นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล อุปนายกสมาคมยางพาราไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ฉุกเฉิน “โควิด-19” รัฐบาลมาเลเซีย มีมติเห็นชอบขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีกอย่างน้อย 14 วัน มีผลบังคับใช้ในระหว่างวันที่ 15-28 มิถุนายน 2564 เนื่องจากผู้ป่วยรายวันยังคงอยู่ที่ มีผลทำให้โรงงานทางมาเลเซียยังติดต่อเนื่อง และปิดเพิ่มเติมอีก ทำให้สถานการณ์ส่งออกยางก็ส่งออกได้น้อย ส่วน บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน สาขาจังหวัดตรัง และ สาขาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราว ตอนนี้เพิ่มที่โรงงานหาดใหญ่ ก็ประกาศหยุดการผลิตเช่นเดียวกัน อาจจะเป็นแค่บางแผนก ไม่ได้ปิดทั้งโรงงาน เพราะมีคนติดโควิดประมาณ กว่า 10 คน ประกอบกับในพื้นที่มีการซื้อยางลดน้อยลงด้วย ราคาจึงไม่ได้ปรับขึ้น
“จากการที่มาเลเซียประกาศล็อกดาวน์ต่ออีก 14 วัน ประกอบกับโรงงานทางมาเลเซียก็ยังไม่มีแผนที่จะรับมอบยาง ตอนนี้ทางผู้ประกอบการไทยก็รออยู่ อย่างที่ทราบของเราเก็บนานไม่ได้ จึงมีผลทำให้ผู้ค้าซื้อของน้อยลง อีกอย่างขอไม่ได้ส่งเงินไม่ได้หมุน จะทำให้ไม่มีสภาพคล่องทำให้ไม่สามารถซื้อเข้าไปเก็บได้ ดังนั้นต้องบริหารสต็อกให้ดี”
นายวรเทพ กล่าวว่า น้ำยางสด กับยางแผ่นรมควัน และขี้ยาง ราคาได้ปรับตัวลงมาประมาณ 3 บาทต่อกิโลกรัม จากสัปดาห์ที่แล้ว มาต่อสัปดาห์นี้ สถานการณ์ราคาก็น่าเป็นห่วง เนื่องจากประเทศมาเลเซีย เป็นห่วงโซ่ปลายทางกระทบมาก แต่ก็ต้องประเมินเหตุการณ์เป็นระยะๆ เนื่องจากประเทศมาเลเซีย โควิด สถานการณ์ยังหนักกว่าเมืองไทย ยังไม่คลี่คลาย วันที่ 28 มิถุนายน ก็ต้องรอดูอีกว่ารัฐบาลมาเลเซีย จะประกาศล็อกดาวน์ต่อหรือไม่ ถ้าไม่ดีก็ต่ออีก ยังไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรเลย
“ตอนนี้ปัญหาคือ ส่งมอบไม่ได้ หากรับซื้อน้ำยางสดเข้ามาโรงงานก็ล้น และเงินก็ไม่หมุน ตอนนี้วงล้อติดแล้วไม่สามารถหมุนได้ หากฝนหยุดตกแล้ว ยางกรีดได้ ราคาจะร่วงทันที ตอนนี้ฝน พายุ ช่วยไว้ ทำให้ผลผลิตออกมาน้อย เกิดแล้งขึ้นมาแล้วกรีดยางได้ ตลาดจะไม่ไหว ไม่ใช่ใครไปทุบราคา สถานการณ์เป็นอย่างนี้ เป็นธรรมชาติเรื่องธุรกิจ มาเลเซีย โรงงานปิดจะให้ทำอย่างไร แล้วไม่รับของจากไทย ยกเลิกหรือเลื่อนออร์เดอร์ไปไม่มีกำหนด จึงทำให้ไม่กล้าที่จะวางแผนรับซื้อธุรกิจต่อ หากผลผลิตออกมามากก็จะไม่มีคนซื้อ ราคาจะลงมาก ต้องระวัง ยืนยันว่าไม่มีใครทุบราคา” นายวรเทพ กล่าวย้ำ
สอดคล้องกับนายชัยพจน์ เรืองวรุณวัฒนา นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวว่า ตลาดไม่มีใครสามารถทุบราคากันได้ง่ายๆ เป็นเรื่องดีมานด์และซัพพลาย โอกาสราคาขึ้นก็มี โอกาสราคาปรับลงก็มี เพียงว่าในขณะนี้ผู้ผลิตมีปัญหาต้องชะลอจนกว่าจะกลับมา และราคาในวันนี้ทรงตัว ประกอบกับมาเลเซีย ประกาศล็อกดาวน์ต่อไม่เป็นผลดีต่อน้ำยางข้น เพราะในประเทศเอง บริษัท ศรีตรังฯ ก็ยังมีปัญหา รวมทั้งคู่ค้าจีน ก็ยังนิ่งอยู่ หากมาเลเซียยังไม่กลับมาเป็นห่วงหากผลผลิตยางออกมามาก ราคาอาจจะมีผลกระทบ โชคดีช่วงนี้พายุเข้ามาปริมาณน้ำยางไม่มาก จึงทำให้ราคายังทรงอยู่ 50 บาท/กก. แนวโน้มไม่น่าจะปรับตัวลงมากกว่านี้ บวกกับโรงงานยังมีศักยภาพพอที่จะซื้อเก็บได้อยู่
อนึ่ง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานสถานการณ์ ราคายาง ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ในภาพรวมปรับตัวลดลง โดยได้รับปัจจัยกดดันจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และโรงงานผลิตถุงมือในไทยยังไม่เข้าสู่การผลิตเต็มอัตราเนื่องจากผลกระทบของ “โควิด – 19” ในอุตสาหกรรมถุงมือยาง ประกอบกับประเทศมาเลเซียประกาศการล็อคดาวน์ เป็นเวลา 14 วันเนื่องจากย อ ด ผู้ ติ ด โ ค วิ ด- 19 จำนวนนทะลุ 8,000 คน ต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ราคายางได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ผู้ประกอบการยังคงมีความต้องการยางจำนวนมาก โดยการคาดการณ์ความต้องการยางพารามีมากขึ้น 7 % จากปีก่อน นักลงทุนยังคงต้องติดตามเศรษฐกิจโลกต่อไป
กยท. คาดการณ์ราคายางแผ่นดิบ ระหว่างวันที่14 - 18 มิถุนายน 2564 คาดว่าราคายางแผ่นดิบเคลื่อนไหวไม่ต่ำกว่า กิโลกรัมละ 61.52 บาท/กก. โดยภาพรวมมีปัจจัยที่ส่งผลต่อราคายาง ดังนี้ ปัจจัยสนับสนุนผู้ประกอบการยังคงมีอุปสงค์ตามสัญญาการส่งมอบ และกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศช่วงวันที่ 13 - 19 มิถุนายน 2564 มีฝนตกชุกร้อยละ 40 - 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
รวมถึงนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในการประชุมวันที่ 15-16 มิถุนายนนี้ โดยเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับร้อยละ 0.00-0.25 และซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือนต่อไป
ประกอบกับภาครัฐยังคงมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการชะลอการขายยาง เพื่อแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ ปัจจัยกดดันค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐโดยธนาคารกสิกรไทยประมาณกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 30.90 - 31.30 บาท และสต็อกยางจีน ณ ตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ปรับตัวสูงขึ้น โดยวันที่11 มิถุนายน 2564 อยู่ที่ 181,575 ตัน เพิ่มขึ้น 311 ตัน (วันที่ 4 มิถุนายน2564 อยู่ที่ 181,265 ตัน)
เศรษฐกิจที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้เศรษฐกิจของจีนการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม,การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนพฤษภาคมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ,การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม และ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพฤษภาคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง