ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประกาศ “120 วัน เปิดประเทศ” ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่า เป็นการประกาศนโยบายการแก้ปัญหาการระบาดไวรัสโควิด-19 และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ชัดเจน ที่แสดง “ภาวะผู้นำ” ของการกำหนดเป้าหมายการบริหารประเทศที่ท้าทายความเสี่ยงต่างๆ นับเป็นความกล้าหาญที่ควรได้รับคำชม
ประกาศวันที่ 16 มิถุนายน มี 2 เรื่องสำคัญ คือ
1.รัฐบาลจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชนด้วยการระดมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้ 50 ล้านคน ก่อนวันที่ 16 ตุลาคม 2564
2.เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ให้สามารถเดินทางเข้าประเทศและเคลื่อนที่ภายในประเทศได้
ประเด็นที่น่าชื่นชม คือ การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หรือ การทำมาหากินของคนไทยไปพร้อมกัน ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนตั้งแต่การได้รับวัคซีนมาเพียงพอตามแผนการฉีด กระบวนการฉีดที่ครอบคลุมทั่วถึง
จนถึงการสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย ว่าภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยแล้ว เป้าหมายของนโยบายตามที่ประกาศ "120 วันเปิดประเทศ" ก็น่าจะประสบความสำเร็จ ตนก็ภาวนาขอให้เป็นเช่นนั้น เพื่อให้คนไทยและประเทศไทยเดินหน้าได้เสียที หลังจากติดหล่มมาเกือบ 2 ปี เพราะโควิด-19
อย่างไรก็ตาม การภาวนาคงจะช่วยในด้านจิตใจ แต่ความสำเร็จของนโยบายขึ้นกับการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้ได้ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ที่ควรพิจารณา ที่ตนขอฝากให้รัฐบาลโดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรีพิจารณา คือ
1. การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ทำให้วัคซีนที่ฉีดไปแล้วไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ หรือ คุ้มกันได้ต่ำ จึงทำให้ภูมิคุ้มกันหมู่ที่คิดว่าจะเกิดไม่เกิดขึ้น การติดเชื้อไวรัสกลับมาขยายจำนวนอีก
2. ประชากรเด็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะมีความเสี่ยงต่อการเปิดให้มีการเคลื่อนที่ของคนจำนวนมากในประเทศ ตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นแล้ว คือโรงเรียนที่เปิดเรียน เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา กิจกรรมของนักเรียนที่ร่วมกันส่งผลให้เกิดการติดเชื้อไวรัสของเด็ก ดังนั้น วัคซีนเด็กจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเปิดประเทศที่รัฐบาลจะมองข้ามไม่ได้
3.การเปิดประเทศเพื่อให้เกิดผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จำเป็นจะต้องช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มฐานรากมีกำลังและภูมิคุ้มกันทางธุรกิจที่จะกลับมาทำมาค้าขายใหม่ได้ เช่น วงเงินกู้เพื่อรักษาสภาพคล่อง การปรับแบบแผนธุรกิจที่สอดคล้องกับสภาพตลาดและลูกค้าที่เปลี่ยนไป จนถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ของราชการ ไม่ว่าจะเป็น ภาษี อากรค่าธรรมเนียม ตลอดจนความโปร่งใสของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น
4. ความต่อเนื่องและเสถียรภาพของนโยบายเปิดประเทศ หัวใจของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ คือ ความเชื่อมั่นต่อนโยบายของผู้ประกอบการและประชาชนทั้งชาวต่างประเทศและคนไทย การกลับไปกลับมาของนโยบาย หรือ การเปลี่ยนนโยบายเป็นคำถามที่อยู่ในใจของผู้ประกอบการก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจเดินหน้าประกอบธุรกิจต่อไป
นั่นหมายความว่า ทุกคนต้องการความมั่นใจจากรัฐบาลว่า จะสามารถจัดการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดจากความเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เป้าหมายนโยบาย "120 วันเปิดประเทศ" ไม่สำเร็จ เพราะมันคือ การสูญเสียทางธุรกิจอีกครั้งหนึ่งของพวกเขา
"ทั้ง 4 ข้อนี้ คือ การช่วยรัฐบาลคิดเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไข ถ้าเกิดปัญหาขึ้น การเตรียมมาตรการเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงทั้ง 4 ประการนี้ คือการสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้กับประชาชนต่อนโยบายเปิดประเทศนี้ ที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของนโยบาย สิ่งที่พึงระวัง คือคำพูดผู้นำต้องศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในหมู่ประชาชนไม่กลับไปกลับมา
อย่างเช่น กรณีนายกฯ ประกาศนับถอยหลัง “120 วันเปิดประเทศ” ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน แต่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กลับออกมาระบุว่า เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เหตุการณ์แบบนี้ต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก รวมถึงนโยบายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเหมือนตอนจัดสรรวัคซีน จนเกิดโรคเลื่อนไปทั่วประเทศก็ต้องไม่มี แบบนี้จึงจะทำให้การเดินหน้า "นับถอยหลัง 120 วัน" มีความเข้มแข็ง ที่ทำให้คนไทยพร้อมที่จะเดินตามผู้นำได้" ศ.ดร.กนก แนะนำ