | 02:12 น.

หมอธีระ เผย 3 แนวทางกำราบการระบาดโควิด-19 แนะรับมือคล้ายคลึงกับเรื่องโรคเอดส์ ระบุเป็นโรคที่เกี่ยวข้องเรื่องพฤติกรรมคนและการใช้ชีวิตประจำวัน

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า   
    สถานการณ์ทั่วโลก 11 มิถุนายน 2564...
    สเปนแซงเยอรมันขึ้นอันดับที่ 10 ของโลกแล้ว ในขณะที่อิหร่านมีติดเชื้อสะสมเกิน 3 ล้านคน
    เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 416,826 คน รวมแล้วตอนนี้ 175,586,746 คน ตายเพิ่มอีก 10,674 คน ยอดตายรวม 3,787,485 คน
    5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อินเดีย บราซิล โคลอมเบีย อาร์เจนตินา และอิหร่าน
    อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 11,758 คน รวม 34,272,681 คน ตายเพิ่ม 368 คน ยอดเสียชีวิตรวม 613,860 คน อัตราตาย 1.8% 
    อินเดีย ติดเพิ่ม 91,266 คน รวม 29,273,338 คน ตายเพิ่ม 3,402 คน ยอดเสียชีวิตรวม 363,097 คน อัตราตาย 1.2% 
    บราซิล ติดเพิ่ม 89,802 คน รวม 17,215,159 คน ตายเพิ่มถึง 2,344 คน ยอดเสียชีวิตรวม 482,135 คน อัตราตาย 2.8% 
    ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 4,475 คน ยอดรวม 5,729,967 คน ตายเพิ่ม 68 คน ยอดเสียชีวิตรวม 110,270 คน อัตราตาย 1.9%
    ตุรกี ติดเพิ่ม 6,408 คน รวม 5,313,098 คน ตายเพิ่ม 96 คน ยอดเสียชีวิตรวม 48,524 คน อัตราตาย 0.9% 
    อันดับ 6-10 เป็น รัสเซีย สหราชอาณาจักร อิตาลี อาร์เจนติน่า และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลักหมื่น
    สหราชอาณาจักรล่าสุดเพิ่มถึง 7,393 คน ถือว่าเกินเจ็ดพันต่อวันติดต่อกันเป็นวันที่สอง จำนวนติดเชื้อต่อวันและอัตราการเพิ่มในขณะนี้พอๆ กับช่วงกันยายนของปีที่แล้วที่เป็นขาขึ้นของระลอกที่สอง
    แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย ชิลี โบลิเวีย สเปน เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา ญี่ปุ่น เนปาล และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
    แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นยูเครน คาซักสถาน มองโกเลียที่ยังหลักพัน
    แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านที่หลักหมื่น
    เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
    ดูภาพรวม จะพบว่า เพียงแค่ 5 เดือนแรกของปี 2021 จำนวนการติดเชื้อรายใหม่ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นก็มากกว่าจำนวนการติดเชื้อในปี 2020 แล้ว แสดงให้เห็นความรุนแรงของการระบาดอย่างชัดเจน 
    ในปี 2020 จะพบว่าจำนวนการติดเชื้อใหม่และจำนวนคนที่เสียชีวิตในแต่ละวันนั้น ส่วนใหญ่ราว 70% มาจากทวีปอเมริกาและยุโรป
    แต่ในปี 2021 นี้ลักษณะข้างต้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน กลายเป็นมาหนักที่ทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ และแอฟริกา โดยการติดเชื้อใหม่และการเสียชีวิตในแต่ละวันเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศเหล่านี้ถึงกว่า 80% 
    ลักษณะการระบาดของโควิด-19 เช่นนี้ ทำให้นึกถึงสมัยที่เอชไอวีระบาดหนักเมื่อหลายสิบปีก่อน และส่งผลกระทบทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีความจำกัดด้านทรัพยากรต่างๆ ทั้งเรื่องคน เงิน ของ หยูกยา ฯลฯ และต้องผจญกับการต่อสู้โรคระบาดอย่างยาวนาน
    ภาพการระบาดของโควิด-19 ที่เห็นขณะนี้น่าเป็นห่วง  
    จะกำราบการระบาดของโควิด-19 ได้ หนีไม่พ้นที่จะต้องพิจารณาวางแผนรับมือในลักษณะคล้ายคลึงกับเรื่องเอชไอวี/เอดส์ เพราะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องพฤติกรรมคนและการใช้ชีวิตประจำวัน
    หนึ่ง ตั้งวงการทำงานทั้งแบบ One-world strategy และแผนความร่วมมือระดับภูมิภาค 
    สอง พิจารณาตั้งโครงสร้างและกลไกการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระดับชาติเป็นการถาวร ภายใต้การดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม และมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยที่มีผอ.ศปก.ศบค.เป็นเลขานุการ และผอ.ศูนย์ปฏิบัติการอื่นๆ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
    สาม การบ้านที่เป็นโจทย์สำคัญสำหรับวางแผนสู้ระยะยาวคือ การพัฒนาระบบการดูแลผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งในสถานพยาบาล และในระดับชุมชน รวมถึงการเตรียมรับมือปัญหาผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วแต่ยังมีอาการคงค้างยาวนาน (COVID Long Hauler หรือ Chronic COVID), การพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดหาวัคซีนทั้งสำหรับภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม, การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์การระบาดของโรคทั้งในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล, และที่สำคัญมากเป็นการโจทย์ที่ท้าทายที่สุดคือ การพัฒนาแนวทางจัดการระบบเศรษฐกิจและสังคม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน (Risk/Harm reduction) รวมถึงแนวทางการติดตามกำกับหรือบังคับใช้กฎหมายและระเบียบที่ประกาศ
    ประเมินแล้ว ศึกโรคระบาดนี้ยาวนาน และจำเป็นต้องร่วมแรงร่วมใจดำเนินการทุกฝ่าย
    เป็นกำลังใจให้ทุกคน
    ด้วยรักและห่วงใย
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) วันที่ 11 มิถุนายน 64 จากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พบว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 2,290 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,996 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 294 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 160,965 ราย เสียชีวิต 27 ราย หายป่วยเพิ่ม 5,711 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 117,572 ราย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :