ผลกระทบโควิด-19 ทำความต้องการแรงงานเมียนมาพุ่งหวังลดต้นทุน แห่ทะลักชายแดนระนอง กอ.รมน.จังหวัดระนอง ประชุมหามาตรการแนวทางในการแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ชี้กลุ่มที่มีจุดหมายเคยทำงานแล้วรีบหนีโควิดกลับบ้าน ไม่มีเอกสารเข้าออก
พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)จังหวัดระนอง จัดประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดระนอง ที่มีแนวโน้มที่มากขึ้น โดยมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนแยก 1 กองบังคับการตำรวจภูธร จังหวัดระนอง หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง ด่านศุลกากรระนอง ศูนย์ประสานงานประมงทางทะเล ไทย-เมียนมา ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล(ศรชล)จังหวัดระนอง ป้องกันจังหวัดระนอง สาธารณสุขจังหวัดระนอง แรงงานจังหวัดระนอง นายอำเภอ 5 อำเภอ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดระนอง กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดระนองมีความรุนแรง เกิดจากคลัสเตอร์โรงงานในจังหวัดระนอง และสถานการณ์การลักลอบหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะบริเวณ อ.กระบุรี และ อ.ละอุ่น ที่มีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งจังหวัดระนองเป็นพื้นที่ชายแดนที่ต้องอาศัยแรงงานต่างชาติมาทำงาน และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก และพื้นที่เพื่อนบ้านอย่างประเทศเมียนมา ประกอบกับสถานการณ์การเมืองในเมียนมา มีส่วนผลักดันให้มีผู้ต้องการเดินทางมายังจังหวัดระนอง เนื่องจากมีช่องทางธรรมชาติที่สามารถลักลอบเข้ามาได้ จังหวัดระนองจึงต้องมีการประชุม หามาตรการแนวทางในการสกัดกั้นผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน ด้วยข้อกฎหมายที่มีบริบทแตกต่างกัน จึงต้องหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
สถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน จ.ระนอง ในมิติการลักลอบเข้าเมือง ผลการจับกุมประกอบด้วย แรงงานข้ามชาติ นายหน้า ผู้นำพา พบว่ามีทั้งคนไทย –เมียนมา มีการปลอมแปลงพาสสปอร์ต มีการเคลื่อนย้ายเป็นกลุ่มก้อน และในลักษณะกองทัพมด โดยจะมีพื้นที่พักคอยในรูปแบบใหม่ เช่น รีสอร์ท โรงแรม ผู้ที่ลักลอบเข้ามามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเดินทางไปยังอีกพื้นที่ เช่น จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ตหรือข้ามต่อไปยังประเทศมาเลเซีย
ทั้งนี้ การขยายผลทราบว่าจะเป็นกลุ่มผู้กระทำผิดรายเดิม และยังไม่เชื่อมโยงไปถึงการค้ามนุษย์ ซึ่งจะมีอัตราโทษที่หนัก กรณีที่สืบสวนได้เป็นแค่นำพา การจับกุมแรงงานต่าวด้าวที่ผ่านมา ผู้ถูกจับกุมได้ 50% จะมีเอกสารการเดินทาง คือเดินทางเข้า-ออกถูกต้อง กลุ่มที่เข้ามามีจุดหมายปลายทาง เคยทำงานที่ระนอง หรือมีครอบครัว กลุ่มนี้มีเอกสารการเดินทางแต่ไม่ได้นำกลับไป ซึ่งอาจจะอยู่ที่นายจ้าง เมื่อออกไปแล้วกลับเข้ามาจึงไม่มีเอกสารการเดินทาง
สำหรับผู้ที่เข้าลักลอบเมืองผิดกฎหมายต้องเข้ากักกันตัวที่ OQ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 415 จำนวน 14 วัน ตามมาตรการทางสาธารณสุข และตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง จึงจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป สำหรับข้อมูลแรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับจัดหางานประมาณ 6,000 กว่าคน มี 600 กว่ารายที่ไม่ได้พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ซึ่งมติ ครม.ขยายผลการตรวจถึง ก.ย.2564
มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานให้เป็นไปตามกรอบการทำงานของหน่วยงาน
ในประเด็นสำหรับช่องทางพื้นที่ตอนในที่เป็นจุดที่สามารถลักลอบหลบหนีเข้ามายังจังหวัดระนองได้ จะเสริมด้านความมั่นคง จุดตรวจ จุดสกัด ทางฝ่ายปกครองมีความพร้อมในการทำงานในพื้นที่ เพิ่มการลาดตระเวนของหน่วยงานทหาร ให้ทุกพื้นที่นำแผนงานของ อ.กระบุรี ที่ดำเนินการร่วมกับ ฉก.ร.25 มาปรับใช้ ในส่วนหน่วยงานตำรวจ ได้นำเสนอตั้งศูนย์ดำเนินการตรวจแนวชายแดน จุดตรวจ สภ.ปากจั่น กำหนดวันดีเดย์ปล่อยแถว และการจัดชุดตรวจควรบูรณาการร่วมกันทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าไปทำความเข้าใจกับคนในชุมชนในการป้องปราม ให้ทุก สภ.เอ็กซเรย์พื้นที่ตรวจค้น ประสานการปฎิบัติงานร่วมกัน
ในที่ประชุมรับทราบ สุดท้ายประธานในที่ประชุมจะได้นำข้อเสนอของที่ประชุมในวันนี้ นำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระนองทราบ แนวทางการดำเนินการต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง