วันนี้ (11 มิถุนายน 2564) เกาะหลีเป๊ะ เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ในช่วงสถานการณ์ปกติมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณ 1 ล้านคนต่อปี สร้างงานและรายได้ให้จังหวัดสตูลมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด 19 แม้บนเกาะจะไม่เคยพบผู้ติดเชื้อ และจังหวัดสตูลมีผู้ติดเชื้อน้อยที่สุดในประเทศ แต่ยังได้รับผลกระทบ การท่องเที่ยวซบเซาอย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่รัฐบาลได้จัดหาวัคซีนมาเพื่อป้องกัน ควบคุมโรค จ.สตูลได้รับการจัดสรรวัคซีนมาแล้วจำนวน 22,200 โดส เป็นวัคซีนซิโนแวค 17,200 โดส แอสตร้าเซนเนก้า 5,000 โดส
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสตูลจึงได้จัดสรรวัคซีนลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ และทำการจัดฉีดเข็มที่ 1ให้กับกลุ่มพนักงานผู้ประกอบการ ผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวกับท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่ไปเมื่อวันที่ 20-21 พฤษภาคม 2564 จำนวน 720 โดส หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรบนเกาะ เพื่อสร้างความมั่นใจ และความปลอดภัย เตรียมพร้อม
ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวและฟื้นคืนการท่องเที่ยวของเกาะหลีเป๊ะ สำหรับวันที่ 10-11 มิถุนายน 2564 เป็นการฉีดวัคซีนโควิด เข็มที่ 2 จำนวน 720 โดสและเพิ่มเติมเข็มที่ 1 อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งตั้งเป้าว่าจะทำการทยอยฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 100% ให้ทันเดือนกรกฎาคม
สำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวรูปแบบอย่างนิวนอมอลพร้อมกับจังหวัดภูเก็ต ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยผู้ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจะต้องผ่านการคัดกรองเพื่อความปลอดภัย ซึ่งผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจะสามารถเดินทางเข้ามาได้ง่ายขึ้น
“จากที่ได้มาติดตามดูการฉีดวัคซีน โควิด 19 พบว่า ประชาชนในพื้นที่มีความยินดีและดีใจที่ได้ฉีดวัคซีนเพราะหวังว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับตัวเองและนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการซึ่งอยากให้มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยเร็ว เพื่อที่จะได้กลับมาทำงานและมีรายได้เหมือนเดิม” นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 กล่าว
สำหรับการจัดฉีดวัคซีนบนเกาะหลีเป๊ะได้ใช้สถานที่ของโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ มีบุคลากรสาธารณสุขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง โรงพยาบาลท่าแพ รพ.สต.ต่างๆ รวม 12 คน เจ้าหน้าที่บนเกาะ 8 คน และยังได้ความร่วมมือจากเครือข่ายโรงพยาบาลทหาร เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด และอสม.ในการให้บริการประชาชน
นอกจากนี้ผู้ประกอบการรีสอร์ทยังได้สนับสนุนที่พัก และอาหารให้กับเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงานในครั้งนี้ด้วย ในส่วนการนัดหมายผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนจะเป็นการนัดหมายผ่านไลน์กลุ่มผู้ประกอบการในการนำพนักงานมาฉีด เนื่องจากเป็นเกาะขนาดเล็กสื่อสารกันง่ายและชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะส่วนใหญ่เป็นพนักงานของรีสอร์ทต่างๆ
สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีนมีการเตรียมหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เภสัชกร ยาสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง เตรียมพร้อมท่อช่วยหายใจ และระบบส่งต่อทางเรือไปยังโรงพยาบาลละงู หากผู้ป่วยมีอาการมากจะประสานสายด่วน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เพื่อลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศไปยังโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาพบผู้ที่มีอาการหลังฉีดวัคซีนเป็นอาการเล็กน้อยเพียง 3-4 คน มีอาการเวียนศีรษะซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่นานก็หาย ใช้ชีวิตได้ปกติตามเดิม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง