ระดมแก้"ประปาลพบุรีแล้ง"

14 มิ.ย. 2564 | 11:37 น.

ทุกข์ซ้ำซากชาวเมืองละโว้"ประปาลพบุรีแล้ง" ผู้ว่าฯกปภ.-ผู้ว่าฯลพบุรี-ส.ส.พื้นที่ ร่วมผลักดันโครงการใหญ่ แก้ปัญหาน้ำกินน้ำใช้ชาวเมืองลพบุรีที่อยู่ปลายคลองอย่างยั่งยืน

ทุกข์ซ้ำซากชาวเมืองละโว้"ประปาลพบุรีแล้ง" ผู้ว่าฯกปภ.-ผู้ว่าฯลพบุรี-ส.ส.พื้นที่ ร่วมผลักดันโครงการใหญ่ แก้ปัญหาน้ำกินน้ำใช้ชาวเมืองลพบุรีที่อยู่ปลายคลองอย่างยั่งยืน
    

กว่า 10 วัน นับแต่วันที่ 3 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา ผู้ใช้น้ำประปากว่า 3 หมื่นราย ในพื้นที่ตัวเมืองลพบุรี ประสบปัญหาน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) สาขาลพบุรีไม่ไหล สาเหตุจากน้ำดิบในคลองชลประทานชัยนาท-ป่าสัก ลดระดับอย่างรวดเร็วจนต่ำมาก ส่งผลให้มีปริมาณน้ำดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตลดน้อยลง  รวมทั้งน้ำไม่ไหลเข้าท่อสูบทอยน้ำ น้ำในคลองมีไม่มากพอจะไหลข้ามธรณีประตูระบายน้ำโคกกะเทียม ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 10  ต.โคกกะเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี มาที่เครื่องสูบน้ำดิบ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับประตูระบายน้ำดังกล่าว จน กปภ.ต้องหยุดการผลิตน้ำลง 
ระดมแก้\"ประปาลพบุรีแล้ง\"     

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าเจ้าหน้าที่กปภ. สาขาลพบุรี ได้เร่งแก้ปัญหานำรถแบ็คโฮ จำนวน 2 คัน ลงไปในคลองชัยนาท-ป่าสัก เพื่อเปิดทางดินเป็นร่องน้ำให้น้ำดิบได้ไหลเข้าสู่ท่อสูบส่งน้ำเป็นการเร่งด่วน   นอกจากนี้สำนักงานชลประทานที่ 10  ยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือเกษตรกรปรับลดการสูบน้ำลง เพื่อขอลำเลียงน้ำจาก อ.ตาคลี อ.บ้านหมี่ ให้มาถึงจุดผลิตน้ำประปาก่อน  ตลอดจนจ่ายน้ำแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จนเริ่มกลับมาจ่ายน้ำได้ในบางพื้นที่ แต่ประชาชนต่างยังไม่มั่นใจในสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่พอใจที่ไม่มีการวางแผนแก้ไขทั้งที่เป็นปัญหาที่เกิดซ้ำซากเกือบทุกปี 
               

ซึ่งปัญหาดังกล่าวนายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างวิกฤต ในคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก ตั้งแต่ประตูระบายน้ำบ้านโคกกระเทียม อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี ต่อเนื่องขึ้นไปจนถึงประตูระบายน้ำมโนรมย์ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ระยะทาง 86 กิโลเมตร ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ หล่อเลี้ยงหลายอำเภอของจังหวัดลพบุรี เพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงวิกฤตของการขาดแคลนน้ำ 
    

เนื่องจากขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ จึงไม่สามารถไหลเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก โดยแรงโน้มถ่วงได้ กรมชลประทานได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม จากเดิมที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขนาดใหญ่ จำนวน 14 เครื่อง เพื่อเติมน้ำให้คลองชัยนาท-ป่าสักมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น  และเน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วกว่า 3 แสนไร่ จาก 8 แสนไร่ ให้สูบน้ำตามรอบเวรที่หน่วยงานราชการกำหนดไว้ และชะลอการเพราะปลูกออกไปก่อน จนกว่าปริมาณฝนมีมากพอและสม่ำเสมอ เพื่อจัดสรรน้ำให้เพียงพอทั้งด้านการอุปโภคและบริโภค รวมถึงภาคการเกษตรไม่ให้ได้รับความเสียหาย
  ระดมแก้\"ประปาลพบุรีแล้ง\"          

ระดมแก้\"ประปาลพบุรีแล้ง\"

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 64  นายสมบูรณ์   สุนันทพงศ์ศักดิ์  ผู้ว่าการ กปภ. ได้ลงพื้นที่จังหวัดลพบุรี  โดยเข้าร่วมประชุมกับนายนิวัฒน์  รุ่งสาคร  ผวจ.ลพบุรี  นายประทวน สุทธิอำนวยเดช สส.ลพบุรี เขต 1 และ นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สส. ลพบุรี เขต 2  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตน้ำประปาในเขตอำเภอเมืองลพบุรี และได้ลงสำรวจพื้นที่แก้ปัญหาหาแหล่งน้ำดิบเพื่อใช้ผลิตน้ำประปา 
    

นายนิวัฒน์   รุ่งสาคร ผวจ.ลพบุรี ได้เสนอแนวทางให้กปภ. แก้ไขปัญหาวิกฤตให้แก่กลุ่มผู้ใช้น้ำจังหวัดลพบุรี โดยทำทำนบรับน้ำระหว่างสะพาน 7 ถึงโคกกระเทียม ระยะทาง 13 กม. โดยยกคันดินที่สะพาน 7 ให้สูงขึ้นแล้วสูบน้ำเข้าไปเก็บ  บริหารรอบเวรใช้น้ำ   
    

ส่วนระยะยาวให้สำรวจสถานที่ขุดบาดาลเร่งด่วน ในบริเวณโรงผลิตประปาพิบูลสงคราม ภายในศูนย์การทหารปืนใหญ่ค่ายภูมิพล อ.เมืองลพบุรี   และประสานขอใช้พื้นที่กองบิน 2  กองทัพอากาศ ขุดสระเป็นแหล่งน้ำสำรอง   พร้อมทั้งให้ทุกภาคส่วนเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาวโดยด่วน เพื่อคลี่คลายความเดือดร้อนของผู้บริโภคน้ำในจังหวัดลพบุรี   
    

ด้านนายสมบูรณ์   ผู้ว่าการ กปภ.รับปากจะจัดการแก้ปัญหานี้โดยด่วน  พร้อมได้แจ้งแผนงานว่า จะมีการทำทำนบเก็บกักน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก บริเวณสะพานวัดป่ากล้วย  ต.ท่าแค อ.เมืองลพบุรี  สูงไม่เกิน 1 เมตร ขนาด 150,000 ลบ.ม.   ขุดคลองบริเวณบ้านไผ่ขวาง กว้าง 30 เมตร ลึก 1 เมตร ยาว 2,500 เมตร ขนาด  75,000 ลบ.เมตร เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำดิบวันละ 4 -5 หมื่นลิตรวัน (สถานีผลิตน้ำพิบูลสงคราม 2)   
  ระดมแก้\"ประปาลพบุรีแล้ง\"       
 

ระดมแก้\"ประปาลพบุรีแล้ง\"

ขณะที่นายประทวน สุทธิอำนวยเดช สส.ลพบุรี เขต 1   เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า น้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก ของคนลพบุรี เป็นปัญหาซ้ำซาก ต้องแก้ไขในระดับชาติ ตั้งแต่ต้นน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล  ที่ต้องหาแนวทางเติมน้ำในเขื่อนในรูปแบบต่าง ๆ  รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบนและตอนล่างทุกมิติ  
    

ขณะที่ในจังหวัดลพบุรีเอง เร่งของบประมาณ 130 ล้านบาท ตั้งสถานีสูบน้ำแบบถาวรของกรมชลประทาน บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ประตูน้ำมโนรมย์   พร้อมทำเรื่องขอโอนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่จาก ส่วนราชการต่าง ๆ มอบให้กรมชลประทานเป็นผู้ดูแลรักษา เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก อ่างเก็บน้ำพิบูลสงคราม อ่างเก็บน้ำห้วยกระแทก อ่างเก็บน้ำห้วยส้ม เพื่อใช้เป็นอ่างเก็บน้ำดิบของจังหวัด  
    

รวมถึงของบประมาณจัดทำแกล้มลิง เพื่อเป็นการเก็บน้ำดิบ ป้องกันน้ำท่วม และแก้ภัยแล้ง ตามแนวทางของผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี  และของบประมาณ 30 ล้านบาท “ขุดเจาะบ่อบาดาล”ให้กับกปภ.จังหวัดลพบุรี   นอกจากนี้สนับสนุนงบประมาณ   160 ล้านบาท เพื่อสร้างสถานีกรองน้ำดิบบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อส่งน้ำดิบให้กับการผลิตน้ำประปาจังหวัดลพบุรี ซึ่งจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 16 มิ.ย.2564 นี้ต่อไป

ระดมแก้\"ประปาลพบุรีแล้ง\"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง