ศบค.ใช้ Bubble and Seal ในพื้นที่กทม. สกัดโควิดระบาดแต่ละโซน

23 มิ.ย. 2564 | 07:15 น.

ศบค.หวั่นหากล็อกดาวน์ กทม. แรงงานเคลื่อนย้ายหนีไปต่างจังหวัด ไปเพิ่มปัญหาหรือเพิ่มการแพร่เชื้อให้จังหวัดอื่นได้ ใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิดในพื้นที่ กทม.แทนการล็อกดาวน์

 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า บุคลากรทางการแพทย์มีข้อเสนอให้ล็อกดาวน์พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เช้านี้ได้มีการหารือกันว่าการล็อกดาวน์ แม้เป็นเรื่องที่ได้ผลดี แต่ปัจจุบันได้ดำเนินการเป็นเฉพาะจุดอยู่แล้ว คือ เกิดเหตุตรงไหนก็จัดการตรงนั้น เช่น แคมป์ก่อสร้าง, โรงงาน

 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

นอกจากนั้น การจะล็อกดาวน์ทั้ง กทม.อาจจะเกิดปัญหาให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจาก กทม.ไปยังต่างจังหวัด ซึ่งอาจจะเป็นการไปเพิ่มปัญหาหรือเพิ่มการแพร่เชื้อให้จังหวัดอื่นๆ ได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องใช้วิธีผสมผสาน ซึ่งมีข้อสรุปว่าควรจะใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิดในพื้นที่ กทม.แทนการล็อกดาวน์

"การปิดกรุงเทพฯ นั้น คนกรุงเทพฯจริงๆ ไม่ได้มีมาก ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากต่างจังหวัด ถ้าปิดกรุงเทพฯ ก็จะมีแรงงานเคลื่อนย้ายไปต่างจังหวัด ซึ่งอาจจะไปเพิ่มการติดเชื้อในต่างจังหวัดให้มากขึ้นได้ ตรงนี้ การแก้ปัญหาต้องผสมผสาน จึงมีข้อสรุปว่าจะทำ bubble and seal" นพ.ทวีศิลป์กล่าว 

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ ศปก.ศบค.ได้เน้นย้ำถึงคำนิยามของ "Bubble and Seal" ว่าแนวทางปฏิบัติจะต้องถูกต้องตรงกันในทุกที่ ซึ่งที่ผ่านมา จะเห็นตัวอย่างจากจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งทำได้อย่างดี ดังนั้นจึงอยากให้ กทม.พิจารณาเป็นตัวอย่าง แต่ยอมรับว่า กทม.อาจมีการจัดการที่ยากและซับซ้อนกว่า เนื่องจากจำนวนแรงงานมีมากกว่า สถานประกอบการมีมากกว่า ซึ่งได้ขอให้รองปลัดกทม. ไปดำเนินการแบ่งเขตจัดการในแต่ลพื้นที่ให้เหมาะสม

"ผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. ได้กำชับว่าแหล่งรังโรคเกิดขึ้นที่ไหน ให้จัดการเฉพาะที่นั่น ดังนั้นข้อเสนอที่บุคลากรทางการแพทย์เสนอขึ้นมานี้ จึงนำมาสู่การคิดและปฏิบัติที่ผสมผสาน ภายใต้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ต้องไปด้วยกันได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในต่างจังหวัดด้วย" โฆษก ศบค.กล่าว

กทม.เร่งขยายเตียงไปซียู รับผู้ป่วยอาการหนักพุ่ง

สำหรับสถานการณ์เตียงที่กรมการแพทย์ออกมาแถลงว่า เตียงของผู้ป่วยสีเหลือง สีแดงเหลือน้อยเข้าสู่ภาวะวิกฤตนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า แนวโน้มผู้ป่วยอาการหนักของประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในต่างจังหวัดและในกทม.-ปริมณฑล ซึ่งส่วนใหญ่จะพบอยู่ในเขต กทม.และปริมณฑล

โดยในวันนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,526 ราย ในจำนวนนี้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 433 ราย กระจายรักษาใน 47 จังหวัด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกทม.อยู่ที่ 210 รายสมุทรปราการ 53 คน นนทบุรี 22 คน ชลบุรี 21 คน ปทุมธานี 20 คน ส่วนจังหวัดอื่นๆ มีผู้ป่วยอาการหนัก ไม่ถึง 20 คน

ศบค.ใช้ Bubble and Seal ในพื้นที่กทม. สกัดโควิดระบาดแต่ละโซน

ในที่ประชุมมีการพูดคุยกันว่า มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เข้าสู่ระบบการรักษาโซนสีเขียว ซึ่งบางรายอาการไม่มาก โดยทาง ผอ.ศปก.ศบค. มองว่า ถ้าผู้ป่วยส่วนนี้มีการย้ายออกไปอยู่ในส่วนของฮอสพิเทลสามารถทำได้ จึงมอบให้ทาง กทม. พยายามเปิดฮอสพิเทลและให้คนไข้กลุ่มเหล่านี้เข้าไปรักษาตัว เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ดูแลตัวเองได้ หลังจากนั้นเตียงจะว่าง นำมารองรับผู้ป่วยที่มีอาการได้

ส่วนที่สอง คือ ผู้ป่วยสีเหลือ และสีแดง ตอนนี้ศักยภาพของภาครัฐแน่นหมดแล้ว ขณะที่เอกชนไม่มีเตียงว่าง อย่างไรก็ตาม จึงต้องหาหนทางใหม่ อย่างการสร้างบางที่ที่มีโครงสร้างอยู่แล้ว โดยเฉพาะของ อย่างไรก็ตามกทม. ซึ่งมีโรงพยาบาลบางขุนเทียน โรงพยาบาลพลังแผ่นดิน โรงพยาบาลบุษราคัม ฯลฯ ที่มีสถานที่อยู่แล้ว สามารถที่จะปรับให้ยกระดับให้เป็นสีแดงได้หรือไม่ โดยการเพิ่มเครื่องมือเข้าไป ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้กทม.ไปพูดคุย เพื่อการขยายศักยภาพ

ขณะที่บุคลากรจากภาครัฐ ที่ไม่เพียงพอที่จะมาดูแล จะเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เชื่อว่า มีความสามารถในการเข้ามาช่วยดูแลในสถานที่ที่รัฐจัดหาไว้ ซึ่งกลไลการบริหาร อาจจะต่างไปจากปกติ

"เรากำลังเจอสถานการณ์วิกฤติอย่างนี้ ก็จะต้องใช้รูปแบบใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งอาจจะต้องดึงศักยภาพของหน่วยงานเอกชนเข้ามาช่วย ซึ่งก็รวมถึงการสร้าง ICU หรือ สถานที่ดูแลผู้ป่วยหนัก ที่อยู่ภาคสนาม ซึ่งก็มีตัวอย่างที่โรงพยาบาลราชวิถี ที่เพิ่มเตียง ICU ขึ้นมาได้ คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในการเตรียมการเร็วๆ นี้" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง