12 มิถุนายน 2564 นายกนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการกระจายวัคซีนเพื่อให้บริการกับประชาชนว่า ยังมีปัญหาการเลื่อนฉีดวัคซีนในหลายพื้นที่ แม้กระทั่งล่าสุด กระทรวงแรงงานยังเลื่อนฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ใน 45 จุดทั่วกรุงเทพฯออกไปเป็นวันที่ 28 มิถุนายน หลังเปิดให้บริการได้เพียงแค่ 5 วัน สะท้อนปัญหาทั้งจำนวนวัคซีนไม่พอและการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล เพราะขนาดจุดใหญ่ของผู้ประกันตนที่วางเป้าหมายจะฉีดให้ครบ 1 ล้านโดส ภายใน 20 วันนับจากวันที่ 7 มิถุนายนเป็นต้นไป มาถึงวันนี้ก็พลาดเป้าอย่างน้อย 5 วันแน่นอนแล้ว
ทั้งยังไม่รู้ว่า ปลายทางจะเป็นอย่างไร แม้จะมีการออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดจากวัคซีนไม่เพียงพอ แต่เป็นเพราะสถานที่ไม่เหมาะสม อากาศร้อนเกินไป และข้อมูลผู้เข้ารับบริการยังมีปัญหา ตนเอาใจช่วยให้แก้ปัญหาปรับปรุงให้กลับมาให้บริการประชาชนให้ได้เร็วๆ แต่ก็อยากให้ถอดบทเรียน เรื่องนี้ด้วยว่า ก่อนวางแผน ควรต้องประเมินทุกปัจจัย เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าสามารถปฏิบัติได้ เพราะ หากต้องมาหยุดกลางคันหรือเลื่อนออกไป จะไม่เป็นผลดี ต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล เรื่องนี้สอนเราว่าเจตนาดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องพร้อมในการบริหารจัดการด้วย
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า การจัดหาวัคซีนที่ผ่านมาถูกตั้งคำถามมากมาย ทำไมจึงช้า ทำไมจึงได้น้อย ทำไมจึงไม่ได้ยี่ห้ออื่นบ้าง คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร จึงเชิญ นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ มาให้คำตอบเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 แนวทางการจัดหาวัคซีนมี 3 วิธีด้วยกัน คือ
1.ประเทศร่วมสนับสนุนเงินทุนวิจัยการผลิตวัคซีน แก่บริษัทผลิตวัคซีน ด้วยข้อตกลงว่าเมื่อบริษัทผลิตวัคซีนสำเร็จจะต้องจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศของตนก่อนซึ่งประเทศไทยไม่ได้ทำ
2.การจองซื้อล่วงหน้า พร้อมจ่ายเงินมัดจำ ก่อนที่การพัฒนาวัคซีนจะสำเร็จ ถ้าการพัฒนาวัคซีนของบริษัทไม่สำเร็จ จะเกิดความเสี่ยงต่อการเรียกเงินมัดจำคืนได้ประเทศไทยไม่ได้ทำ
3.การเจรจาซื้อวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตที่พัฒนาวัคซีนสำเร็จแล้วและพร้อมขาย ประเทศไทยดำเนินการสั่งซื้อตามแนวทางนี้ ผลของการเจรจาสั่งซื้อวัคซีนของไทยได้ผลสำเร็จคือ ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม 2564 จะได้รับวัคซีนรวม 100 ล้านโดส ดังนี้
1.ซิโนแวค 6 ล้าน
2.แอสตาเซนเนกา 60 ล้าน
3.ไฟเซอร์ 20 ล้าน
4.จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5 ล้าน ซึ่งน่าจะเพียงพอกับจำนวนประชากรในประเทศไทยทุกคน
นายกนก กล่าวด้วยว่า บทเรียนจากการจัดหาวัคซีนรอบแรก 3 แนวทางนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติประเมินการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด 19 ทั้งสายพันธุ์อังกฤษ, อัฟริกา, และอินเดีย ที่คาดว่าบริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะสามารถพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 (Generation 2) ที่สามารถป้องกันการกลายพันธุ์ได้สำเร็จในเดือนธันวาคม 2564
ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้เริ่มต้นเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเพื่อจองซื้อวัคซีนรุ่นที่ 2 สำหรับปี 2565 แล้วสำหรับวัคซีนเด็กขณะนี้ได้ข้อมูลว่าวัคซีนของไฟเซอร์สามารถใช้กับเด็กอายุ 12-16 ปีได้ และซิโนแวคใช้ได้กับเด็ก 3-18 ปีปัจจุบันองค์การอาหารและยาพร้อมกับคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเด็กกำลังศึกษาและตรวจสอบความปลอดภัยของวัคซีนสำหรับเด็กดังกล่าว คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ในเดือนกันยายนหรือตุลาคมนี้ นั่นหมายความว่าราวพฤศจิกายน 2564 ประเทศไทยน่าจะสามารถเริ่มฉีดวัคซีนให้เด็กได้
ถ้าประเมินจากคำชี้แจงของผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติการจัดฉีดวัคซีนให้คนไทยทั้งประเทศ ทุกคน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร นอกจากความเสี่ยง 2 ประการที่อาจจะเกิดขึ้น คือ
1.ความเสี่ยงต่อการได้รับวัคซีนไม้ครบตามกำหนดจากบริษัทผู้ผลิต เพราะกระบวนการผลิตวัคซีนของบริษัทอาจขัดข้องหรือ มีข้อผิดพลาดได้ ซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของไทยในฐานะผู้ซื้อ
2.ความเสี่ยงจากการเกิดคลัสเตอร์ในวงกว้างที่คาดไม่ถึง จึงทำให้ต้องฉีดวัคซีนให้ประชากรในพื้นที่คลัสเตอร์ที่เสี่ยงสูงก่อนเพื่อหยุดการแพร่กระจายของโรค ส่งผลให้ต้องหมุนจำนวนวัคซีนจากพื้นที่ปกติตามแผนการฉีดเดิม ไปยังพื้นที่คลัสเตอร์ใหม่ จึงทำให้ประชาชนทั่วไปอาจได้รับการฉีดวัคซีนล่าช้าไปกว่ากำหนดเดิมได้
"ผมขอฝากเตือนว่าความเสี่ยง 2 ประการนี้เป็นเหตุสุดวิสัยที่อยู่เหนือการควบคุมได้จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถเข้าใจและยอมรับได้แต่ประเด็นที่ประชาชนยอมรับไม้ได้ คือการจัดสรรวัคซีนให้พื้นที่จังหวัด หรือกลุ่มคนที่มีลักษณะเป็นการหาเสียง ใช้การเมืองนำการแพทย์ ใช้ชีวิตประชาชน มาต่อรองทางการเมือง เรื่องแบบนี้อย่าทำ เพราะคนไทยยอมรับไม่ได้" นายกนก กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง