จากกรณีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด จำนวน 2 ฉบับ ถึง ปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ขอให้สนับสนุนวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดให้กับพนักงานและครอบครัวรวมกว่า 7 หมื่นคนของ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
โดยโทรสารในราชการ กระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ระบุว่า ด้วย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ได้ ขอความอนุเคราะห์สนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค ให้กับพนักงานจำนวน 43,201 คนและครอบครัวของพนักงานของ บริษัท ฯ จำนวน 28,244 คนใน76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร
ล่าสุด นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว ชี้แจง ยืนยันว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นไปตามที่ อธิบดีกรมควบควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ออกประกาศเรื่องแนวทางให้บริการวัคซีนโควิด-19 แบบปูพรมทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ระบาด ที่แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ลงวันที่ 18 พ.ค.2564 ขอให้จัดหาวัคซีนไปฉีดให้บุคลากรในสังกัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นคลัสเตอร์และติดเชื้อแพร่ระบาดทั่วประเทศ
"การดำเนินการเป็นไปตามแนวทางของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในเรื่องการจัดหาวัคซีนปูพรมทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงและระบาด"
ที่ผ่านมา มีทั้งส่วนราชการ, เอกชน, สมาคม รวมถึง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือผ่านสำนักเลขา ศบค., คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ขอให้จัดหาวัคซีนไปฉีดให้บุคลากร เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นคลัสเตอร์และติดเชื้อแพร่ระบาดทั่วประเทศ
"ทุกอย่างดำเนินการตามขั้นตอน เมื่อมีการร้องขอมา ก็ได้สำรวจ ไม่ได้แปลว่าเจาะจงทำเฉพาะบริษัทไทยเบฟฯ แต่ทุกองค์กร ก็สามารถร้องขอได้ตามแนวทางที่กำหนด” ปลัดกระทรวงมหาดไทย
ขอให้ประชาชนมั่นใจในการดำเนินการจัดสรรวัคซีนของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และ ศบค. ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ไม่มีเลือกปฏิบัติ เพราะการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการให้ครอบคลุมรวดเร็วมากที่สุด
สำหรับประกาศแนวทางของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 64 ระบุว่า
ข้อ 5.2 ระบุว่า องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยที่มีความประสงค์จะขอรับวัคซีนให้กับบุคลากรสามารถแจ้งความประสงค์ไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและปัจจุบัน ก็ยังมีองค์กรภาครัฐ และเอกชน ขอรับการสนับสนุนวัคซีน มาอย่างต่อเนื่อง
ข้อ 5.2.3 ระบุว่า กรณีองค์กรขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรอยู่ในหลายจังหวัด หรือองค์กรระหว่างประเทศ/หน่วยงานต่างชาติที่ติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ สามารถแจ้งหนังสือมายังอธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อขอรับวัคซีนไปฉีดให้บุคลากรในสังกัด โดยหาสถานพยาบาลรองรับการฉีดเอง
ข่าวเกี่ยวข้อง: