โรงงานวัคซีนแอสตร้าไทยแลนด์ ความจริงที่สังคมไทยควรรู้

16 มิ.ย. 2564 | 01:40 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2564 | 05:39 น.

เพจชมรมแพทย์ชนบท เผยโรงงานวัคซีนแอสตร้าไทยแลนด์ ความจริงบางประการที่สังคมไทยควรรู้ ชี้ยังต้องลุ้นว่าเดือนก.ค.-ส.ค.จะมีวัคซีนไม่พอฉีดต่อไป รัฐบาลเลยต้องเร่งเจรจากับซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ หวังจะได้ผ่อนหนักเป็นเบา

เพจชมรมแพทย์ชนบท เผยแพร่บทความลับลวงพราง วัคซีนโควิด ตอน 13  : 16-06-64 เรื่อง โรงงานวัคซีนแอสตร้า ไทยแลนด์  ความจริงบางประการที่สังคมไทยควรรู้ โดยระบุว่า

แอสตร้าเซเนก้า เป็นบริษัทยาเอกชนของอังกฤษ ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนโควิดชนิดไวรัลเวคเตอร์ จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด โดยระดมทุนจากสาธารณะมาใช้ในการศึกษาและผลิตวัคซีนโควิด โดยตั้งใจว่าครั้งนี้จะผลิตวัคซีนเพื่อมนุษยชาติ ไม่ใช่เพื่อเอากำไร

โรงงานวัคซีนของแอสตร้ามี 25 แห่งทั่วโลก  ในละแวกใกล้ประเทศไทยก็มีที่เกาหลีใต้ในนามของเกาหลีใต้ไบโอไซน  ที่อินเดียในนามสถาบันเซรุ่มแห่งชาติอินเดียซึ่งมีกำลังการผลิตมากที่สุดในโลก 100 ล้านโดสต่อเดือน และไทยเองในนาม สยามไบโอไซน กำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี

โรงงานวัคซีนแอสตร้าไทยแลนด์  ความจริงที่สังคมไทยควรรู้

อย่างไรก็ตามสิทธิในการกระจายวัคซีนยังเป็นของบริษัทแม่คือแอสตร้าเซเนก้า แต่เนื่องจากโรงงานอยู่ในไทย เราก็พอจะเจรจาต่อรองขอกันแบบไทยๆได้ในระดับหนึ่ง

ขณะนี้สยามไบโอไซนมียอดการสั่งวัคซีนมาแล้ว 8 ประเทศ กำลังการผลิตที่ตั้งใจไว้คือ 15 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งยังผลิตได้ไม่ถึงเป้า

ตัวเลขที่ ศบค.แถลง คือ ตั้งแต่กรกฎาคม ส่งไทยเดือนละ 10 ล้านโดส ที่เหลือนั้นก็แปลว่าส่งออก แต่ในเดือนมิถุนายนนี้ ไต้หวัน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้โวยออกสื่อมาแล้วว่าไทยเบี้ยวการส่งวัคซีนให้เขา

หากกำลังการผลิตเต็มที่ที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน  การส่งออกเพียงเดือนละ 5 ล้านโดสก็น่าจะไม่พอ เพราะแต่ละประเทศก็สั่งกันเป็นหลักล้านโดสต่อเดือนทั้งสิ้น ความจริงเป็นอย่างไรคงมีไม่กี่คนที่รู้ เพราะยากที่ใครได้เห็นสัญญาการจัดซื้อวัคซีน

มีคำถามว่า  แล้วรัฐบาลจะสั่งห้ามส่งออกวัคซีนแอสตร้าไม่ได้หรือ เพราะเราแทงม้าตัวเดียวจึงจำเป็นมาก  อินเดียก็ทำเช่นนี้  ในสหภาพยุโรปก็สั่งไม่ให้ส่งออกนอกสหภาพยุโรป

คำตอบก็ง่ายและชัดว่า  “อำนาจตาม พรก.ฉุกเฉินนั้นทำได้  แต่เราคงทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะโรงงานสยามไบโอไซนนั้น ไม่สามารถผลิตหัวเชื้อไวรัสและเซลล์เพาะเลี้ยงได้เอง ต่างจากอินเดียหรืออียูที่เขาผลิตหัวเชื้อเองได้ หากเราไม่ให้ส่งออก บริษัทแม่ก็อาจไม่ส่งหัวเชื้อมาให้ เราก็ผลิตต่อไม่ได้

สยามไบโอไซน เป็นโรงงานใหม่ ไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อน ในขณะที่โรงงานแอสตร้าที่อินเดียและเกาหลีใต้เป็นโรงงานวัคซีนเดิมมาก่อน  ทำให้เขาสามารถผลิตวัคซีนได้ก่อนและได้ตามเป้า 

ส่วนของบ้านเรา การผลิตวัคซีนช่วงแรกๆก็ย่อมมีอุปสรรค ต้องใช้เวลา ต้องปรับแก้ให้เข้ามาตรฐาน ยังไม่คล่อง จึงผลิตได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ผู้ใหญ่เขาบอกว่า โรงงานใหม่เอี่ยมผลิตออกมาได้เท่านี้ จริงๆก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

เมื่อสถานการณ์ของแอสตร้าไทยแลนด์เป็นเช่นนี้  เดือนกรกฎา สิงหา ก็น่าจะยังต้องลุ้นกับภาวะการมีวัคซีนไม่พอฉีดต่อไป รัฐบาลก็รู้  แต่พูดมากคงไม่ได้ เลยต้องเร่งเจรจากับซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และ ไฟเซอร์ หวังจะได้ผ่อนหนักเป็นเบา

ข่าวเกี่ยวข้อง: