เบื้องหลังการออกแบบประเทศให้อยู่กับ "แผ่นดินไหว" แบบญี่ปุ่น

01 เม.ย. 2568 | 02:09 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2568 | 04:07 น.

ญี่ปุ่นไม่ได้แค่เผชิญแผ่นดินไหว แต่ออกแบบทั้งเมืองให้ “อยู่ร่วม” ได้จริง ตั้งแต่มาตรฐานก่อสร้าง วัฒนธรรมการฝึกซ้อม ไปจนถึงระบบเตือนภัยที่แม่นยำ

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มี "แผ่นดินไหว" บ่อยที่สุดในโลก เพราะตั้งอยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกถึง 4 แผ่น นั่นหมายความว่า แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นไม่ใช่คำถามว่า "จะเกิดหรือไม่" แต่เป็น "เมื่อไหร่" ต่างหาก แม้ว่าบ่อยครั้งที่ประชาชนไม่สามารถรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน

จากรายงานของ EarthScope Consortium ญี่ปุ่นมีแผ่นดินไหวที่รู้สึกได้ถึง 1,500 ครั้งต่อปี และด้วยความเสี่ยงนี้ การอยู่ร่วมกับแผ่นดินไหวจึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางกายภาพและสังคมของชุมชนญี่ปุ่น

การปรับตัวต่อแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

National Geographic รายงานว่า Keith Porter หัวหน้าวิศวกรของสถาบัน ICLR (Institute for Catastrophic Loss Reduction) ของแคนาดา กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมต่อแผ่นดินไหวมักเป็นสิ่งที่เรียนรู้จากบทเรียนในอดีต

ในญี่ปุ่น กฎระเบียบการก่อสร้างเพื่อต้านแผ่นดินไหวเริ่มมีขึ้นหลังแผ่นดินไหวขนาด 7.9 ในปี 1923 ที่คร่าชีวิตคนกว่า 140,000 ราย และทำให้อาคารนับแสนถล่มลงมา กฎระเบียบเบื้องต้นมุ่งเน้นที่การเสริมความแข็งแรงให้อาคารใหม่ โดยเฉพาะในเขตเมือง และควบคุมการก่อสร้างอาคารไม้และคอนกรีต

กฎระเบียบได้มีการปรับเปลี่ยนหลายครั้งในช่วงหลายทศวรรษต่อมา โดยที่สำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติมาตรฐานอาคารปี 1950 และการแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับอาคารต้านแผ่นดินไหวในปี 1981 ซึ่งระบุว่า

  • อาคารต้องสามารถรับมือกับแผ่นดินไหวขนาด 7 ได้โดยไม่มีปัญหารุนแรง
  • หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 อาคารอาจได้รับความเสียหายเล็กน้อย แต่ต้องยังคงใช้งานได้
  • หากแผ่นดินไหวรุนแรงกว่านั้น อาคารไม่ควรถล่ม

หากอาคารไม่ถล่มและไม่มีใครเสียชีวิต แม้ว่าจะเสียหายจนซ่อมแซมไม่ได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

เขาเสริมว่า มาตรฐานในอเมริกาเหนือก็เป็นเช่นเดียวกัน โดยให้ความสำคัญกับการรักษาชีวิต มากกว่าความเสียหายทางโครงสร้างระยะยาว อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ยอมให้เกิดความเสียหายได้บางส่วนอาจทำให้เกิดต้นทุนสูงขึ้นและปัญหาการซ่อมแซมในระยะยาว

การออกแบบเพื่อรับแรงสั่นสะเทือน

ญี่ปุ่นมีเทคนิคหลากหลายในการก่อสร้างให้ทนต่อแผ่นดินไหว ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของอาคาร เช่น ตึกระฟ้าหรือบ้านเดี่ยว งบประมาณ และปัจจัยอื่น ๆ

ระดับพื้นฐานที่สุด อาคารจะถูกเสริมด้วยคาน เสา และผนังที่หนาขึ้น เพื่อให้ทนต่อแรงสั่น

อีกเทคนิคหนึ่งคือการ “แยกอาคารออกจากแรงสั่นของพื้นดิน” โดยการวางแผ่นยางดูดซับแรงไว้ที่ฐานรากของอาคาร หรือระบบ base isolation ที่วางทั้งอาคารบนแผ่นยางเพื่อให้พื้นฐานแยกจากพื้นดินโดยสมบูรณ์

มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาคารไม้แบบเสาและคานแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น “ค่อนข้างเปราะบาง” และอ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือน หลังแผ่นดินไหวปี 1995 ญี่ปุ่นเริ่มมุ่งเน้นการปรับปรุงอาคารเก่าให้แข็งแรงขึ้น

วัฒนธรรมความพร้อมรับภัย

หลังแผ่นดินไหววันปีใหม่ Toshitaka Katada แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ให้สัมภาษณ์กับ Associated Press ว่า แทบไม่มีใครบนโลกเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติได้เท่าคนญี่ปุ่น  เพราะมาตรการความพร้อมในระดับประชาชน ถือเป็นกิจวัตรของที่นี่

  • ศูนย์อพยพ (โรงเรียน/สถานที่ชุมชน) มีอุปกรณ์ฉุกเฉิน 
  • ประชาชนถูกแนะนำให้มีชุดฉุกเฉินที่บ้าน 
  • ระบบเตือนภัยของประเทศมีประสิทธิภาพสูง ทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ

นักวิทยาศาสตร์ด้านสังคม และนักวิจัยรับเชิญของ Kyoto University กล่าวว่า  หลังแผ่นดินไหวใหญ่ในปี 2011 ที่ขนาด 9.0 และเกิดสึนามิ  ญี่ปุ่นเริ่มเน้นการศึกษาและให้ความสำคัญกับทั้งการปรับโครงสร้างพื้นฐาน (hard mitigation) และการพัฒนาระบบเตือนภัยและการระบุจุดปลอดภัย (soft mitigation)